[Font : 15 ]
| |
อัฏฐังคิกมรรค ชนิดที่แน่นอนว่าป้องกันการแสวงหาผิด |  

ภิกษุ ท. ! การแสวงหา (เอสนา) 3 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 3 อย่าง อย่างไรเล่า ? 3 อย่างคือ การแสวงหากาม (กาเมสนา) การแสวงหาภพ (ภเวสนา) การแสวงหาพรหมจรรย์ (พฺรหฺมจริเยสนา). ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล การแสวงหา 3 อย่าง.

ภิกษุ ท. ! เพื่อความรู้ยิ่ง (อภิญฺญา) ซึ่งการแสวงหา 3 อย่างเหล่านี้ บุคคลควรเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรค. อริยอัฏฐังคิกมรรค ชนิดไหนกันเล่า ? ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ ย่อม เจริญสัมมาทิฏฐิ …. สัมมาสังกัปปะ …. สัมมาวาจา …. สัมมากัมมันตะ …. สัมมาอาชีวะ …. สัมมาวายามะ …. สัมมาสติ …. สัมมาสมาธิ ชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดลง. ภิกษุ ท. ! เพื่อความรู้ยิ่ง ซึ่งการแสวงหา 3 อย่างเหล่านี้แล บุคคลควรเจริญอริยอัฏฐังคิกมรรค.

[คำว่า “เพื่อรู้ยิ่ง” ในสูตรนี้ ในสูตรอื่นทรงแสดงไว้ด้วยคำว่า “เพื่อความรอบรู้ (ปริญฺญา)” ก็มี ด้วยคำว่า “เพื่อความสิ้นไปรอบ (ปริกฺขย)” ก็มี ด้วยคำว่า “เพื่อการละเสีย (ปหาน)” ก็มี.

สำหรับคำว่า เจริญอริยอัฏฐังคิกมรรคชนิดที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ เป็นต้นนั้น ในกรณีนี้ ในสูตรอื่นตรัสว่า เจริญอริยอัฏฐังคิกมรรคชนิดที่ มีการนำออกซึ่ง ราคะ - โทสะ - โมหะ เป็นปริโยสาน ชนิดที่ มีการหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นเบื้องหน้า มีอมตะเป็นปริโยสาน หรือชนิดที่ มีการลาด - เอียง - เงื้อมไปสู่นิพพาน ทำนองเดียวกับหลายหัวข้อหลังจากหัวข้อนี้ไป ก็มี.

สำหรับคำว่า พรหมจรรย์ ในกรณีนี้แห่งการแสวงหานี้ หมายถึงพรหมจรรย์ฝ่ายผิด ซึ่งเป็นสีลัพพัตตปรามาส เพราะมาในเครือเดียวกันกับกามและภพ.

สำหรับสิ่งที่ต้องกำหนดรู้แล้วละเสีย ซึ่งเรียว่า เอสนา (การแสวงหา) ในสูตรนี้นั้น ในสูตรอื่นทรงแสดงไว้โดยชื่ออื่น สำหรับการกำหนดรู้แล้วละเสียเช่นเดียวกัน ได้แก่ :-

วิธา (ความรู้สึกยึดถือที่ทำให้เกิดการเปรียบเทียบว่า เลวกว่า เสมอกัน ดีกว่า) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

อาสวะ (คือกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

ภพ (คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

ทุกขตา (คือทุกข์เพราะทุกข์ ทุกข์เพราะปรุงแต่ง ทุกข์เพราะแปรปรวน) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

ขีละ (ตะปูตรึงจิต คือ ราคะ โทสะ โมหะ) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

มละ (มลทินของจิต คือ ราคะ โทสะ โมหะ) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

นิฆะ (สิ่งกระทบจิต คือ ราคะ โทสะ โมหะ) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

เวทนา (คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

ตัณหา (คือ กามตัณหา ภวตัณหา วิภวตัณหา) 3 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

โอฆะ (กิเลสท่วมจิต คือกาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา) 4 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

โยคะ (กิเลสรัดรึงจิต คือ กาม ภพ ทิฏฐิ อวิชชา) 4 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

อุปาทาน (ความยึดมั่นด้วยกาม - ทิฏฐิ - สีลพรต - อัตตวาท) 4 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

คันถะ (สิ่งร้อยรัดนามกาย คือ อภิชฌา - พยาบาท - สีลพรต - สัจจะเฉพาะตน) 4 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

อนุสัย (กิเลสเคยชินอยู่ในสันดาน คือ กามราคะ ปฏิฆะ ทิฏฐิ วิจิกิจฉา มานะ ภวราคะ อวิชชา) 7 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

กามคุณ (คือรูป - เสียง - กลิ่น - รส - โผฏฐัพพะ อันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด) 5 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

นิวรณ์ (กิเลสปิดกั้นจิต คือ กามฉันทะ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา) 5 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

อุปาทานขันธ์ (ขันธ์คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันมีอุปาทานยึดครอง) 5 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

โอรัมภาคิยสังโยชน์ (กิเลสเครื่องร้อยรัดสัตว์เป็นไปในภพเบื้องต่ำ คือสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส กามฉันทะ พยาบาท) 5 อย่าง ดังนี้ก็มี ;

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ (กิเลสเครื่องร้อยรัดสัตว์เป็นไปในภพเบื้องบน คือรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา) 5 อย่าง ดังนี้ก็มี.]

- มหาวาร. สํ. 19/81 - 92/298 - 354/span>.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง