[Font : 15 ]
| |
เสด็จบ้านเวฬุวคาม |  

อานนท์! มาเถิด, เราจักไปสู่บ้านเวฬุวคาม. (ณ ที่บ้านนั้น ตรัสให้ภิกษุสงฆ์จำพรรษา), ภิกษุ ท.! เอาเถิด, พวกเธอจงจำพรรษาในเขตเมืองเวสาลีโดยรอบๆ ตามพวกมิตรสหายและชาวเกลอเถิด, ส่วนเราจักจำพรรษา ณ บ้านเวฬุวคามนี้แล. (ภิกษุ ท. จำพรรษาตามพอใจแล้ว, ในพรรษาพระองค์ประชวรหนักจวนสิ้นพระชนมายุ แต่ทรงมีสติสัมปชัญญะไม่กระวนกระวาย, ทรงดำริว่า ต้องแจ้งให้อุปัฎฐาก และภิกษุสงฆ์ ทราบล่วงหน้าเสียก่อนแล้วปรินิพพานจึงจะควร ครั้นหายประชวรแล้วได้ตรัสกะพระอานนท์ผู้ทูลสรรเสริญถึงความอดกลั้นต่อทุกขเวทนาของพระองค์เอง, และท่านหวังว่าคงยังไม่ทรงนิพพานก่อนแต่จะตรัสเรื่องสำคัญอีก).

อานนท์! ภิกษุสงฆ์จักยังหวังอะไรในเราอีกเล่า, ธรรม เราได้แสดงแล้วไม่ขาดระยะ ไม่มีอีกนอกจากที่แสดงแล้ว ไม่มีกำมือในธรรม (คือธรรมที่ยังกำไว้ไม่เปิดเผยให้ดู) แก่ตถาคตเลย. ...ฯลฯ...

อานนท์! บัดนี้เราแก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ ล่วงกาลผ่านวัยนานโดยลำดับ.วัยของเราเป็นมาได้ 80 ปีแล้ว. อานนท์! กายของตถาคร่ำคร่าแล้ว เปรียบเหมือนเกวียนคร่ำคร่า ที่เขาซ่อมแซมปะทะปะทังไว้ด้วยไม้ไผ่.

อานนท์! สมัยใด ตถาคตเข้าสู่เจโตสมาธิ ที่ไม่มีนิมิต เพราะไม่ทำนิมิตทั้งปวงไว้ในใจ ดับเวทนาบางพวกเสีย แล้วแลอยู่; อานนท์! กายของตถาคต ย่อมผาสุกยิ่งนัก. (ต่อจากนี้ตรัสให้มีธรรมหรือตัวเองเป็นที่พึ่ง, คือสติปัฎฐาน 4).

- มหาปรินิพพานสูตร มหา. ที. 10/116/93.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง