[Font : 15 ]
| |
พิธีลงบาป ด้วยสัมมัตตปฏิปทา |  

พราหมณ์ ! อะไรกันหนอ ท่านจึงสระเกล้าในวันอุโบสถ นุ่มห่มผ้าโขมพัสตร์คู่ใหม่ กำหญ้ากุสะสด มายืนอยู่ ณ ที่นี้ ? วันนี้เป็นวันอะไรของพวกสกุลพราหมณ์ ?

“พระโคดมผู้เจริญ ! วันนี้เป็นวันปัจโจโรหณี (ปลงบาป) ของพวกสกุลพราหมณ์”.

พราหมณ์ ! พิธีปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างไรกันเล่า ?

“พระโคดมผู้เจริญ ! ในกรณีนี้ พราหมณ์ทั้งหลายสระเกล้าในวันอุโบสถ นุ่มห่มผ้าโขมพัสตร์คู่ใหม่ ฉาบแผ่นดินด้วยโคมัยสด ปูลาดด้วยหญ้ากุสะสด แล้วสำเร็จการนอนระหว่างกองกูณฑ์และเรือนไฟ ลุกขึ้นประคองอัญชลีต่อไฟนั้นสามครั้ง ในราตรีนั้น กล่าวอยู่ว่า “ข้าพเจ้าปลงบาปกะท่านผู้เจริญ, ข้าพเจ้าปลงบาปกะท่านผู้เจริญ” ดังนี้ หล่อเลี้ยงไฟไว้ด้วยเนยใส น้ำมัน เนยข้น อันเพียงพอ ; ล่วงราตรีนั้นแล้ว เลี้ยงดูพราหมณ์ทั้งหลายให้อิ่มหนำ ด้วยขาทนียโภชนียะอันประณีต. พระโคดมผู้เจริญ ! พิธีปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างนี้แล”.

พราหมณ์ ! พิธีปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ เป็นอย่างหนึ่ง. ส่วน พิธีปัจโจโรหณีในอริยวินัย เป็นอย่างอื่น ; กล่าวคือ พราหมณ์ ! อริยสาวกในกรณีนี้ พิจารณาเห็นโดยประจักษ์ว่า “วิบากแห่งมิจฉาทิฏฐินี้แล เป็นธรรมลามกทั้งในทิฏฐธรรม (ขณะนี้) และอภิสัมปรายะ (ขณะอื่น)”. ครั้นพิจารณาเห็นดังนี้แล้ว ก็ ละเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ ปลงลงเสียซึ่งมิจฉาทิฏฐิ. (ในกรณีแห่งมิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา มิจฉากัมมันตะ มิจฉาอาชีวะ มิจฉาวายามะ มิจฉาสติ มิจฉาสมาธิ มิจฉาญาณะ มิจฉาวิมุตติ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งมิจฉาทิฏฐิ). พราหมณ์ ! พิธีปัจโจโรหณีในอริยวินัย เป็นอย่างนี้ แล.

“พระโคดมผู้เจริญ ! ปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์เป็นอย่างหนึ่ง ในอริยวินัยเป็นอย่างอื่น. ปัจโจโรหณีของพวกพราหมณ์ มีค่าไม่เข้าถึงส่วนเสี้ยวที่สิบหกของปัจโจโรหณีในอริยวินัยนี้.

- ทสก. อํ. 24/251 - 253/119.

[ในสูตรนี้ตรัสเรียกพิธีกรรมนี้ว่าเป็น “ปัจโจโรหณีในอริยวินัย” ; ส่วนในสูตรอื่น ๆ (24/253, 269/120, 157) ตรัสเรียกว่า “ปัจโจโรหณีอันเป็นอริยะ” ก็มี.

ในสูตรอื่นทรงยกเอากุศลกรรมบถ 10 มาเป็นธรรมเครื่องปลงบาปแทนสัมมัตตะ 10 ก็มี (24/267 - 269/156) ].


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง