[Font : 15 ]
| |
ฉ. สามารถควบคุมความรู้สึกเกี่ยวกับความปฏิกูล |  

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่าปฏิกูลในสิ่งที่ไม่เป็นปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า การเจริญอานาปานสติช่วยให้พิจารณาเห็นสังขารที่ไม่เป็นปฏิกูลโดยสีและกลิ่นเป็นต้น แต่มีความเป็นปฏิกูลโดยความเป็นมายา ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา และปรุงแต่งให้เกิดทุกข์ ดังนี้เป็นต้น).

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี่แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า อานาปานสติทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องว่าการปฏิกูลนั้น ที่แท้ไม่ใช่ปฏิกูลเพราะกลิ่นและสีน่าเกลียด หากแต่ว่าเป็นปฏิกูลตรงที่เป็นมายา และทำให้เกิดทุกข์ ฉะนั้น สิ่งที่มีสีและกลิ่นอันน่าเกลียด ถ้ามิได้เป็นเหตุให้เกิดกิเลสหรือเกิดทุกข์แล้ว ก็หาใช่สิ่งที่ปฏิกูลไม่).

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล และทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า สติและญาณ ในอานาปานสติสามารถทำให้เห็นความน่าขยะแขยง เพราะทำให้เกิดความทุกข์ทรมาน ว่ามีอยู่ทั้งในสิ่งที่ตามธรรมดาถือกันว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูล หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็ได้ว่า ไม่ควรถือเป็นตัวตนหรือของตน ทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งที่ไม่ปฏิกูล).

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้มีสัญญาว่า ไม่ปฏิกูลทั้งในสิ่งที่ปฏิกูลและในสิ่งไม่ปฏิกูลอยู่เถิด” ดังนี้ แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า สติและญาณในอานาปานสติขั้นสูง ที่สามารถทำให้เห็นสุญญตา ย่อมสามารถทำให้วางเฉยได้ทั้งในสิ่งที่ปฏิกูล และสิ่งที่ไม่ปฏิกูลอยู่โดยเสมอกัน).

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ถ้าภิกษุปรารถนาว่า “เราพึงเป็นผู้เว้นขาดจากความรู้สึกว่าปฏิกูล และความรู้สึกว่าไม่เป็นปฏิกูลทั้ง 2 อย่าง เสียโดยเด็ดขาดแล้ว เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติสัมปชัญญะอยู่เถิด” ดังนี้แล้วไซร้ ; อานาปานสติสมาธินี้แหละ อันภิกษุนั้นพึงทำไว้ในใจให้เป็นอย่างดี.

(ข้อนี้หมายความว่า ในขั้นที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ และอยู่ด้วยอุเบกขาจริง ๆ นั้น ย่อมไม่มีความรู้สึกว่าปฏิกูลและไม่ปฏิกูลทั้ง 2 อย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นผลของอานาปานสติขั้นสูง กล่าวคือจตุกกะที่ 4 ที่ทำให้เห็นความว่างจากตัวตน หรือว่างจากความหมายอันเป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ โดยประการทั้งปวงจริง ๆ แล้ว).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง