[Font : 15 ]
| |
สุข

1. พยัญชนะ : สุขโดยพยัญชนะ : คือ ทนง่าย (ทนสบาย), ดูแล้วไม่น่าเกลียด, ว่างอย่างไม่น่าเกลียด.

2. อรรถะ : สุขโดยอรรถะ :

2.1 ความรู้สึกที่สามัญสัตว์พอใจ ; แต่ก็มีอาการที่ต้องทนอยู่โดยไม่รู้สึกตัว ; และสมัครจะทนด้วยความพอใจ เช่น ทนแบกเพชรพลอย.

2.2 ดูแล้วไม่น่าเกลียดสำหรับปุถุชน แต่พระอรหันต์ท่านสั่นเศียร.

2.3 ว่างอย่างไม่น่าเกลียด แต่ยังคงว่างจากสาระและความหมายแห่งความเป็นตัวตนอยู่นั่นเอง.

3. ไวพจน์ : สุขโดยไวพจน์ : คือ อนีฆะ, อนุปัทวะ, เขมะ ฯลฯ เกษม, สำราญ, ผาสุก ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : สุขโดยองค์ประกอบ :

4.1 องค์ประกอบของสามัญสุข :

1. วิชชาและสังขารธรรมที่เกิดจากวิชชา.

2. ในฐานะที่เป็นที่ตั้งอาศัย : ได้แก่ ธาตุ, อายตนะ, ขันธ์ เป็นต้น.

3. ปัจจัยแห่งการยึดมั่นฝ่ายดีหรือฝ่ายกุศล.

4. ถ้าเป็นพาลสุข (สุขของอันธพาลหรือมิจฉาทิฏฐิ) ; มีอวิชชา หรือสังขารที่เกิดจากอวิชชาในขั้นเต็มขนาด เป็นองค์ประกอบ.

4.2 องค์ประกอบของโลกุตตรสุข : คือ วิชชา, สัมมาทิฏฐิ และการกระทำที่เกิดจากวิชชาและ สัมมาทิฏฐิที่เต็มขนาด.

5. ลักษณะ : สุขโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 หลอกให้หลงยึดมั่นถือมั่น.

5.2 ทนง่ายหรือชวนให้ทน ยิ่งทนยิ่งชอบ.

5.3 ดูแล้วไม่น่าเกลียด ชวนให้รักให้หลง.

5.4 ว่างอย่างไม่น่าเกลียดสำหรับสามัญชน แต่ไม่มีความหมายสำหรรับพระอรหันต์.

5.5 กัดเจ้าของอย่างลึกซึ้งซ่อนเร้น.

6. อาการ : สุขโดยอาการ :

6.1 มีอาการตรงกันข้ามจากความทุกข์.

6.2 โลกุตตรสุขมีอาการที่ไม่เป็นไปตามอำนาจของกิเลส : คือ ไม่รัก, ไม่โกรธ, ไม่เกลียด, ไม่กลัว, ไม่ตื่นเต้น, ไม่วิตกกังวล, ไม่อาลัยอาวรณ์, ไม่อิจฉาริษยา, ไม่หวง, ไม่หึง ฯลฯ ; แม้จะยังมีเชื้อเหลืออยู่หรือหมดเชื้อโดยสิ้นเชิง.

7. ประเภท : สุขโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. สามิสสุข : สุขที่อิงอามิส หรือสุขที่อาศัยกามคุณ.

2. นิรามิสสุข : สุขที่ไม่อิงอามิส (อาศัยนิพพาน).

กลุ่มที่ 2 :

1. โลกิยสุข : ตามวิสัยโลก.

2. โลกุตตรสุข : เหนือวิสัยโลก.

กลุ่มที่ 3 :

1. เคหสิตสุข : สุขอาศัยบ้านเรือน.

2. เนกขัมมสิตสุข : สุขอาศัยการออกจากเรือน.

กลุ่มที่ 4 :

1. พาลสุข : สุขตามความรู้สึกของคนพาล.

2. บัณฑิตสุข : สุขตามความรู้สึกของบัณฑิต.

7.2 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. สุขทางกาย : และสิ่งที่เนื่องด้วยกายคือวัตถุ.

2. สุขทางจิต : จิตไม่หวั่นไหว กิเลสนิวรณ์ไม่รบกวน.

3. สุขทางวิญญาณ : (ทางทิฏฐิ สติปัญญา) : อวิชชาไม่รบกวน.

7.3 แบ่งโดยประเภท 4 :

1. สุขชั้นกามาวจรภูมิ : สุขจากกามธาตุ.

2. สุขชั้นรูปาวจรภูมิ : สุขจากรูปธาตุ.

3. สุขชั้นอรูปาวจรภูมิ : สุขจากอรูธาตุ.

4. สุขชั้นโลกุตตรภูมิ : สุขจากนิโรธธาตุ คือการอยู่เหนือวิสัยโลก.

8. กฎเกณฑ์ : สุขโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ความสุข (หรือความทุกข์) มิได้มาจากกรรมเก่า หรือพระเป็นเจ้าบันดาล ; แต่มาจากการปฏิบัติถูก (หรือผิด) ต่อกฎอิทัปปัจจยตา.

8.2 ความสุขเป็นสิ่งที่มีเหตุปัจจัย เช่นเดียวกับสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งปวง ; ต้องจัดการที่เหตุที่ปัจจัย เพราะมันขึ้นอยู่กับเหตุและปัจจัย.

8.3 ความสุขที่แท้จริงต้องมาจากการกระทำที่ถูกต้อง ; คือเป็นประโยชน์ทั้งตนเองและผู้อื่น.

8.4 ความสุขเกิดมาจากความพอใจ. ถ้าเป็นความพอใจของกิเลสก็เป็นความสุขลวง ; ถ้าเป็นความพอใจของสติปัญญา ก็เป็นความสุขจริง.

9. สัจจะ : สุขโดยสัจจะ :

9.1 สุขที่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นสุขร้อน เป็นไปเพื่อวัฏฏสงสาร ; สุขที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเป็นสุขเย็น เป็นไปเพื่อพระนิพพาน.

9.2 ความหมดอัสมิมานะ (ความยึดถือว่าตัวตน) ก็ดี ; ความรำงับแห่งสังขาร (หยุดการปรุงแต่ง) ก็ดี ; นิพพานก็ดี ; มีความหมายเป็นความสุขอย่างยิ่งโดยเสมอกัน.

9.3 คำว่าสุขอย่างยิ่ง ; หมายถึงความสุขที่เหนือความสุข ชนิดที่กล่าวกันอยู่ตามธรรมดา ; คือ เหนือสุข เหนือทุกข์ ที่ยังเป็นคู่ตรงกันข้ามต่อกัน.

9.4 ขึ้นชื่อว่าความสุขแล้ว ไม่ว่าชนิดใด ต้องมาจากความสงบ ; ซึ่งมีทั้งชนิดเทียมและชนิดแท้, ชนิดต่ำและชนิดสูง (แม้แต่เด็กได้ตุ๊กตาก็เป็นการสงบความอยากระดับหนึ่ง)

10. หน้าที่ : สุขโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของความสุข : คือ ระงับทุกข์หรือหล่อเลี้ยงชีวิต.

10.2 หน้าที่ของบุคคลต่อความสุข : คือ ต้องศึกษาและปฏิบัติให้ถูกต้อง ; จนกล่าวได้ว่ามีความสุข.

10.3 หน้าที่ของสังคมหรือคนทั้งโลกต่อความสุข : คือ ต้องช่วยกันสร้างสันติภาพ หรือความสงบของโลก.

11. อุปมา : สุขโดยอุปมา :

11.1 โลกิยสุขอุปมาด้วยเพชรเทียม ; โลกุตตรสุขอุปมาด้วยเพชรแท้.

11.2 สุขร้อนหรือสุขเทียม เปรียบเสมือนของตบตาให้โง่ ; สุขเย็น หรือสุขแท้จริง อุปมาเหมือนของจริงไม่ตบตา ; และให้สำเร็จประโยชน์แท้จริง.

12. สมุทัย : สุขโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยของโลกิยสุข คือ อวิชชา ; สมุทัยของโลกุตตรสุข คือ วิชชา.

12.2 สมุทัยของโลกิยสุข คือ การยึดมั่นถือมั่น ; สมุทัยของโลกุตตรสุข คือ การไม่ยึดมั่นถือมั่น.

12.3 สมุทัยของโลกิยสุข คือ การปรุงแต่ง.

12.4 การปฏิบัติถูกต้องตามกฎของอิทัปปัจจยตา ; มีได้ทั้งสุขเทียมและสุขแท้.

13. อัตถังคมะ : สุขโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 การปฏิบัติผิดต่อกฎอิทัปปัจจยตา.

13.3 โลกิยสุขดับไปเมื่อญาณทัสสนะในโลกุตตรสุขเกิดขึ้น.

13.4 โลกุตตรสุขดับหรือไม่ปรากฏอีกต่อไป เมื่อจิตของพระอเสขะ (พระอรหันต์) ดับ.

14. อัสสาทะ : สุขโดยอัสสาทะ :

14. อัสสาทะ : สุขโดยอัสสาทะ :

14. อัสสาทะ : สุขโดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะในตัวความสุขเอง คือ ความเพลิดเพลิน ความน่ารัก น่าพอใจ ; ซึ่งเป็นตัวเสน่ห์ของสิ่งที่เรียกว่าความสุข.

14.2 อัสสาทะที่บุคคลจะได้รับจากความสุข คือ ความพอใจตามชนิดของความสุข.

14.3 โลกุตตรสุขไม่มีอัสสาทะ เพราะอยู่เหนืออัสสาทะ.

15. อาทีนวะ : สุขโดยอาทีนวะ :

15.1 ปิดบังความจริง.

15.2 ความหลอกหลวงให้คนหลงใหล.

15.3 กัดเจ้าของผู้ยึดมั่นถือมั่น.

15.4 โลกุตตรสุขไม่มีอาทีนวะ.

16. นิสสรณะ : สุขโดยนิสสรณะ :

16.1 ตัวความสุขไม่เป็นนิสสรณะ ; แต่บุคคลต้องมีนิสสรณะ เพื่อออกมาเสียจากอำนาจครอบงำของความสุข ; สิ่งนั้นคือ อริยมรรคมีองค์ 8.

16.2 การเห็นตามความเป็นจริงว่า ; ความสุขเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา.

16.3 วิปัสสนาญาณที่ทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวกู ของกู เสียได้.

17. ทางปฏิบัติ : สุขโดยทางปฏิบัติ :

นัยที่ 1 : เพื่อเข้าถึงความสุข :

1. ปฏิบัติถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีทั้งระดับโลกิยสุข และโลกุตตรสุข.

1. ปฏิบัติถูกต้องตามกฎอิทัปปัจจยตา ซึ่งมีทั้งระดับโลกิยสุข และโลกุตตรสุข.

2. การดำเนินชีวิตในหสทางแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรค.

นัยที่ 2 : เพื่อออกจากอำนาจของความสุข :

1. ดำเนินชีวิตอยู่ในหนทางที่เรียกว่า อริยอัฏฐังคิกมรรค.

2. มีสัมมาทิฏฐิที่ทำให้ไม่หลงใหลในอัสสาทะของความสุข.

18. อานิสงส์ : สุขโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของโลกิยสุข :

1. โลกิยสุขสำหรับเป็นสุขอยู่ในโลก.

2. สุขในนามของคำว่าสุขก็ดี สุขในนามของคำว่าปีติก็ดี เป็นปัจจัยแห่งสมาธิอย่างจำเป็น.

18.2 อานิสงส์ของโลกุตตรสุข : คือ เป็นที่สิ้นสุดแห่งความทุกข์ทั้งปวง.

19. หนทางถลำ : สุขโดยหนทางถลำ :

นัยที่ 1 : เข้าไปสู่สามิสสุข :

1. การตามใจตัวเอง คือตามใจกิเลส จนเห็นกงจักรเป็นดอกบัว (เห็นสามิสสุขเป็นดอกบัว)

2. การเป็นอยู่อย่างไม่ได้ยิน ไม่ได้ฟัง ไม่ได้เห็นเหล่าพระอริยเจ้า ; ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ; (ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้จะถลำเข้าไปได้โดยง่าย).

3. การเป็นอยู่อย่างประมาณ ; ไม่มีความเคารพในความไม่ประมาท.

นัยที่ 2 : เข้าไปสู่นิรามิสสุข : คือ การเป็นอยู่อย่างตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในกรณีขอสามิสสุข.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สุขโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 เพื่อเข้าถึงความสุข :

1. บูชาความสุขทางวัตถุ.

2. มีสัปปายธรรมเพื่อความเป็นเช่นนั้น.

20.2 เพื่อออกจากความสุข :

1. ไม่บูชาความสุขจากวัตถุ หรือวัตถุนิยม.

2. มีสัปปายธรรมเพื่อความเป็นเช่นนั้น.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : สุขโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : สิ่งที่น่ารัก น่าพอใจ น่าแสวงหา.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ต้องระมัดระวังอย่าให้ไปหลงใหล (มันจะกัดเอา).

21.2 ภาษาคน : เป็นมิตรแท้.

ภาษาธรรม : เป็นมิตรเทียมที่ต้องระวัง.

ภาษาธรรม : เป็นมิตรเทียมที่ต้องระวัง.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์

2. ชุมนุมปาฐกถาชุดพุทธธรรม

3. มาฆบูชาเทศนา เล่ม 1

4. ราชภโฏวาท


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง