[Font : 15 ]
| |
นิพพานอธิวจนะ |  

[ คำว่า "นิพพาน" ในข้อความในสูตรอื่น ๆ เป็นอันมาก ได้ทรงแสดงไว้ด้วย อธิวจนะคือคำแทนชื่อต่าง ๆ กัน และมีเรื่องที่จะพึงศึกษาและปฏิบัติอย่างเดียวกัน คือทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า :-

อสังขตะ (ธรรมที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง หรือปัจจัยปรุงแต่งไม่ได้) อนตะ (ธรรมที่ไม่น้อมไปในสิ่งใด หรือสิ่งใดน้อมไปไม่ได้) อนาสวะ (ไม่มีอาสวะอันเป็นสิ่งเศร้าหมองโดยประการทั้งปวง) สัจจะ (ของจริงเพียงสิ่งเดียว ไม่มีสิ่งที่สองเทียบ) ปาระ (ฝั่งนอกที่กิเลสและทุกข์ตามไปไม่ถึง) นิปุณะ (สิ่งละเอียดอ่อนสำหรับการศึกษาและปฏิบัติ ไม่มีสิ่งใดยิ่งกว่า) สุทุททสะ (อันผู้ไม่สิ้นอาสวะเห็นได้ยากที่สุด) อชัชชระ (ไม่มีความคร่ำคร่าลงโดยประการทั้งปวง) ธุวะ (ยั่งยืนมั่นคงไม่แปรผัน) อปโลกินะ (เป็นที่จ้องมองแห่งสัตว์เพื่อการบรรลุถึง) อนิทัสสนะ (ไม่มีการแสดงออกทางวัตถุ หรือทางตา : ผู้อื่นพลอยเห็นด้วยไม่ได้) นิปปปัญจะ (ไม่มีเครื่องกีดกั้นให้เนินช้าเพราะว่างจากกิเลส) สันตะ (สงบระงับจากการปรุงแต่งเสียดแทงเผาลน) อมตะ (ไม่ตายเพราะไม่มีการเกิด เพราะไม่อยู่ในอำนาจเหตุปัจจัย) ปณีตะ (ประณีตละเอียด เพราะพ้นไปจากความเป็นรูปธรรมและนามธรรม) สิวะ (สงบเย็นเพราะไม่มีไฟกิเลสและไฟทุกข์) เขมะ (เกษมจากสิ่งรบกวนทุกชนิด) ตัณหักขยะ (เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา หรือภาวะสิ้นสุดแห่งตัณหา) อัจฉริยะ (น่าอัศจรรย์ ไม่มีสิ่งใดน่าอัศจรรย์เท่า) อัพภุตะ (ประหลาดควรนำมาบอกกล่าวในฐานะสิ่งที่ไม่เคยบอกกล่าว) อนีติกะ (ไม่มีเสนียดจัญไร เพราะพันดีพันชั่ว) อนีติกธัมมะ (มีปรกติภาวะไม่มีเสนียดจัญไรเป็นธรรมดา) อัพยาปัชฌะ (ไม่มีความเบียดเบียนเป็นสภาวะ) วิราคะ (ไม่มีความย้อมติดในสิ่งใด มีแต่จะทำให้คลายออก) สุทธิ (บริสุทธิ์หมดจด เพราะไม่มีที่ตั้งแห่งความเศร้าหมอง) มุตติ (เป็นความปล่อยความหลุดจากความยึดมั่นถือมั่นด้วยอุปาทาน) อนาลยะ (ไม่เป็นที่ตั้งที่อาศัยแห่งกิเลสและความทุกข์) ทีปะ (เป็นดวงประทีปที่พึ่งของสัตว์ผู้ตกจมอยู่ในความมืดคืออวิชชา) เลณะ (เป็นเสมือนที่หลบซ่อนจากภัยของสัตว์ผู้หนีภัย) ตาณะ (เป็นเสมือนที่ต้านทานของสัตว์ผู้แสวงหาที่ต้านทานข้าศึกศัตรู) สรณะ (เป็นที่แล่นไปสู่แห่งจิตที่รู้สึกว่ามีภัยต้องการที่พึ่ง) ปรายนะ (เป็นเป้าหมายในเบื้องหน้าแห่งสัตว์ผู้เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏะ).

คำแทนชื่อกันและกันชนิดนี้ ในบาลีท่านเรียกว่า อธิวจนะ ในที่นี้เป็นอธิวจนะของคำว่านิพพาน ].

- สฬา. สํ. 18/441-442, 450-453/674-684, 720-751.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง