[Font : 15 ]
| |
อุปมาแห่งการคำนวณความเป็นอนิจจัง |  

ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง (อนิจฺจ) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน (อธุว) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ (อนสฺสาสิก). ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! ขุนเขาสิเนรุ โดยยาว 84,000 โยชน์ โดยกว้าง 84,000 โยชน์ หยั่งลงในมหาสมุทร 84,000 โยชน์ สูงขึ้นจากผิวพื้นสมุทร 84,000 โยชน์ :-

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งล่วงไปหลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี ที่ ฝนไม่ตกเลย. เมื่อฝนไม่ตก (ตลอดเวลาเท่านี้), ป่าใหญ่ ๆ อันประกอบด้วยพืชคามภูตคามไม้หยูกยาและหญ้าทั้งหลาย ย่อมเฉา ย่อมเหี่ยวแห้ง มีอยู่ไม่ได้ (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่ 2 ย่อมปรากฏ. เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 2 ปรากฏ, แม่น้ำน้อย หนอง บึง ทั้งหมดก็งวดแห้งไป ไม่มีอยู่ (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่ 3 ย่อมปรากฏ. เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 3 ปรากฏ, แม่น้ำสายใหญ่ ๆ เช่นแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดก็งวดแห้งไป ไม่มีอยู่ (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่ 4 ย่อมปรากฏ. เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 4 ปรากฏ, มหาสระทั้งหลาย อันเป็นที่เกิดแห่งแม่น้ำใหญ่ ๆ เช่นแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี มหาสระเหล่านั้นทั้งหมดก็งวดแห้งไป ไม่มีอยู่ (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่ 5 ย่อมปรากฏ. เมื่อดวงอาทิตย์ดวงที่ 5 ปรากฏ, น้ำในมหาสมุทรอันลึกร้อยโยชน์ ก็งวดลง น้ำในมหาสมุทรอันลึก สอง - สาม - สี่ - ห้า -หก - เจ็ดร้อยโยชน์ก็งวดลง เหลืออยู่เพียงเจ็ดชั่วต้นตาล ก็มี เหลืออยู่เพียง หก - ห้า - สี่ - สาม - สอง กระทั่ง หนึ่งชั่วต้นตาล ก็มี งวดลง เหลือเพียงเจ็ดชั่วบุรุษ ก็มี เหลืออยู่เพียง หก - ห้า - สี่ - สาม -สอง - หนึ่ง กระทั่ง ครึ่งหนึ่งชั่วบุรุษ ก็มี งวดลง เหลืออยู่เพียงแค่สะเอว เพียง แค่เข่า เพียง แค่ข้อเท้า กระทั่งเหลืออยู่ ลึกเท่าน้ำในรอยเท้าโคในที่นั้น ๆ เช่นเดียวกับน้ำในรอยเท้าโคเมื่อฝนเม็ดใหญ่เริ่มตกในฤดูสารท ลงมาในที่นั้น ๆ. ภิกษุ ท. ! เพราะการปรากฏแห่งอาทิตย์ดวงที่ห้า น้ำในมหาสมุทรไม่มีอยู่แม้สักว่าองคุลีเดียว (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล อาทิตย์ดวงที่ 6 ย่อมปรากฏ. เพราะความปรากฏแห่งอาทิตย์ดวงที่ 6, มหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ ก็มีควันขึ้น มีควันขึ้น ยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น เปรียบเหมือนเตาเผาหม้อ อันนายช่างหม้อสุมไฟแล้ว ย่อมมีควันขึ้นโขมง ยิ่งขึ้นและยิ่งขึ้น ฉะนั้น (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! มีสมัยซึ่งในกาลบางครั้งบางคราว โดยการล่วงไปแห่งกาลนานไกล ดวงอาทิตย์ดวงที่ 7 ย่อมปรากฏ. เพราะความปรากฏแห่งอาทิตย์ดวงที่ 7, มหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมีไฟลุก โพลง ๆ มีเปลวเป็นอันเดียวกัน. เมื่อมหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ อันไฟเผาอยู่ ไหม้อยู่อย่างนี้ เปลวไฟถูกลมซัดขึ้นไป จนถึงพรหมโลก. ภิกษุ ท. ! เมื่อขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาอยู่ ไหม้อยู่ วินาศอยู่ อันกองไฟท่วมทับแล้ว, ยอดทั้งหลายอันสูงร้อยโยชน์บ้าง สอง - สาม - สี่ - ห้าร้อยโยชน์บ้าง ก็พังทำลายไป. ภิกษุ ท. ! เมื่อมหาปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุอันไฟเผาอยู่ ไหม้อยู่, ขี้เถ้าและเขม่า ย่อมไม่ปรากฏ เหมือนเมื่อเนยใส หรือน้ำมันถูกเผา ขี้เถ้าและเขม่า ย่อมไม่ปรากฏ ฉะนั้น (นี้ฉันใด) ; ภิกษุ ท. ! สังขารทั้งหลาย ไม่เที่ยง ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย ไม่ยั่งยืน ฉันนั้น, สังขารทั้งหลาย เป็นสิ่งที่หวังอะไรไม่ได้ ฉันนั้น. ภิกษุ ท. ! เพียงเท่านี้ก็พอแล้วเพื่อจะเบื่อหน่ายในสังขารทั้งปวง พอแล้วเพื่อจะคลายกำหนัด พอแล้วเพื่อจะปล่อยวาง.

ภิกษุ ท. ! ในข้อความนั้น ใครจะคิด ใครจะเชื่อ ว่า “ปฐพีนี้และขุนเขาสิเนรุ จักลุกไหม้ จักวินาศ จักสูญสิ้นไปได้” นอกเสียจาก พวกมีบทอันเห็นแล้ว.

- สตฺตก. อํ. 23/102 - 105/63.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง