[Font : 15 ]
| |
เนื้อนาบุญ เกิดจากองค์ 3 มีศีลเป็นต้น |  

ภิกษุ ท.! ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชา ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างแล้ว ย่อมเป็นม้าที่คู่ควรแก่พระราชา เป็นราชพาหนะได้ และนับว่าเป็นของคู่บารมีของพระราชาด้วย. องค์ประกอบ 3 อย่างอะไรบ้างเล่า? 3 อย่างคือ ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชาในกรณีนี้ เป็นม้าสมบูรณ์ด้วยสี 1, สมบูรณ์ด้วยกำลัง 1, สมบูรณ์ด้วยความไว 1, ภิกษุ ท.! ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีของพระราชา ที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นม้าที่ควรคู่แก่พระราชา เป็นราชพาหนะได้ และนับว่า เป็นของคู่บารมีของพระราชาด้วย;

ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น : ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า. องค์ประกอบ 3 อย่างอะไรบ้างเล่า? 3 อย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสี 1, สมบูรณ์ด้วยกำลัง 1, สมบูรณ์ด้วยความไวแห่งปัญญา 1.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสี เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล, สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร, สมบูรณ์ด้วยมรรยาทและโคจร, มีปรกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ที่ถือกันว่าเป็นโทษเล็กน้อย, สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยสี.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละสิ่งอันเป็นอกุศลทั้งหลาย เพื่อยังสิ่งอันเป็นกุศลทั้งหลายให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลังแข็งขัน ทำความเพียรก้าวไปข้างหน้าอย่างมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลาย ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยกำลัง.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความไวแห่งปัญญา เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า "ทุกข์ เป็นเช่นนี้ ๆ", ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า "เหตุให้เกิดทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ", ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า "ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นเช่นนี้ ๆ", ย่อมรู้ชัดตามที่เป็นจริงว่า "ข้อปฏิบัติเครื่องให้ถึงความดับไม่เหลือทุกข์ เป็นเช่นนี้ๆ" ดังนี้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้แล ชื่อว่า เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยความไวแห่งปัญญา.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีเนื้อนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

- บาลี พระพุทธภาษิต ติก.อํ. 20/319/536, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง