[Font : 15 ]
| |
เหตุที่ทำให้มีผู้มาเป็นสาวกของพระองค์ |  

อุทายิ! มีเหตุ 5 อย่าง ที่ทำให้สาวกสักการะเคารพนับถือบูชาแล้วมาอยู่อาศัยเรา. 5 อย่างอะไรบ้าง?

อุทายิ! สาวกของเราพอใจเรา ในเพราะอธีศีล ว่า พระสมณโคดมประกอบด้วยศีลขันธ์อย่างยิ่ง, ฯลฯ นี่เป็นข้อที่ 1.

อุทายิ! สาวกของเราพอใจเรา ในเพราะปัญญาเครื่องรู้ เครื่องเห็นอันก้าวไปได้แล้วอย่างยิ่ง ว่า พระสมณโคดม เมื่อพระองค์รู้อยู่จริงๆ จึงจะกล่าวว่า"เรารู้", เมื่อพระองค์เห็นอยู่จริงๆ จึงจะกล่าวว่า "เราเห็น", พระสมณโคดมแสดงธรรมเพื่อความรู้ยิ่ง ไม่ใช่เพื่อความไม่รู้ยิ่ง, พระสมณโคดมแสดงธรรมมีเหตุผล ไม่ใช่ไม่มีเหตุผล, พระสมณโคดม แสดงธรรมประกอบด้วยปาฏิหาริย์ (คือความน่าอัศจรรย์จนฟังเพลิน) ไม่ใช่ไม่ประกอบด้วยปาฏิหาริย์, ฯลฯ นี่เป็นข้อที่ 2.

อุทายิ! สาวกของเราพอใจเรา ในเพราะอธิปัญญา ว่า พระสมณโคดมประกอบด้วยปัญญาขันธ์อย่างยิ่ง. และข้อที่จะมีว่า พระองค์จักไม่เห็นแนวสำหรับคำตรัสต่อไปข้างหน้า, หรือพระองค์จักไม่อาจข่มให้ราบคาบโดยถูกต้อง ซึ่งวาจาอันเป็นข้าศึก นั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีขึ้นได้เลย, ฯลฯ นี่เป็นข้อที่ 3.

อุทายิ ! สาวกของเรา ถูกความทุกข์ใด หยั่งเอา หรือครอบงำเอาแล้วย่อมเข้าไปถามเราถึงความจริงอันประเสริฐ คือ ทุกข์, ถึงความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์, ถึงความจริงอันประเสริฐ คือ ความดับทุกข์เสียได้ และความจริงอันประเสริฐ คือ หนทางให้ถึงความดับทุกข์ นั้น. เราถูกถามแล้ว ก็พยากรณ์ให้แก่พวกเธอ ทำจิตของพวกเธอให้ชุ่มชื่น ด้วยการพยากรณ์ปัญหาให้, ฯลฯ นี่เป็นข้อที่ 4.

อุทายิ! ข้อปฏิบัติเป็นสิ่งที่เราบอกแล้วแก่สาวก ท. สาวก ท. ของเราปฏิบัติตามแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้เจริญได้, คือภิกษุในศาสนานี้เป็นผู้มีปรกติตามเห็นกายในกาย, มีปรกติตามเห็นเวทนาในเวทนา ท., มีปรกติตามเห็นจิตในจิต, มีปรกติตามเห็นธรรมในธรรม ท. มีเพียรเผาบาปมีความรู้ตัวทั่วพร้อม มีสติ นำออกเสียซึ่งอภิชฌาและโทมนัสในโลก (คือความยินดียินร้าย อันเป็นของประจำโลก), เพราะการปฏิบัติเช่นนั้น สาวกของเราเป้นอันมากได้บรรลุแล้วซึ่ง อภิญญาโวสานบารมี (คืออรหัตตผล) แล้วแลอยู่. (ตอนนี้ตรัสยืดยาวจนตลอดโพธิปักขิยธรรม สมาบัติ และวิชชาแปดด้วย แต่จะไม่ยกมาใส่ไว้เพราะเกินต้องการไป), ฯลฯ นี่เป็นข้อที่ 5.

อุทายิ! เหตุ 5 อย่างนี้แล ที่ทำให้สาวกของเรา สักการะ เคารพนับถือ บูชาแล้วอาศัยเราอยู่.

(หาใช่เพราะพระองค์เป็นผู้ฉันอาหารน้อย มีธุดงค์ต่างๆ เป็นต้น ดังกล่าวแล้วในหัวข้อว่า "ส่วนที่สาวกเข้มงวดกว่าพระองค์" ข้างต้น นั้นไม่).

- บาลี มหาสกุลุทายิสูตร ม.ม. 13/321/329. ตรัสแก่ปริพพาชก ชื่อสกุลุทายิ.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง