[Font : 15 ]
| |
ปฏิปทาเพื่อละโอรัมภาคิยสังโยชน์ ก็คือมรรค |  

อานนท์ ! มรรคใด ปฏิปทาใด เป็นไปเพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 มีอยู่ ; การที่บุคคลจะไม่อาศัย ซึ่งมรรคนั้น ซึ่งปฏิปทานั้น แล้วจักรู้จักเห็นหรือว่าจักละ ซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น : นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้ ; เช่นเดียวกับการที่บุคคลไม่ถากเปือก ไม่ถากกระพี้ ของต้นไม้ใหญ่มีแก่นยืนต้นอยู่ เสียก่อน แล้วจักไปถากเอาแก่นนั้น : นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้, ฉันใดก็ฉันนั้น. ….

อานนท์ ! มรรค และ ปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?

อานนท์ ! ภิกษุในกรณีนี้ เพราะสงัดจากอุปธิ เพราะละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย เพราะความระงับเฉพาะแห่งความหยาบกระด้างทางกายโดยประการทั้งปวง ก็สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย เข้าถึงปฐมฌาน อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดจากวิเวก แล้วแลอยู่. ในปฐมฌานนั้น มีธรรมคือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่) ; เธอนั้น ตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้น โดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น (ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน. เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์ทั้ง 5) เหล่านั้น (อันประกอบด้วยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น) แล้วจึง น้อมจิตไปสู่อมตธาตุ (คือนิพพาน) ด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้ เขาดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีปฐมฌานเป็นบาทนั้น ย่อม ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ อนาคามี ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์มีในเบื้องต่ำ 5 ประการ และเพราะอำนาจแห่งธัมมราคะ ธัมมนันทิ (อันเกิดจากการกำหนดจิตในอมตธาตุ) นั้น ๆ นั่นเอง.

อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความเข้าไปสงบระงับเสียได้ซึ่งวิตกและวิจาร จึง เข้าถึงทุติยฌาน เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน ให้สมาธิเป็นธรรมอันเอกผุดมีขึ้น ไม่มีวิตก ไม่มีวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดจากสมาธิ แล้วแลอยู่. …. ฯลฯ …. (ข้อความตรงที่ละเปยยาลไว้นี้ มีเนื้อความเต็มเหมือนในตอนที่กล่าวถึงปฐมฌานข้างบนนั้น ทุกตัวอักษร แปลกแต่คำว่าปฐมฌานเป็นทุติยฌานเท่านั้น แม้ข้อความที่ละเปยยาลไว้ในตอนตติยฌานและจตุตถฌาน ก็พึงทราบโดยนัยนี้ ผู้ศึกษาพึงเติมให้เต็มเอาเอง ; จนกระทั่งถึงข้อความว่า) …. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ ย่อมเป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยความสุขด้วยนามกาย ชนิดที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ย่อมกล่าวสรรเสริญผู้นั้นว่า “เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นปรกติสุข” ดังนี้ เข้าถึงตติยฌาน แล้วแลอยู่. …. ฯลฯ …. (มีเนื้อความเต็มดุจในตอนปฐมฌาน) …. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุข เสียได้ และ เพราะละทุกข์ เสียได้ เพราะ ความดับไปแห่งโสมนัสและโทมนัสทั้งสอง ในกาลก่อน เข้าถึงจตุตถฌาน ไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. …. ฯลฯ …. (มีเนื้อความเต็มดุจในตอนปฐมฌาน) …. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะก้าวล่วงรูปสัญญา เสียได้โดยประการทั้งปวง เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะการไม่ใส่ใจซึ่งนานัตตสัญญา จึง เข้าถึงอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า อากาศไม่มีที่สุด ดังนี้ แล้วแลอยู่. ในอากาสานัญจายตนะนั้น มีธรรม คือเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ที่กำลังทำหน้าที่อยู่)22.2 ; เธอนั้น ตามเห็นซึ่งธรรมเหล่านั้นโดยความเป็นของไม่เที่ยง โดยความเป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นหัวฝี เป็นลูกศร เป็นความยากลำบาก เป็นอาพาธ เป็นดังผู้อื่น (ให้ยืมมา) เป็นของแตกสลาย เป็นของว่าง เป็นของไม่ใช่ตน เธอดำรงจิตด้วยธรรม (คือขันธ์ทั้ง 4) เหล่านั้น (อันประกอบด้วยลักษณะ 11 ประการ มีอนิจจลักษณะเป็นต้น) แล้วจึง น้อมจิตไปสู่อมตธาตุ (คือนิพพาน) ด้วยการกำหนดว่า “นั่นสงบระงับ นั่นประณีต : นั่นคือธรรมชาติเป็นที่สงบระงับแห่งสังขารทั้งปวง เป็นที่สลัดคืนซึ่งอุปธิทั้งปวง เป็นที่สิ้นไปแห่งตัณหา เป็นความจางคลาย เป็นความดับ เป็นนิพพาน” ดังนี้. เธอดำรงอยู่ในวิปัสสนาญาณมีอากาสานัญจายตนะเป็นบาทนั้น ย่อม ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ; ถ้าไม่ถึงความสิ้นไปแห่งอาสวะ ก็เป็น โอปปาติกะ อนาคามี ผู้ปรินิพพานในภพนั้น มีการไม่เวียนกลับจากโลกนั้นเป็นธรรมดา เพราะความสิ้นไปแห่งสังโยชน์ มีในเบื้องต่ำ 5 ประการ และเพราะอำนาจแห่งธัมมราคะ ธัมมนันทิ (อันเกิดจากการกำหนดจิตในอมตธาตุ) นั้น ๆ นั่นเอง. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะผ่านพ้นอากาสานัญจายตนะ โดยประการทั้งปวงเสียแล้ว จึง เข้าถึงวิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า “วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด” แล้วแลอยู่. …. ฯลฯ …. (ข้อความตรงละเปยยาลไว้นี้ มีข้อความที่ตรัสไว้เหมือนในตอนที่ตรัสถึงเรื่องอากาสานัญจายตนะข้างบนนี้ ทุกตัวอักษร แปลกแต่เปลี่ยนจากอากาสานัญจายตนะ มาเป็นวิญญาณัญจายตนะเท่านั้น แม้ในตอนอากิญจัญญายตนะที่ละไว้ ก็พึงทราบโดยนัยนี้, จนกระทั่งถึงข้อความว่า) …. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

อานนท์ ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะผ่านพ้นวิญญาณัญจายตนะ โดยประการทั้งปวงเสียแล้ว จึง เข้าถึงอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า “อะไร ๆ ไม่มี” ดังนี้ แล้วแลอยู่. …. ฯลฯ …. (มีเนื้อความเต็มดุจในตอนอากาสานัญจายตนะ) …. อานนท์ ! แม้นี้แล ก็เป็นมรรค เป็นปฏิปทา เพื่อละเสียซึ่งโอรัมภาคิยสังโยชน์ 5 นั้น.

- ม. ม. 13/157 - 161/152 - 158.

(สรุปความว่า มรรคหรือปฏิปทานี้ ละโอรัมภาคิยสังโยชน์ได้ เพราะการเห็นอนิจจตา กระทั่งถึง อนัตตตา รวมเป็น 11 ลักษณะ ในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปรากฏอยู่ในขณะแห่งรูปฌานทั้ง 4 แต่ละฌาน ๆ ; และเห็นธรรม 11 อย่างนั้นอย่างเดียวกันในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันปรากฏอยู่ในขณะแห่งอรูปฌาน 3 ข้างต้น แต่ละฌาน ๆ เว้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเสีย ; นับว่าเป็นธรรมที่ละเอียดสุขุมที่สุด. ผู้ศึกษาพึงใคร่ครวญให้เป็นอย่างดีตรงที่ว่า มีขันธ์ 5 หรือ ขันธ์ 4 อยู่ที่จิตในขณะที่มีฌาน ดังนี้).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง