[Font : 15 ]
| |
ทรงคอยควบคุมวิตก ก่อนตรัสรู้ |  

ภิกษุ ท.! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่, ได้เกิดความรู้สึกอันนี้ขึ้นว่า เราพึงทำวิตกทั้งหลายให้เป็น 2 ส่วนเถิด. ภิกษุ ท.! เราได้ทำ กามวิตก พยาปาทวิตก วิหิงสาวิตก 3 อย่างนี้ให้เป็นส่วนหนึ่ง, ได้ทำ เนกขัมมวิตก อัพยาปาทวิตก อวิหิงสาวิตก 3 อย่างนี้ให้เป็นอีกส่วนหนึ่งแล้ว.

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้กามวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า กามวิตกเกิดแก่เราแล้ว, กามวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่าย(คือทั้งตนและผู้อื่น) บ้าง, เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่....ฯลฯ03.5.... อย่างนี้ กามวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้. ภิกษุ ท.! เราได้ละและบรรเทากามวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว.

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้พยาปาทวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า พยาปาทวิตกเกิดแก่เราแล้ว, ก็พยาปาทวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง, เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น ไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน. ภิกษุ ท.! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่...ฯลฯ... อย่างนี้ พยาปาทวิตก ย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้. ภิกษุ ท.! เราได้ละและบรรเทาพยาปาทวิตก อันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว.

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้วิหิงสาวิตกเกิดขึ้น เราก็รู้ชัดอย่างนี้ว่า วิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว, ก็วิหิงสาวิตกนั้นย่อมเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนบ้าง เบียดเบียนผู้อื่นบ้าง เบียดเบียนทั้งสองฝ่ายบ้าง, เป็นไปเพื่อความดับแห่งปัญญา เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้นไม่เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน. ภิกษุ ท. ! เมื่อเราพิจารณาเห็นอยู่....ฯลฯ....อย่างนี้ วิหิงสาวิตกย่อมถึงซึ่งอันตั้งอยู่ไม่ได้. ภิกษุ ท.! เราได้ละและบรรเทาวิหิงสาวิตกอันบังเกิดขึ้นแล้วและบังเกิดแล้ว กระทำให้สิ้นสุดได้แล้ว.

ภิกษุ ท.! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆ มาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้นๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงกามวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละเนกขัมมวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งกามวิตก; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในกาม. ถ้าภิกษุตรึกตรองตามถึงพยาปทวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละอัพยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งพยาปาทวิตก, จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการพยาบาท. ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละอวิหิงสาวิตกเสียกระทำแล้วอย่างมากซึ่งวิหิงสาวิตก ; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการทำสัตว์ให้ลำบาก.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนในคราวฤดูสารท คือเดือนสุดท้ายแห่งฤดูฝนคนเลี้ยงโคต้องเลี้ยงฝูงโคในที่แคบเพราะเต็มไปด้วยข้าวกล้า เขาต้องตีต้อนห้ามกันฝูงโคจากข้าวกล้านั้นด้วยท่อนไม้ เพราะเขาเห็นโทษคือการถูกประหาร การถูกจับกุม การถูกปรับไหม การติเตียน เพราะมีข้าวกล้านั้นเป็นเหตุ ข้อนี้ฉันใด, ภิกษุ ท.! ถึงเราก็ฉันนั้น ได้เห็นแล้วซึ่งโทษความเลวทรามเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรมทั้งหลาย, เห็นอานิสงส์ในการออกจากกาม ความเป็นฝักฝ่ายของความผ่องแผ้วแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! เมื่อเราเป็นผู้ไม่ประมาท มีเพียร มีตนส่งไปอยู่อย่างนี้เนกขัมมวิตกย่อมเกิดขึ้น. 03.6 อัพยาปาทวิตกย่อมเกิดขึ้น.... อวิหิงสาวิตกย่อมเกิดขึ้น. เราย่อมรู้แจ้งชัดว่า อวิหิงสาวิตกเกิดขึ้นแก่เราแล้ว, ก็อวิหิงสาวิตกนั้นไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น หรือเบียดเบียนทั้ง 2 ฝ่าย, แต่เป็นไปพร้อมเพื่อความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นฝักฝ่ายแห่งความคับแค้น เป็นไปพร้อมเพื่อนิพพาน. แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดคืน ก็มองไม่เห็นภัยที่จะเกิดขึ้นเพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ. แม้เราจะตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกนั้นตลอดวัน, หรือตลอดทั้งกลางคืนกลางวัน ก็มองไม่เห็นภัยอันจะเกิดขึ้นเพราะอวิหิงสาวิตกนั้นเป็นเหตุ.

ภิกษุ ท.! เพราะเราคิดเห็นว่า เมื่อเราตรึกตามตรองตามนานเกินไปนักกายจะเมื่อยล้า, เมื่อกายเมื่อยล้า จิตก็อ่อนเพลีย, เมื่อจิตอ่อนเพลีย จิตก็ห่างจากสมาธิ, เราจึงได้ดำรงจิตให้หยุดอยู่ในภายใน กระทำให้มีอารมณ์อันเดียวตั้งมั่นไว้ ด้วยหวังอยู่ว่า จิตของเราอย่าฟุ้งขึ้นเลย ดังนี้.

ภิกษุ ท.! ภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอารมณ์ใดๆมาก จิตย่อมน้อมไปโดยอาการอย่างนั้น ๆ : ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงเนกขัมมวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละกามวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากซึ่งเนกขัมมวิตก ; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการออกจากกาม. ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอัพยาปาทวิตกมากก็เป็นอันว่าละพยาปาทวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอัพยาปาทวิตก ; จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่พยาบาท. ถ้าภิกษุตรึกตามตรองตามถึงอวิหิงสาวิตกมาก ก็เป็นอันว่าละวิหิงสาวิตกเสีย กระทำแล้วอย่างมากในอวิหิงสาวิตก;จิตของเธอนั้นย่อมน้อมไปเพื่อความตรึกในการไม่ยังสัตว์ให้ลำบาก.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนในเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อน ข้าวกล้าทั้งหมดเขาขนนำไปในบ้านเสร็จแล้ว03.7 คนเลี้ยงโคพึงเลี้ยงโคได้. เมื่อเขาไปพักใต้ร่มไม้หรือไปกลางทุ่งแจ้งๆ พึงทำแต่ความกำหนดว่า นั่นฝูงโคดังนี้ (ก็พอแล้ว) ฉันใด ;ภิกษุ ท.! ถึงภิกษุก็เพียงแต่ทำความระลึกว่า นั่นธรรมทั้งหลายดังนี้ (ก็พอแล้ว)ฉันนั้นเหมือนกัน.

ภิกษุ ท.! ความเพียรเราได้ปรารภแล้วไม่ย่อหย่อน สติเราได้ดำรงไว้แล้วไม่ฟั่นเฟือน กายสงบระงับไม่กระสับกระส่าย จิตตั้งมั่นมีอารมณ์อันเดียวแล้ว. ภิกษุ ท.! เรานั้น เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ได้เข้าถึงปฐมฌาน มีวิตกวิจาร มีปีติและสุขเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. (คำต่อไปนี้เหมือนในตอนที่กล่าวด้วยการตรัสรู้ ข้างหน้า อันว่าด้วยรูปฌาน 4)

- เทวธาวิตักกสูตร สีหนาทวรรค มู.ม. 12/232/252, ตรัสที่เชตวัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง