[Font : 15 ]
| |
ผู้ลวงมัจจุราชให้หลง |  

ภิกษุ ท.! ปุถุชน ผู้ไม่ได้ยิน ได้ฟัง ย่อมพูดว่า 'สมุทร-สมุทร' ดังนี้. ภิกษุ ท.! สมุทรเช่นที่กล่าวนั้น ไม่ใช่สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า. ภิกษุ ท.! สมุทรเช่นที่กล่าวนั้น เป็นเพียงแอ่งน้ำใหญ่ เป็นเพียงห้วงน้ำใหญ่.

ภิกษุ ท.! รูป ที่เห็นด้วยตา อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุ ท.! นี้เราเรียกว่า 'สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า'. โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ โดยมากตกอยู่จมอยู่ในสมุทรนั้น. เป็นสัตว์ที่มีความใคร่ มีจิตยุ่งเหมือนกลุ่มด้วย เกิดประสานกันสับสนดุจรังนก เหมือนพงหญ้ามุญชะและปัพพชะ, สัตว์ทั้งหลายในสมุทรนั้น จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏฏ์ไม่ได้.

ภิกษุ ท.! เสียง ที่ฟังด้วยหู .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท.! กลิ่น ที่ดมด้วยจมูก .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท.! รส ที่ลิ้มด้วยลิ้น .... ฯลฯ .... ภิกษุ ท.! โผฏฐัพพะ ที่สัมผัสด้วยกาย .... ฯลฯ ....

ภิกษุ ท.! ธรรมารมณ์ ที่รู้ด้วยใจ อันเป็สิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ และเป็นที่ตั้งแต่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่. ภิกษุ ท.! เหล่านี้เราเรียกว่า 'สมุทรในวินัยของพระอริยเจ้า'. โลกนี้ พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก, หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณะพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์โดยมากตกอยู่ จมอยู่ ในสมุทรนั้น. เป็นสัตว์ที่มีความใคร่ มีจิตยุ่งเหมือนกลุ่มด้าย เกิดประสานกันสับสนดุจรังนก เหมือนพงหญ้ามุญชะและปัพพชะ, สัตว์ทั้งหลายในสมุทรนั้น จึงไม่ล่วงพ้นอบาย ทุคติ วินิบาต และสังสารวัฏฏ์ไปได้.

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)

ราคะ โทสะ และอวิชชา ของท่านผู้ใด จางคลายไปแล้ว ท่านผู้นั้นชื่อว่า ข้ามสมุทรนี้ได้แล้ว ซึ่งเป็นแหล่งที่มีสัตว์ร้าย มีทั้งรากษส มีทั้งคลื่นวังวน ภัยน่ากลัว แสนจะข้ามได้ยากนัก. เราตถาคตกล่าวว่าท่านนั้น เป็นผู้ล่วงเสียได้จากเครื่องข้อง ละขาดจากการต้องตาย ไม่มีอุปธิกิเลส ; ท่านนั้น หย่าขาดจากความทุกข์ที่ต้องมาเกิดอีกต่อไป; ท่านนั้นวอดดับไป ไม่กลับมาอีกลวงเอาพญามัจจุราชให้หลงได้ ดังนี้แล.

- สฬา. สํ. 18/196/287-288.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง