[Font : 15 ]
| |
ทุกแง่มุมที่เกี่ยวกับอกุศลมูล |  

ภิกษุ ท.! อกุศลมูล 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่างเหล่าไหนเล่า? 3 อย่างคือโลภะ เป็นอกุศลมูล โทสะเป็นอกุศลมูล โมหะเป็นอกุศลมูล.

ภิกษุ ท .! แม้โลภะ นั้น ก็เป็น อกุศล . คนโลภ แล้วประกอบกรรมใดทางกาย ทางวาจาทางใจ แม้กรรมนั้นก็เป็นอกุศล. คนโลภ ถูกความโลภครอบงำแล้ว มีจิตอันความโลภกลุ้มรุมแล้วทำความทุกข์ให้แก่ผู้อื่น โดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้ แม้กรรมนี้ก็เป็นอกุศล : อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนก ที่เกิดจากความโลภ มีความโลภเป็นเหตุ มีความโลภเป็นสมุทัยมีความโลภเป็นปัจจัย เหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นแก่เขา ด้วยอาการอย่างนี้.

(ในกรณีแห่งโทสะและโมหะ ก็ได้ตรัสไว้ด้วยข้อความทำนองเดียวกันอย่างที่กล่าวได้ว่าทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น).

ภิกษุ ท.! บุคคลชนิดนี้นั้น ควรถูกเรียกว่าเป็น อกาลวาทีบ้าง อภูตวาทีบ้าง อนัตถวาทีบ้าง อธัมมวาทีบ้าง อวินยวาทีบ้าง. เพราะเหตุไร จึงควรถูกเรียกอย่างนั้น? เพราะเหตุว่าบุคคลนี้ทำ ความทุกข์ให้แก่ผู้อื่นโดยที่ไม่ควรจะมี ด้วยการฆ่าบ้าง ด้วยการจองจำบ้าง ด้วยการให้เสื่อมเสียบ้าง ด้วยการติเตียนบ้าง ด้วยการขับไล่บ้าง โดยการถือว่า เรามีกำลังเหนือกว่า ดังนี้; และเมื่อเขาถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องที่เป็นจริง ก็บิดพลิ้วไม่ยอมรับ; เมื่อถูกกล่าวหาอยู่ด้วยเรื่องที่ไม่เป็นจริง ก็ไม่พยายามที่จะทำให้แจ้งชัดออกไปว่า นั่นไม่ตรง นั่นไม่จริงอย่างนี้ ๆ. เพราะฉะนั้นบุคคลชนิดนี้ จึงควรถูกเรียกว่า เป็นอกาลวาทีบ้าง อภูติวาทีบ้าง อนัตถวาทีบ้าง อธัมมวาทีบ้าง อวินยวาทีบ้าง,

ภิกษุ ท.! บุคคลชนิดนี้ ถูกอกุศลธรรมอันลามกซึ่งเกิดมาจากความโลภครอบงำแล้ว มีจิตอันอกุศลธรรมอันลามกที่เกิดจากโลภะกลุ้มรุมแล้ว ย่อมอยู่เป็นทุกข์ มีความลำบาก มีความคับแค้น มีความเร่าร้อน ในทิฏฐธรรมนั่นเทียว, ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ย่อมหวังได้แต่ทุคติ. (ในกรณีแห่งความโกรธและความหลง ก็ตรัสไว้โดยข้อความทำนองเดียวกัน อย่างที่กล่าวได้ว่าทุกตัวอักษร ผิดกันแต่ชื่อเท่านั้น). ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนต้นไม้ใหญ่ ๆ เช่น ต้นสาละ ตันธวะ หรือต้นผันทนะก็ดี ถูกเครือเถามาลุวาสามชนิดขึ้นคลุมแล้ว รัดรึงแล้ว ย่อมถึงความพินาศฉิบหาย, ฉันใดก็ฉันนั้น.

ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล อกุศลมูล 3 อย่าง.

(พระองค์ยังได้ตรัสข้อความเป็นปฏิปักขนัยฝ่ายตรงกันข้ามอีก ซึ่งผู้ศึกษาหาดูได้จากหัวข้อว่า "ปรินิพพานในทิฏฐธรรมด้วยการตัดอกุศลมูล" ในภาค 3 แห่งหนังสือเล่ามนี้).

- ติก. อํ. 20/258/509.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง