[Font : 15 ]
| |
เคล็ดลับในการปิดกั้นทางเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาท

เคล็ดลับในการปิดกั้นทางเกิดแห่งปฏิจจสมุปบาทPTC137

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพึงพิจารณาไคร่ครวญ โดยประการที่เมื่อพิจารณาใคร่ครวญอยู่แล้ว วิญญาณ (จิต) ของเธอนั้น อันไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปภายนอกด้วย, อันไม่ตั้งสยบอยู่ภายในด้วย, ก็จะไม่พึงสะดุ้ง เพราะเหตุไม่มีความยึดมั่น, ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อวิญญาณ ไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งสยบ อยู่ในภายในอยู่ เป็นจิตไม่สะดุ้ง เพราะเหตุไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ดังนี้แล้ว ; การก่อตั้งขึ้นแห่งกองทุกข์ กล่าวคือ ชาติ ชรา มรณะ ย่อมไม่มีอีกต่อไป.PTC138

ครั้นตรัสดังนี้แล้ว พระผู้มีพระภาคได้เสด็จเข้าสู่ที่ประทับเสีย. ภิกษุเหล่านั้นไม่เข้าใจในเนื้อความแห่งพระพุทธวัจนะนี้โดยพิสดาร จึงพากันไปหาพระมหากัจจานะ ได้รับคำอธิบายจากพระมหากัจจานะโดยพิสดารดังต่อไปนี้ :-

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้อที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงอุเทสไว้แต่โดยย่อ แก่เราทั้งหลายว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุพึงพิจารณาใคร่ครวญ โดยประการที่เมื่อพิจารณาใคร่ครวญอยู่แล้ว วิญญาณ (จิต) ของเธอนั้น อันไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก ไม่ตั้งสยบอยู่ในภายในอยู่ เป็นจิตไม่สะดุ้ง เพราะเหตุไม่มีความยึดมั่นถือมั่นแล้ว ; การก่อตั้งขึ้นแห่งกองทุกข์ กล่าวคือ ชาติ ชรา มรณะ ย่อมไม่มีอีกต่อไป.” ดังนี้แล้ว มิได้ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดาร เสด็จลุกจากอาสนะเข้าสู่ที่ประทับเสียนั้น ; ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! สำหรับอุเทสซึ่งพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงแต่โดยย่อ ไม่ทรงจำแนกเนื้อความโดยพิสดารนี้ ข้าพเจ้ารู้เนื้อความแห่งอุเทสนั้น โดยพิสดาร ดังต่อไปนี้ :-

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็คำที่กล่าวว่า “วิญญาณอันฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก” ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิศดารอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในกรณีที่กล่าวนี้ วิญญาณ (จิต) ของภิกษุผู้เห็นรูปด้วยตาแล้ว เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามนิมิตแห่งรูป, เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะ (รสอร่อย) ของนิมิตแห่งรูป, ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของนิมิตแห่งรูป, ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันอยู่ในอัสสาทะของนิมิตแห่งรูป : นี้แหละคือข้อความที่กล่าวโดยย่อว่า “วิญญาณอันฟุ้งไป ซ่านไปในภายนอก” ดังนี้. (ในกรณีแห่งการได้ยินเสียงด้วยหู, การรู้สึกกลิ่นด้วยจมูก, การลิ้มรสด้วยลิ้น, การสัมผัสทางผิวหนังด้วยผิวกาย, และการรู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจ, ก็มีข้อความเหมือนกับข้อความที่กล่าวในกรณีแห่งการเห็นรูปด้วยตา ข้างบนนี้ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อของอายตนะนั้นๆ เท่านั้น.) ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! คำที่กล่าวว่า “วิญญาณอันฟุ้งไปซ่านไปในภายนอก” ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิศดาร อย่างนี้แล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็คำอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า “วิญญาณอันไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไป ในภายนอก” ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดารอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! วิญญาณ (จิต) ของภิกษุผู้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ไม่เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามนิมิตแห่งรูป, ไม่เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะ (รสอร่อย) ของนิมิตแห่งรูป, ไม่ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของนิมิตแห่งรูป, ไม่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันอยู่ในอัสสาทะของนิมิตแห่งรูป : นี้แหละคือข้อความอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วโดยย่อว่า “วิญญาณอันไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไปในภายนอก” ดังนี้. (ในกรณีแห่งการได้ยินเสียงด้วยหู, การรู้สึกกลิ่นด้วยจมูก, การลิ่มรสด้วยลิ้น, การสัมผัสทางผิวหนังด้วยผิวกาย, และการรู้แจ้งธัมมารมณ์ด้วยใจ, ก็มีข้อความเหมือนกับข้อความที่กล่าวในกรณีแห่งการเห็นรูปด้วยตา ข้างบนนี้ทุกตัวอักษร ต่างกันแต่ชื่อของอายตนะนั้นๆ เท่านั้น.) ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! คำอันพระผู้มีพระภาคตรัสที่กล่าวว่า “วิญญาณอันไม่ฟุ้งไป ไม่ซ่านไป ในภายนอก” ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดาร อย่างนี้แล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็คำที่กล่าวว่า “จิต ตั้งสยบอยู่ภายใน” ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดารอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในกรณีที่กล่าวนี้ ภิกษุ, เพราะสงัดจากกามและอกุศกรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ 1 อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. วิญญาณ (จิต) ของภิกษุนั้น เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามปิติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก ; นี้แหละคือข้อความที่กล่าวโดยย่อว่า “จิต ตั้งสยบ อยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความที่วิตกและวิจารสงบระงับลง ; จึงบรรลุฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน, ทำให้สมาธิอันเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น, ไม่มีวิตกวิจาร, มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. วิญญาณ ของภิกษุนั้น เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามปิติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ, เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ, ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ, เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ ; นี้แหละคือข้อความที่กล่าวโดยย่อว่า “จิต ตั้งสยบ อยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ, ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา, มีสติและสัมปชัญญะ, และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปกติสุข” ดังนี้ ; จึงบรรลุฌานที่ 3 แล้วแลอยู่. วิญญาณของภิกษุนั้น เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามอุเบกขา, เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, นี้แหละคือข้อความที่กล่าวโดยย่อว่า “จิต ตั้งสยบอยู่ในภายใน" ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึงบรรลุฌานที่ 4 อันไม่มีทุกข์และสุข, มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่. วิญญาณของภิกษุนั้น เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามอทุกขมสุข, เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของอทุกขมสุข, ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของอทุกขมสุข, เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของอทุกขมสุข, นี้แหละ คือข้อความที่กล่าวโดยย่อว่า “จิต ตั้งสยบอยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! คำที่กล่าวว่า "จิต ตั้งสยบอยู่ในภายใน”ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดาร อย่างนี้แล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็คำอันพระผู้มีพระภาคตรัสที่กล่าวว่า "จิตอันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน" ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดารอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย! ในกรณีที่กล่าวนี้ ภิกษุ, เพราะสงดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย จึงบรรลุฌานที่ 1 อันมีวิตก วิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่. วิญญาณ (จิต) ของภิกษุนั้น ไม่เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, ไม่เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, ไม่ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก, ไม่เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวก ; นี้แหละคือข้อความอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว โดยย่อว่า “จิต อันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความที่วิตกและวิจารสงบระงับลง ; จึงบรรลุฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน, ทำให้สมาธิอันเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น, ไม่มีวิตกวิจาร, มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่. วิญญาณของภิกษุนั้น ไม่เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิ, ไม่เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ, ไม่ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ, ไม่เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ ; นี้แหละ คือ ข้อความอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว โดยย่อว่า “จิต อันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ, ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา, มีสติสัมปชัญญะ, และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปรกติสุข” ดังนี้ ; จึงบรรลุฌานที่ 3 แล้วแลอยู่. วิญญาณของภิกษุนั้น ไม่เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามอุเบกขา, ไม่เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, ไม่ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, ไม่เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอัสสาทะของสุขอันเกิดแต่อุเบกขา, นี้แหละคือข้อความอันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว โดยย่อว่า “จิต อันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน” ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ, เพราะความละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน, จึงบรรลุฌานที่ 4 อันไม่มีทุกข์และสุข, มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่. วิญญาณของภิกษุนั้น ไม่เป็นวิญญาณที่แล่นไปตามอทุกขมสุข, ไม่เป็นวิญญาณที่หยั่งลงในอัสสาทะของอทุกขมสุข, ไม่ผูกพันอยู่ในอัสสาทะของอทุกขมสุข, ไม่เป็นวิญญาณที่ประกอบพร้อมแล้วด้วยความผูกพันในอทุกขมสุข, นี้แหละ คือข้อความอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว โดยย่อว่า "จิต อันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน" ดังนี้.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! คำอันพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วว่า "จิตอันไม่ตั้งสยบอยู่ในภายใน" ดังนี้นั้น มีเนื้อความโดยพิสดาร อย่างนี้แล.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็ความสะดุ้ง ย่อมมี เพราะเหตุมีความยึดมั่นถือมั่น เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในกรณีที่กล่าวมานี้ปุถุชนผู้ไม่มีการสดับ ไม่เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า, ไม่เห็นสัปบุรุษทั้งหลายไม่ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ ไม่ได้รับการแนะนำ ในธรรมของสัปบุรุษ:-

(1) เขาย่อมตามเห็นซึ่งรูป โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนว่ามีรูปบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งรูปในตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนในรูปบ้าง ; ครั้นรูปนั้นแปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่เขา : วิญญาณของเขาย่อมเป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของรูป เพราะความแปรปรวนของรูปได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของรูป ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). เพราะความยึดมั่นแห่งจิต เขาย่อมเป็นผู้มีความหวาดเสียว มีความคับแค้น มีความพะว้าพะวง และสะดุ้งอยู่ เพราะความยึดมั่น.

(2) เขาย่อมตามเห็นซึ่งเวทนา โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนว่ามีเวทนาบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งเวทนาในตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนในเวทนาบ้าง ; ครั้นเวทนานั้น แปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่เขา : วิญญาณของเขาย่อมเป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามตามความแปรปรวนของเวทนา เพราะความแปรปรวนของเวทนาได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของเวทนา ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). เพราะความยึดมั่นแห่งจิตเขาย่อมเป็นผู้มีความหวาดเสียว มีความคับแค้น มีความพะว้าพะวง และสะดุ้งอยู่เพราะความยึดมั่น.

(3) เขาย่อมตามเห็นซึ่งสัญญา โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนว่ามีสัญญาบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งสัญญาในตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนในสัญญาบ้าง ; ครั้นสัญญานั้นแปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่นแก่เขา : วิญญาณของเขา ย่อมเป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสัญญา เพราะความแปรปรวนของสัญญาได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสัญญา ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). เพราะความยึดมั่นแห่งจิต เขาย่อมเป็นผู้มีความหวาดเสียว มีความคับแค้น มีความพะว้าพะวง และสะดุ้งอยู่ เพราะความยึดมั่น.

(4) เขาย่อมตามเห็นซึ่งสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนว่ามีสังขารบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งสังขารทั้งหลายในตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนในสังขารทั้งหลายบ้าง ; ครั้นสังขารทั้งหลายเหล่านั้น แปรปรวนไปเป็นความมีโดยประกายอื่น แก่เขา : วิญญาณของเขาย่อมเป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสังขารทั้งหลาย เพราะความแปรปรวนของสังขารทั้งหลายได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสังชารทั้งหลาย ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). เพราะความยึดมั่นแห่งจิต เขาย่อมเป็นผู้มีความหวาดเสียว มีความคับแค้น มีความพะว้าพะวง และสะดุ้งอยู่ เพราะความยึดมั่น.

(5) เขาย่อมตามเห็นซึ่งวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนว่ามีวิญญาณบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งวิญญาณในตนบ้าง, ย่อมตามเห็นซึ่งตนในวิญญาณบ้าง ; ครั้นวิญญาณนั้นแปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่เขา : วิญญาณของเขา ย่อมเป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของวิญญาณ เพราะความแปรปรวนของวิญญาณได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของวิญญาณ ย่อมครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). เพราะความยึดมั่นแห่งจิต เขาย่อมเป็นผู้มีความหวาดเสียว มีความคับแค้น มีความพะว้าพะวง และสะดุ้งอยู่ เพราะความยึดมั่น.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล คือความสะดุ้ง ย่อมมี เพราะเหตุมีความยึดมั่นถือมั่น.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ก็ความไม่สะดุ้ง ย่อมมี เพราะเหตุไม่มีความยึดมั่นถือมั่น เป็นอย่างไรเล่า ? ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! ในกรณีที่กล่าวมานี้ อริยสาวกผู้มีการสดับ ได้เห็นพระอริยเจ้าทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า เป็นผู้ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า, ไม่เห็นสัปบุรุษทั้งหลาย เป็นผู้ฉลาดในธรรมของสัปบุรุษ เป็นผู้ได้รับการแนะนำ ในธรรมของสัปบุรุษ:-

(1) เขาย่อมไม่ตามเห็นซึ่งรูป โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีรูปบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งรูปในตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนในรูปบ้าง ; ครั้นรูปนั้นแปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่ท่าน : แต่วิญญาณของท่านย่อมไม่เป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของรูป เพราะความแปรปรวนของรูปได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของรูป เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง) ย่อมไม่ครอบงำจิตของท่านตั้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่นแห่งจิต ท่านย่อมไม่เป็นผู้มีความหวาดเสียว ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความพะว้าพะวง และไม่สะดุ้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่น.

(2) เขาย่อมไม่ตามเห็นซึ่งเวทนา โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีเวทนาบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งเวทนาในตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนในเวทนาบ้าง ; ครั้นรูปนั้นแปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่ท่าน : แต่วิญญาณของท่านย่อมไม่เป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของเวทนา เพราะความแปรปรวนของเวทนาได้มีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของเวทนา เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง) ย่อมไม่ครอบงำจิตของท่านตั้งอยู่. เพราะความไม่ยึดมั่นแห่งจิต ท่านย่อมไม่เป็นผู้มีความหวาดเสียว ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความพะว้าพะวง และไม่สะดุ้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่น.

(3) ท่านย่อมไม่ตามเห็นซึ่งสัญญา โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีสัญญาบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งสัญญาในตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนในสัญญาบ้าง ; ครั้นสัญญานั้น แปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการอื่น แก่ท่าน : แต่วิญญาณของท่านย่อมไม่เป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไป ตามความแปรปรวนของสัญญา เพราะความแปรปรวนของสัญญาได้มีโดยประการอื่น ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสัญญา เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง). ย่อมไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่นแห่งจิต ท่านย่อมไม่เป็นผู้มีความหวาดเสียว ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความพะว้าพะวง และไม่สะดุ้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่น.

(4) เขาย่อมไม่ตามเห็นซึ่งสังขารทั้งหลาย โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีสังขารบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งสังขารทั้งหลายในตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนในสังขารทั้งหลายบ้าง ; ครั้นสังขารทั้งหลายนั้น แปรปรวนไป เป็นความมีโดยประการบ้าง แก่ท่าน : แต่วิญญาณของท่านย่อมไม่เป็นวิญญาณที่เปลี่ยนแปลงไป ตามความแปรปรวนของสังขารทั้งหลาย เพราะความแปรปรวนของสังขารได้มีประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของสังขารทั้งหลาย เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง) ย่อมไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่นแห่งจิต ท่านย่อมไม่เป็นผู้มีความหวาดเสียว ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความพะว้าพะวง และไม่สะดุ้งอยู่เพราะความไม่ยึดมั่น.

(5) ท่านย่อมไม่ตามเห็นซึ่งวิญญาณ โดยความเป็นตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนว่ามีวิญญาณบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นวิญญาณในตนบ้าง, ย่อมไม่ตามเห็นซึ่งตนในวิญญาณบ้าง ; ครั้นวิญญาณนั้นแปรปรวนไป เป็นความีโดยประการอื่น. ความสะดุ้งอันเกิดจากความเปลี่ยนแปลงไปตามความแปรปรวนของวิญญาณ เพราะความเกิดขึ้นแห่งธรรม (เป็นเครื่องทำความสะดุ้ง).ย่อมไม่ครอบงำจิตของเขาตั้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่นแห่งจิต ท่านยอมไม่เป็นผู้มีความหวาดเสียว ไม่มีความคับแค้น ไม่มีความพะว้าพะวง และไม่สะดุ้งอยู่ เพราะความไม่ยึดมั่น.

ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย ! อย่างนี้แล คือความไม่สะดุ้ง ย่อมมีเพราะเหตุไม่มีความยึดมั่นถือมั่น.

หมายเหตุผู้รวบรวม : เนื่องจากข้อความตอนนี้ยืดยาวมาก เกรงจะฟันเฝือ จึงขอย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า แม้ถ้อยคำเหล่านี้ จะเป็นคำอธิบายของพระมหากัจจานะ แต่ได้รับการรับรองจากพระพุทธองค์ว่า ตรงตามที่จะทรงอธิบายเอง; ดังนั้น เพื่อความสะดวกจึงนำมาใส่ไว้ต่อท้ายพระพุทธสุภาษิตข้างต้นนั้น. เคล็ดของการปฏิบัติในที่นี้อยู่ที่ การใคร่ครวญชนิดที่จิตจะไม่แล่นไปข้างนอก และไม่สยบอยู่ใภายใน ตามวิธีที่ได้อธิบายไว้ในสูตรนี้แล้ว, ปฏิจจสุมปบาท ซึ่งเป็นการก่อขึ้นแห่งทุกข์ ก็ก่อขึ้นไม่ได้, ดังที่ตรัสไว้นั้น.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ