[Font : 15 ]
| |
ศาสนา

1. พยัญชนะ : ศาสนาโดยพยัญชนะ : คือ คำสั่งสอน.

2. อรรถะ : ศาสนาโดยอรรถะ :

2.1 คำสั่งสอนที่ได้รับการยอมรับ จนเกิดเป็นสถาบันขึ้นในจิตใจของมนุษย์ ; ส่วนใหญ่เป็นระบบหนึ่งๆ เรียกว่า ศานานั้นๆ.

2.2 ศาสนาคือระบบคำสั่งสอนและการปฏิบัติ ที่ได้รับการถือเอาเป็นเครื่องอุ่นใจของสังคมมนุษย์ระบบหนึ่งๆ .

2.3 วิธีการเพื่อการรอดจากความตายทางวิญญาณหรือความทุกข์ ซึ่งมนุษย์หรือสิ่งมีชีวิตจักต้องมี โดยการมอบหมายให้แก่กัน ; หรือมีอยู่ตามธรรมชาติโดยไม่รู้สึกตัว.

3. ไวพจน์ : ศาสนาโดยไวพจน์ : คือ พรหมจรรย์, ทุกขันตกิริยา, ธรรมวินัย, อริยวินัย, สัทธรรม, มัคคปฏิปทา ; หนทางรอด, หนทางพระนิพพาน, ทางผูกพันมนุษย์กับสิ่งสูงสุด.

4. องค์ประกอบ : ศาสนาโดยองค์ประกอบ : คือ ปริยัติ, ปฏิบัติ, ปฏิเวธ.

5. ลักษณะ : ศาสนาโดยลักษณะ :

5.1 อยู่ในลักษณะของปริยัติ คือการเล่าเรียน.

5.2 อยู่ในลักษณะของปฏิเวธ คือผลที่ได้รับจากการปฏิบัติ.

6. อาการ : ศาสนาโดยอาการ : มีอาการแห่งสังขตธรรมที่เกิดดับและเปลี่ยนแปลงได้ ดังเช่นสังขตธรรมทั้งหลาย.

7. ประเภท : ศาสนาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. ขณิกวาท : สิ่งทั้งปวงมีชั่วขณะจิต.

2. อขณิกวาท : สิ่งทั้งปวงเป็นตัวตนถาวร จิตนี้เป็นตัวตนเดียว.

กลุ่มที่ 2 :

1. ระบบพึ่งผู้อื่น.

2. ระบบพึ่งตนเอง.

กลุ่มที่ 3 :

1. วิภัชชวาท : สิ่งต่างๆ ประกอบขึ้นด้วยส่วนย่อยๆ.

2. อวิภัชชวาท : สิ่งต่างๆ เป็นตัวตนเดียวไม่อาจจะแบ่งแยก.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

กลุ่มที่ 1 :

1. สัทธาธิกะ : เอาความเชื่อเป็นทางรอด.

2. วิริยาธิกะ : เอาความเพียรเป็นทางรอด.

3. ปัญญาธิกะ : เอาปัญญาเป็นทางรอด.

กลุ่มที่ 2 :

1. หลงใหลในวัตถุนิยม : เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค; จมลงในกามเรียกว่า อาคาฬหปฏิปทา (ปฏิบัติเปียกแฉะ).

2. หลงใหลในจิตนิยม : เรียกว่า อัตตกิลมถานุโยค; หรือนิชฌามปฏิปทา (ปฏิบัติไหม้เกรียม).

3. ดำรงอยู่ในความถูกต้องระหว่างวัตถุและจิต : เรียกว่า มัชฌิมาปฏิปทา (ปฏิบัติระหว่างความเปียกแฉะและความไหม้เกรียม คือความพอดี).

กลุ่มที่ 3 :

1. ปริยัติศาสนา : อยู่ในรูปของการศึกษาเล่าเรียน.

2. ปฏิบัติศาสนา : อยู่ในรูปของการปฏิบัติ.

3. ปฏิเวธศาสนา : อยู่ในรูปของการเสวยผลของการปฏิบัติ.

7.3 แบ่งโดยประเภท 4 : เมื่อเอาภาวะปัจจุบันเป็นหลัก :

1. เอาวัตถุเป็นที่ตั้ง เรียกว่า ศาสนวัตถุ : คือ เอาตัววัตถุเป็นศาสนา.

2. เอาการประกอบพิธีเป็นที่ตั้ง เรียกว่า ศาสนพิธี : คือ เอาตัวพิธีเป็นศาสนา.

3. เอาตัวบุคคลเป็นที่ตั้ง เรียกว่า ศาสนบุคคล : คือเอานักบวชเป็นศาสนา.

4. เอาธรรมะแท้เป็นที่ตั้ง เรียกว่า ศาสนธรรม : คือเอาตัวธรรมะเป็นศาสนา.

8. กฎเกณฑ์ : ศาสนาโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 มุ่งหมายสันติภาพของสังคม.

8.2 มุ่งหมายความรอดของมนุษย์.

8.3 มุ่งหมายคุ้มครองโลก.

8.4 ต้องมีระเบียบปฏิบัติให้ครบทุกระบบและชนิดของชนชั้นที่มีอยู่ในโลก.

9. สัจจะ : ศาสนาโดยสัจจะ :

9.1 ศาสนามีสัจจะเฉพาะศาสนาของตนๆ ไม่อาจจะเหมือนกัน.

9.2 แม้จะมีความมุ่งหมายดับทุกข์ด้วยกัน แต่ก็มีระบบปฏิบัติที่ไม่เหมือนกัน ; เนื่องจากผู้รับถือศาสนามีภูมิหลังแห่งชีวิต หรือวัฒนธรรมพื้นฐานที่ต่างกัน.

9.3 ความขัดแย้งระหว่างศาสนา เป็นสิ่งที่ต้องมีอย่างที่จะหลีกเลี่ยงไม่ได้ ; แต่มีทางประนีประนอมกันได้.

9.4 โลกจำเป็นต้องมีหลายศาสนา และจำเป็นที่จะต้องหาทางประนีประนอมกัน.

9.5 การนับถือศาสนาควรเป็นไปอย่างอิสระเสรีตามความสมัครใจ; แต่ก็ยังมีการถือโดยถูกบังคับ หรือสินจ้างอันยั่วยวนและหลอกลวง.

9.6 คนในโลกถือศาสนาเงินมากกว่าศาสนาธรรม อย่างที่จะเทียบกันไม่ได้.

10. หน้าที่ : ศาสนาโดยหน้าที่ (โดยสมมติ) :

10.1 กำจัดกิเลสและดับทุกข์ของมนุษย์.

10.2 ให้แสงสว่างทางวิญญาณ เพื่อความเหมาะสมแก่ความเป็นมนุษย์.

10.3 ให้เกิดสันติสุขส่วนบุคคลและเกิดสันติภาพส่วนสังคม.

11. อุปมา : ศาสนาโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ศาลาพักริมทางของคนเดินทางไกล.

11.2 ยารักษาโรค.

11.3 ตะเกียงส่องทาง.

11.4 เพื่อนทุกข์เพื่อนยากของชีวิตที่กำลังพัฒนา.

11.5 เกาะที่พึ่งของคนตกทะเล.

11.6 เรือแพเพื่อการข้ามฟาก.

11.7 ร่มคันใหญ่ของโลก.

11.8 สวนดอกไม้มหาศาล.

11.9 ประภาคารแห่งชีวิต.

12. สมุทัย : ศาสนาโดยสมุทัย :

12.1 สัญชาตญาณแห่งความกลัวและหนีภัย เป็นสมุทัยของศาสนาในส่วนลึก.

12.2 วิกฤตการณ์ในโลกมนุษย์ เป็นสมุทัยให้เกิดสิ่งที่เรียกว่าศาสนาสูงขึ้นมาๆ ตามลำดับ.

13. อัตถังคมะ: ศาสนาโดยอัตถังคมะ :

13.1 การผันแปรไปตามกฎเกณ์แห่งความไม่เที่ยงแห่งสังขาร ดังที่ศาสนาต่างๆ ในอดีต ได้ดับสูญไปแล้ว.

13.2 บริษัททั้งสี่แห่งศาสนานั้นๆ ละเลยหรือทรยศต่อหน้าที่ของตน.

13.3 ผู้สอนแห่งศาสนานั้นๆ สอนผิด จนกลายเป็นลัทธิอื่นไปโดยไม่รู้ตัว.

13.4 อัตถังคมะของศาสนา :

1. ศาสนาที่อยู่ในรูปของวัตถุ มี เมื่อวัตถุนั้นชำรุดทรุดโทรมไป.

2. ศาสนาที่อยู่ในรูปของพิธี มี เมื่อพิธีนั้นเปลี่ยนรูปไปเป็นอย่างอื่น ; ตัวอย่างเช่น พุทธศาสนากลายเป็นไสยศาสตร์ไป.

3. ศาสนาที่อยู่ในรูปของบุคคล มี เมื่อนักบวชในศาสนานั้นประพฤตินอกรีต.

4. ศาสนาที่อยู่ในรูปของธรรมะ มี เมื่อการศึกษาและการปฏิบัติเลอะเลือน.

14. อัสสาทะ : ศาสนาโดยอัสสาทะ : เสน่ห์ของศาสนา :

14.1 ทำให้เกิดความรู้สึกอุ่นใจ เย็นใจ แม้จะยังดับทุกข์ไม่ได้จริง.

14.2 ดับทุกข์ได้จริง.

14.3 มีอัสสาทะเหมือนยาเสพติด : เมื่อมีการเชื่อ, การรับถือ, การปฏิบัติอย่างงมงาย จนถึงกับบ้าหรือเมาหรือหลงในลัทธินั้นๆ.

15. อาทีนวะ : ศาสนาโดยอาทีนวะ : อาทีนวะโดยตรงไม่มี. จะมีก็ต่อเมื่อถูกนำไปใช้อย่างผิดๆ ; หรือถูกใช้เป็นเครื่องมือแห่งการหลอกลวง ; เช่น การแสวงหาเมืองขึ้น การดูดซับสมาชิกแห่งศาสนาอื่น มาเป็นสมาชิกแห่งศาสนาของตน.

16. นิสสรณะ : ศาสนาโดยนิสสรณะ : ทางออกจากศาสนาไม่จำเป็นต้องมี ; มีแต่ศาสนาเป็นหนทางนำออกจากทุกข์ : คือ อริยอัฏฐังคิกมรรค.

17. ทางปฏิบัติ : ศาสนาโดยทางปฏิบัติ :

17.1 ศาสนาเป็นตัวทางปฏิบัติเพื่อออกจากทุกข์.

17.2 การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงศาสนา : คือ การปฏิบัติที่ถูกต้องตามหลักศาสนานั่นเอง ; เช่น ปฏิบัติถูกต้องตามกฎของธรรมชาติ ; การปฏิบัติเพื่อทำลายความเห็นแก่ตัว ; ซึ่งเป็นความมุ่งหมายตรงกันทุกศาสนา.

18. อานิสงส์ : ศาสนาโดยอานิสงส์ :

18.1 ทำให้ได้รับสิ่งที่ดีที่สุดที่มนุษย์ควรจะได้รับ ทั้งทางกายและทางจิต.

18.2 โลกทั้งหมดจะได้รับสันติสุขส่วนบุคคลและสันติภาพส่วนสังคม.

18.3 ช่วยให้มนุษยชาติถึงจุดสูงสุดของความเป็นมนุษย์.

18.4 ช่วยให้เกิดความรักสากล.

19. หนทางถลำ : ศาสนาโดยหนทางถลำ :

19.1 ความเบื่อโลกและวัตถุที่มีอยู่อย่างซ้ำซากและหลอกลวง.

19.2 การบังเอิญได้พบพระอริยเจ้าหรือสัตบุรุษ.

19.3 การมีกัลยาณมิตรแวดล้อม.

19.4 การพัฒนาตนจนถึงที่สุดแห่งประโยชน์ทางโลก.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: ศาสนาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สิ่งที่มนุษย์จะต้องมีในการเกี่ยวข้อง, การปฏิบัติ และการดำรงรักษาศาสนา : คือ การศึกษา, การปฏิบัติ, การมี, การใช้ให้เป็นประโยชน์ และการเผยแผ่.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ศาสนาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม : มีความหมายเป็นหลายลักษณะ :

21.1 ภาษาคน : หมายถึงคำสั่งสอน.

ภาษาธรรม : หมายถึงตัวการปฏิบัติหรือพรหมจรรย์.

21.2 ภาษาคน : หมายถึงวัตถุ พิธี นักบวชซึ่งเป็นสัญลักษณ์ภายนอก.

ภาษาธรรม : หมายถึงตัวธรรมะที่ดับทุกข์ได้จริง.

21.3 ภาษาคน : (ของลูกเด็กๆ) หมายถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์.

ภาษาธรรม : (ของผู้มีการศึกษา) หมายถึงวิทยาศาสตร์แห่งการดับทกุข์.

21.4 ภาษาคน : หมายถึงสิ่งที่ประทานลงมาจากพระเจ้าในเบื้องบน.

ภาษาธรรม : หมายถึงกฎความจริงของธรรมชาติซึ่งมีอยู่ในตัวมันเอง.

21.5 ภาษาคน : มีการลงโทษหรือให้รางวัลจากเบื้องบน.

ภาษาธรรม : มีการลงโทษหรือให้รางวัลอยู่ในตัวมันเอง.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ใจความแห่งคริสตธรรมฯ

2. เตกิจฉกธรรม

3. สันทัสเสตัพพธรรม

4. อะไรคืออะไร ?


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง