[Font : 15 ]
| |
เหตุให้เกิดและเจริญ แห่งอาทิพรหมจริยิกปัญญา |  

ภิกษุ ท. ! เหตุ 8 ประการ ปัจจัย 8 ประการ เหล่านี้ มีอยู่ เพื่อการได้เฉพาะซึ่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกา (ปัญญาที่ต้องมีในเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์) ที่ยังไม่เคยได้, เป็นไปพร้อม เพื่อความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความทำให้เจริญ ความเต็มรอบ แห่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกาที่ได้แล้ว. 8 ประการ อย่างไรเล่า ? 8 ประการคือ :-

1. ภิกษุ ท. ! ภิกษุในกรณีนี้ เข้าไปอาศัยซึ่งพระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพ รูปใดรูปหนึ่ง อันเป็นที่ซึ่งหิริและโอตตัปปะ ความรักและความเคารพ ของภิกษุนั้นจะตั้งอยู่อย่างแรงกล้า : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 1.

2. ภิกษุนั้น ครั้นเข้าไปอาศัยซึ่งพระศาสดา หรือเพื่อนสพรหมจารีผู้เป็นที่ตั้งแห่งความเคารพรูปใดรูปหนึ่ง จนกระทั่งหิริและโอตตัปปะ ความรักและความเคารพของภิกษุนั้น ตั้งอยู่อย่างแรงกล้าแล้ว เธอนั้น ก็ เข้าไปซักไซ้ สอบถามปัญหา ตามกาละอันควร ว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ! ข้อนี้ เป็นอย่างไร ? ความหมายแห่งข้อนี้ เป็นอย่างไร ?” ดังนี้. ท่านผู้มีอายุเหล่านั้น ย่อมเปิดเผยสิ่งที่ยังไม่เปิดเผย ย่อมทำให้ตื้นสิ่งที่ยังไม่ได้ทำให้ตื้น ย่อมบรรเทาความสงสัยในธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความสงสัยมีอย่างต่าง ๆ แก่ภิกษุนั้น : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 2.

3. ภิกษุนั้น ครั้นฟังธรรมนั้นแล้ว ย่อมทำตนให้ถึงพร้อมด้วยการหลีกออก 2 อย่าง คือการหลีกออกทางกาย และการหลีกออกทางจิต : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 3.

4. ภิกษุนั้น เป็นผู้มีศีล สำรวมด้วยปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยมรรยาทและโคจร มีปกติเห็นเป็นภัยในโทษทั้งหลาย แม้ที่ถือกันว่าเป็นโทษเล็กน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 4.

5. ภิกษุนั้น เป็นพหูสูต ทรงจำธรรมที่ฟังแล้ว สั่งสมธรรมที่ฟังแล้ว : ธรรมเหล่าใด มีความงามในเบื้องต้น มีความงามในท่ามกลาง มีความงามในที่สุด แสดงพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถะพร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง, ธรรมเหล่านั้น อันเธอได้ฟังมามากแล้ว จำได้ ว่าได้คล่องแคล่วด้วยวาจา มองเห็นตามด้วยใจ เจาะแทงตลอดอย่างดีด้วยความเห็น : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 5.

6. ภิกษุนั้น เป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรมทั้งหลาย เพื่อความถึงพร้อมแห่งกุศลธรรมทั้งหลาย เป็นผู้มีกำลัง (จิต) มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดทิ้งธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 6.

7. ภิกษุนั้น ไปสู่หมู่สงฆ์แล้ว ไม่พูดเรื่องนอกเรื่อง ไม่กล่าวดิรัจฉานกถา กล่าวธรรมเองบ้าง เชื้อเชิญผู้อื่นให้กล่าวบ้าง ไม่ดูหมิ่นความนิ่งอย่างพระอริยเจ้าxx14.10 : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 7.

8. ภิกษุนั้น มีปกติตามเห็นความเกิดขึ้นและความเสื่อมไป ในอุปาทานขันธ์ทั้งห้า อยู่ว่า “รูป เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดรูป เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งรูป เป็นอย่างนี้ ; เวทนา เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดเวทนา เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งเวทนา เป็นอย่างนี้ ; สัญญา เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดสัญญา เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งสัญญา เป็นอย่างนี้ ; สังขาร เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดสังขาร เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งสังขาร เป็นอย่างนี้ ; วิญญาณ เป็นอย่างนี้, เหตุให้เกิดวิญญาณ เป็นอย่างนี้, ความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งวิญญาณ เป็นอย่างนี้” ดังนี้ : ภิกษุ ท. ! นี้ เป็น เหตุปัจจัยประการที่ 8.

…. ภิกษุ ท. ! เหตุ 8 ประการ ปัจจัย 8 ประการ เหล่านี้แล มีอยู่ เพื่อการได้เฉพาะซึ่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกา (ปัญญาที่ต้องมีในเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์) ที่ยังไม่เคยได้, เป็นไปพร้อม เพื่อความงอกงามยิ่งขึ้น ความไพบูลย์ ความทำให้เจริญ ความเต็มรอบ แห่งปัญญาอันเป็นอาทิพรหมจริยิกาที่ได้แล้ว.

- อฏฺฐก. อํ. 23/152 - 156/92.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง