[Font : 15 ]
| |
ผู้ตายคาประตูนิพพาน |  

สุนักขัตตะ ! ข้อนี้เป็นฐานะที่มีได้ คือจะมีภิกษุบางรูปในกรณีนี้ มีความเข้าใจของตนมีความหมายอันสรุปได้อย่างนี้เป็นต้น ว่า "ตัณหานั้น สมณะกล่าวกันว่าเป็นลูกศร, โทษอันมีพิษของอวิชชา ย่อมงอกงามเพราะฉันราคะและพยาบาท, ลูกศรคือตัณหานั้นเราละได้แล้ว, โทษอันมีพิษของอวิชชา เราก็นำออกไปหมดแล้ว, เราเป็นผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ" ดังนี้. เธอนั้นย่อมตามประกอบซึ่งธรรมทั้งหลายอันไม่เป็นที่สบายแก่ผู้น้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ; คือตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบาย ในการเห็นรูปด้วยตาฟัง เสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกายรู้สึกธรรมมารมณ์ด้วยใจ อันล้วนไม่เป็นที่สบาย. เมื่อเธอตามประกอบซึ่งธรรมอันไม่เป็นที่สบายเหล่านี้ อยู่, ราคะอย่อมเสียบแทงจิตของเธอ. เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว ย่อมถึงความตายหรือความทุกข์เจียนตาย.

สุนักขัตตะ ! เปรียบเหมือนบุรุษถูกยิงด้วยลูกศรอันอาบไว้ด้วยยาพิษอย่างแรงกล้า. มิตรอำมาตย์ญาติสาโลหิตของเขา จัดหาหมอผ่าตัดมารักษา หมอได้ใช้ศาสตราชำแหละปากแผลของเขา แล้วใช้เครื่องตรวจค้นหาลูกศร พบแล้วถอนลูกศรออก กำจัดโทษอันเป็นพิษที่ยังมีเชื้อเหลือติดอยู่ จนรู้ว่าไม่มีเชื้อเหลือติดอยู่ แล้วกล่าวแก่เขาอย่างนี้ว่า "บุรุษผู้เจริญ ! ลูกศรถูกถอนออกแล้ว. โทษอันเป็นพิษเรานำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว, ท่านไม่มีอันตรายอีกแล้ว, และท่านจะบริโภคอาหารได้ตามสบาย แต่อย่าไปกินอาหารชนิดที่ไม่สบายแก่แผลอันจะทำให้แผลอักเสบ และจงล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา, เมื่อท่านล้างแผลตามเวลา ทายาที่ปากแผลตามเวลา อย่าให้หนองและเลือดเกรอะกรังปากแผล, และท่านอย่าเที่ยวตากลมตากแดด, เมื่อเที่ยวตากลมตากแดด, ก็อย่าให้ฝุ่นละอองและของโสโครกเข้าไปในปากแผล. บุรุษผู้เจริญ ! ท่านจงเป็นผู้ระวังรักษาแผล มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญเถอะนะ" ดังนี้. บุรุษนั้นมีความคิดว่า "หมอถอนลูกศรให้เราเสร็จแล้ว โทษอันเป็นพิษหมอก็นำออกจนไม่มีเชื้อเหลืออยู่แล้ว เราหมดอันตราย" เขาจึงบริโภคโภชนะที่แสลง, เมื่อบริโภคโภชนะที่แสดง แผลก็กำเริบ, และเขาไม่ชะแผลตามเวลา ไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา, เมื่อเขาไม่ชะแผลตามเวลา ไม่ทายาที่ปากแผลตามเวลา หนองและเลือดก็เกรอะกรังปากแผล, และเขาเที่ยวตากลมตากแดด ปล่อยให้ฝุ่นละอองของโสโครกเข้าไปในปากแผล, และเขาไม่ระวังรักษาแผล ไม่มีเรื่องแผลเป็นเรื่องสำคัญ. เขานำโทษพิษอันไม่สะอาดออกไปด้วยการกระทำอันไม่ถูกต้องเหล่านี้ แผลจึงมีเชื้อเหลืออยู่, แผลก็บวมขึ้นเพราะเหตุทั้งสองนั้น. บุรุษนั้นมีแผลบวมแล้ว ก็ถึงซึ่งความตายบ้าง ซึ่งความทุกข์เจียนตายบ้าง, นี้ฉันใด;

สุนักขัตตะ ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน คือข้อที่ภิกษุบางรูป สำคัญตนว่าน้อมไปแล้วในนิพพานโดยชอบ.... แต่ตามประกอบในธรรมไม่เป็นที่สบายแก่การน้อมไปในนิพพานโดยชอบ.... ราคะก็เสียบแทงจิตของเธอ. เธอมีจิตอันราคะเสียบแทงแล้ว ย่อมถึงความตาย หรือความทุกข์เจียนตาย. สุนักขัตตะ ! ในอริยวินัยนี้ ความตายหมายถึงการบอกคืนสิกขา เวียนไปสู่เพศต่ำ; ความทุกข์เจียนตายหมายถึงการต้องอาบัติ อันเศร้าหมองอย่างใดอย่างหนึ่ง แล.

- อุปริ. ม. 14/66/76.

(ภิกษุในกรณีนี้ มีการศึกษาดี ตึ.ความปรารถนาดี แต่มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับตนเองและธรรมะ ; คือเข้าใจไปว่า ลูกศรคือตัณหาเป็นสิ่งที่ละได้โดยไม่ต้องถอน อวิชชาเป็นสิ่งที่เหวี่ยงทิ้งไปได้โดยไม่ต้องกำจัดตัดราก ; และเข้าใจตัวเองว่า น้อมไปแล้วสู่นิพพานโดยชอบ ดังนี้ แต่แล้วก็มากระทำผิดในสิ่งที่ไม่เป็นสบายแก่การน้อมไปในนิพพานั้น ทั้งทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จนราคะเกิดขึ้นเสียบแทง ถึงแก่ความตายในอริยวินัย, จึงเรียกว่า เขาล้มลงตายตรงหน้าประตูแห่งพระนิพพานนั่นเอง).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง