[Font : 15 ]
| |
ผู้ออกหาวิเวกธรรม |  

ภิกษุ ท.! กิจที่พวกเธอต้องทำให้ยิ่งขึ้นไปอีกเป็นลำดับนั้น คืออะไร?

ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ มาเสพเสนาสนะอันสงัด คือป่า โคนไม้ ภูเขา ลำธาร ท้องถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง กองฟาง (อย่างใดอย่างหนึ่ง) ในเวลาภายหลังอาหาร เธอกลับจากบิณฑบาตแล้ว นั่งคู้บัลลังก์ (ขัดสมาธิ) ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า. เธอ ละอภิชฌาในโลก มีจิตปราศจากอภิชฌา คอยชำระจิตจากอภิชฌา; ละพยาบาท มีจิตปราศจากพยาบาท เป็นผู้กรุณามีจิตหวังความเกื้อกูล ในสัตว์ทั้งหลาย คอยชำระจิตพยาบาท; ละถีนมิทธะ มุ่งอยู่แต่ความสว่างในใจ มีจิตปราศจากถีนมิทธะ มีสติสัปชัญญะรู้สึกตัว คอยชำระจิตจากถีนมิทธะ; ละอุทธัจจกุกกุจจะ ไม่ฟุ้งซ่าน มีจิตสงบอยู่ในภายใน คอยชำระจิตจากอุทธัจจกุกกุจจะ; ละวิจิกิจฉา ข้ามล่วงวิจิกิจฉาเสียได้ ไม่ต้องกล่าวว่า "นี่อะไร นี่อย่างไร" ในกุศลธรรมทั้งหลาย (เพราะความสงสัย) คอยชำระจิต จากวิจิกิจฉา.

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่ง กู้หนี้เขา ไปทำการงานสำเร็จผล ใช้หนี้ต้นทุนเดิมหมดแล้ว กำไรยังเหลือพอเลี้ยงภรรยาได้ถมไป; เขาคงคำนึงถึงโชคลาภว่า "เมื่อก่อนเรากู้หนี้เขาไปทำการงานสำเร็จผล ใช้หนี้ต้นทุนเดิมหมดแล้ว กำไรยังเหบือพอเลี้ยงภรรยาได้ถมไป" ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์ บันเทิงใจ โสมนัส เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด (นี้อย่างหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่ง ป่วยไข้หนัก ทนทุกข์ อาหารไม่ตก กำลังน้อย. ครั้นเวลาอื่น เขาหายจากไข้นั้น อาหารก็ตั้ง กำลังก็มี; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าว่า "เมื่อก่อน เราป่วยไข้หนัก ทนทุกข์ อาหารก็ไม่ตก กำลังน้อยลง บัดนี้เราหายจากไข้นั้น อาหารก็ตั้ง กำลังก็มีมา "ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจ โสมนัส เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด (นี้อย่างหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่ง ติดเรือนจำ ครั้นเวลาอื่นเขาหลุดจากเรือนจำโดยสะดวก ไม่มีภัย ไม่เสียทรัพย์; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า "เมื่อก่อน เราติดเรือนจำ บัดนี้ เราหลุดมาได้โดยสะดวก ไม่มีภัย ไม่เสียทรัพย์" ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจ โสมนัส เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด (นี้อย่างหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนชายผู้หนึ่ง เป็นทาสเขา พึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจไม่ได้. ครั้นถึงสมัยอื่น เขาพ้นจากการเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจได้; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า "เมื่อก่อนเราเป็นทาส พึ่งตัวเองไม่ด้ ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวอำเภอใจไม่ได้ ครั้นถึงสมัยอื่น เราพ้นจากการเป็นทาส พึ่งตัวเองได้ ไม่ต้องพึ่งผู้อื่น เที่ยวตามอำเภอใจได้" ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์บันเทิงใจ โสมนัส เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด (นี้อย่างหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! เปรียบเหมือนชายอีกผู้หนึ่ง นำทรัพย์เดินทางไกล อันกันดาร ครั้นพ้นทางกันดารได้ โดยสะดวก ไม่มีภัย ไม่ตอ้งเสียโภคทรัพย์; เขาต้องนึกถึงกาลเก่าอย่างนี้ว่า "เมื่อก่อน เรานำทรัพย์ เดินทางไกลอันกันดาร ครั้นพ้นทางกันดาร ไม่มีภัย ไม่ต้องเสียโภคทรัพย์" ดังนี้, เขาย่อมปราโมทย์ บันเทิงใจ โสมนัส เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ ฉันใด (นี้อย่างหนึ่ง)

ภิกษุ ท.! ภิกษุ พิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ตนยังละไม่ได้ว่า เป็นเช่นกับการกู้หนี้ เช่น กับการเป็นโรค เช่นกับการติดเรือนจำ เช่นกับการเป็นทาส และการนำทรัพย์ข้ามทางกันดาร, และเธอพิจารณาเห็นนิวรณ์ 5 ประการ ที่ละเสียได้แล้วในตนเอง เป็นเช่นกับการหมดหนี้ การหมดโรค การหลุดจากเรือนจำ การพ้นจากทาส การบรรลุถึงที่พ้นภัย (เธอย่อมปราโมทย์บันเทิงใจ โสมนัสเพราะข้อนั้นเป็นเหตุ) ฉันนั้นเหมือนกันแล.

- บาลี พระพุทธภาษิต มหาอัสสปุรสูตร มู.ม. 12/502/469.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง