[Font : 15 ]
| |
การดำรงชีพชอบ ตามหลักอริยวงศ์ |  

ภิกษุ ท. ! อริยวงศ์ (ธรรมที่เป็นเชื้อสายของพระอริยเจ้า) 4 อย่าง เหล่านี้ ปรากฏว่า เป็นธรรมอันเลิศ ยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่ก่อน ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ จักไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ไม่คัดค้านแล้ว. อริยวงศ์ 4 อย่าง อะไรบ้างเล่า ? 4 อย่าง คือ :-

(1) ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ สันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้, ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะจีวรเป็นเหตุ, ไม่ได้จีวรก็ไม่ทุรนทุราย, ได้จีวรแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมกพัวพัน, เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่งสังสารวัฏฏ์, มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ, นุ่งห่มจีวรนั้น. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในความสันโดษด้วยจีวรตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน.

(2) อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุเป็นผู้ สันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้, ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะบิณฑบาตเป็นเหตุ, ไม่ได้บิณฑบาตก็ไม่ทุรนทุราย, ได้บิณฑบาตแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมกพัวพัน, เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่งสังสารวัฏฏ์, มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ, บริโภคบิณฑบาตนั้น. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในความสันโดษด้วยบิณฑบาตตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน.

(3) อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุเป็นผู้ สันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้ และเป็นผู้สรรเสริญความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้, ไม่ทำอเนสนา (การแสวงหาไม่สมควร) เพราะเสนาสนะเป็นเหตุ, ไม่ได้เสนาสนะก็ไม่ทุรนทุราย, ได้เสนาสนะแล้วก็ไม่ยินดีเมาหมกพัวพัน, เห็นส่วนที่เป็นโทษแห่งสังสารวัฏฏ์. มีปัญญาในอุบายที่จะถอนตัวออกอยู่เสมอ, ใช้สอยเสนาสนะนั้น. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในความสันโดษด้วยเสนาสนะตามมีตามได้นั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน.

(4) อีกอย่างหนึ่ง, ภิกษุ เป็นผู้มีใจยินดีในการบำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ ยินดีแล้วในการบำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญ, เป็นผู้มีใจยินดีในการละสิ่งที่ควรละ ยินดีแล้วในการละสิ่งที่ควรละ. อนึ่ง ไม่ยกตนไม่ข่มผู้อื่น เพราะเหตุดังกล่าวนั้น. ก็ภิกษุใดเป็นผู้ฉลาด ไม่เกียจคร้าน มีสัมปชัญญะ มีสติมั่น ในการบำเพ็ญสิ่งที่ควรบำเพ็ญและการละสิ่งที่ควรละนั้น เราเรียกภิกษุนี้ว่า ผู้สถิตอยู่ในอริยวงศ์ อันปรากฏว่าเป็นธรรมเลิศมาแต่เก่าก่อน.

ภิกษุ ท. ! อริยวงศ์ 4 อย่างเหล่านี้แล ปรากฏว่า เป็นธรรมเลิศยั่งยืน เป็นแบบแผนมาแต่เก่าก่อน ไม่ถูกทอดทิ้งแล้ว ไม่เคยถูกทอดทิ้งเลย ไม่ถูกทอดทิ้งอยู่ จักไม่ถูกทอดทิ้ง เป็นธรรมอันสมณพราหมณ์ทั้งหลายที่เป็นผู้รู้ ไม่คัดค้านแล้ว.

ภิกษุ ท. ! ก็แลภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้วด้วยอริยวงศ์ 4 อย่างเหล่านี้ แม้หากอยู่ในทิศตะวันออก .... ทิศตะวันตก .... ทิศเหนือ .... ทิศใต้ เธอย่อมยีความไม่ยินดีเสียได้ข้างเดียว ความไม่ยินดีหาย่ำยีเธอได้ไม่. ที่ เป็นเช่นนั้น เพราะอะไร ? เพราะเหตุว่า ภิกษุผู้มีปัญญา ย่อมเป็นผู้ย่ำยีเสียได้ ทั้งความไม่ยินดีและความยินดี, ดังนี้.

- จุตกฺก. อํ. 21/35/28.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง