[Font : 15 ]
| |
อัฏฐังคิกมรรค ในฐานะเป็นกัมมนิโรธคามินีปฏิปทา |  

ภิกษุ ท. ! เราจักแสดงซึ่ง กรรมทั้งหลายทั้งใหม่และเก่า (นวปุราณกัมม) กัมมนิโรธ และกัมมนิโรธคามินีปฏิปทา. ….

ภิกษุ ท. ! กรรมเก่า (ปุราณกัมม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! จักษุ …. โสตะ …. ฆานะ …. ชิวหา …. กายะ …. มนะ อันเธอ ท. พึงเห็นว่าเป็นปุราณกัมม (กรรมเก่า) อภิสังขตะ (อันปัจจัยปรุงแต่งขึ้น) อภิสัญเจตยิตะ (อันปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น) เวทนียะ (มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้). ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กรรมเก่า.

ภิกษุ ท. ! กรรมใหม่ (นวกัมม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อที่บุคคลกระทำกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ ในกาลบัดนี้ อันใด, อันนี้ เรียกว่า กรรมใหม่.

ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธ (ความดับแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อที่บุคคลถูกต้องวิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม อันใด, อันนี้เรียกว่า กัมมนิโรธ.

ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ? กัมมนิโรธคามินีปฏิปทานั้น คืออริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นเอง ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ภิกษุ ท. ! นี้เรียกว่า กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา.

ภิกษุ ท. ! ด้วยประการดังนี้แล (เป็นอันว่า) กรรมเก่า เราได้แสดงแล้ว แก่เธอ ท., กรรมใหม่ เราก็แสดงแล้ว, กัมมนิโรธ เราก็แสดงแล้ว, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เราก็แสดงแล้ว. ภิกษุ ท. ! กิจอันใด ที่ศาสดาผู้เอ็นดู แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล อาศัยความเอ็นดูแล้ว จะพึงทำแก่สาวกทั้งหลาย, กิจอันนั้น เราได้ทำแล้วแก่พวกเธอทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! นั่น โคนไม้ทั้งหลาย, นั่น เรือนว่างทั้งหลาย. ภิกษุ ท. ! พวกเธอทั้งหลาย จงเพียรเผากิเลส, อย่าได้ประมาท. พวกเธอทั้งหลาย อย่าได้เป็นผู้ที่ต้องร้อนใจในภายหลังเลย. นี่แล เป็นวาจาเครื่องพร่ำสอนพวกเธอทั้งหลายของเรา.

- สฬา. สํ. 18/166/227 - 231.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง