[Font : 15 ]
| |
นิวรณ์

1. พยัญชนะ : นิวรณ์โดยพยัญชนะ : คือ เครื่องปิดกั้น.

2. อรรถะ : นิวรณ์โดยอรรถะ : คือ เครื่องปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญ : คือความดี, ความสงบ, และนิพพาน ; มิได้หมายถึงการปิดกั้นหนทางแห่งกิเลสและความทุกข์.

3. ไวพจน์ : นิวรณ์โดยไวพจน์ : คือ อุปสรรค, ปลิโพธิ, ข้าศึก ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : นิวรณ์โดยองค์ประกอบ :

นัยที่ 1 : กิเลสประเภทอนุสัย : เป็นความเคยชินอยู่ในสันดานเกิดเป็นนิวรณ์ออกมาได้ โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกนี้อย่างหนึ่ง.

นัยที่ 2 : สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยภายนอก ที่เหมาะสมแก่การเกิดนิวรณ์ชนิดนั้นๆ เป็นชนิดๆ ไป นี้อีกอย่างหนึ่ง.

5. ลักษณะ : นิวรณ์โดยลักษณะ : มีลักษณะตามความหมายของคำซึ่งเป็นชื่อของนิวรณ์นั้นๆ ; แล้วมีลักษณะรวมกัน เป็นการปิดกั้นหนทางเดินของจิต ; ทั้งเมื่อมีการเป็นอยู่ตามปกติ และในขณะที่บำเพ็ญจิตตภาวนา.

6. อาการ :นิวรณ์โดยอาการ : คือ มีอาการสมตามชื่อแต่ละชื่อของนิวรณ์นั้นๆ :

กามฉันทะ : ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางกามหรือความพอใจ.

พยาบาท : ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโทสะ หรือความหงุดหงิด.

ถีนมิทธะ : ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโมหะ หรือความหดหู่ของจิต.

อุทธัจจกุกกุจจะ : ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโมหะ หรือความฟุ้งซ่านของจิต.

วิจิกิจฉา : ครุ่นอยู่ด้วยความรู้สึกทางโมหะ หรือความลังเลสงสัย ไม่แน่ใจ.

ทั้ง 5 อย่างนี้ มีอาการเหมือนกับรั่วไหลออกมาจากอนุสัย ที่สะสมอยู่ในสันดาน โดยไม่ต้องเจตนา.

7. ประเภท : นิวรณ์โดยประเภท :

นัยที่ 1 : นิวรณ์ในภาษาพูดของคนธรรมดา : หมายถึง ความกังวลใจ หรือความรำคาญใจ.

นัยที่ 2 : นิวรณ์ในภาษาศาสนา :

1. ระดับทั่วไป : หมายถึง นิวรณ์ห้าที่กล่าวแล้ว.

2. ระดับพิเศษ : หมายถึง สิ่งปิดกั้นหนทางพระนิพพาน.

8. กฎเกณฑ์ : นิวรณ์โดยกฎเกณฑ์ :

8.1 เกิดได้เองโดยสัญชาตญาณ ไม่ต้องอาศัยเจตนาหรือปัจจัยภายนอกก็เกิดได้.

8.2 เป็นสิ่งคู่กับอนุสัย เมื่อมีอนุสัยก็มีนิวรณ์.

8.3 มีความสัมพันธ์กับอนุสัยครบทั้งสามอนุสัย แม้มีจำนวนมากกว่าจำนวนอนุสัย.

9. สัจจะ : นิวรณ์โดยสัจจะ :

9.1 แน่นอนที่ต้องเป็นสมบัติของปุถุชน.

9.2 แน่นอนที่ต้องขุ่นมัวไม่แจ่มใส.

9.3 แน่นอนที่จะต้องกระสับการส่ายรำคาญ.

ทั้ง 3 อย่างนี้ปิดกั้นความแจ่มใสว่องไวของจิต.

10. หน้าที่ : นิวรณ์โดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของนิวรณ์ :

1. เป็นอาหารและโอกาสของอวิชชา.

2. รบกวนความสงบของจิต.

3. หล่อเลี้ยงกิเลส.

10.2 หน้าที่ของคนต่อนิวรณ์ : คือ “เช็ดแว่นตาอยู่เสมอ”.

11. อุปมา : นิวรณ์โดยอุปมา :

นัยที่ 1 : ในการทำลายความแจ่มใสของจิต :

1. กามฉันทะ : เหมือนน้ำเจือสีต่างๆ.

2. พยาบาท : เหมือนน้ำเดือดพล่าน.

3. ถีนมิทธะ : เหมือนน้ำมีสาหร่าย.

4. อุทธัจจกุกกุจจะ : เหมือนน้ำมีคลื่นระยิบระยับ.

5. วิจิกิจฉา : เหมือนน้ำในที่มืด.

ทั้งหมดนี้ล้วนแต่ไม่ให้ความใสกระจ่าง เพื่อการที่จะเห็นของที่อยู่ในน้ำ.

นัยที่ 2 : เมื่อกล่าวโดยปริมาณ : อุปมาการรบกวนของนิวรณ์เป็นเสมือนการรบกวนจากการไต่ตอมของแมลงหวี่ แมลงวัน ; แต่ไม่ถึงขนาดการต่อยของแมลงผึ้งหรือต่อแตน.

นัยที่ 3 : อีกอย่างหนึ่ง : อุปมาเหมือนกับสิ่งที่ทำให้แว่นตาฝ้ามัว ไม่มีความใสกระจ่างเพื่อการดู.

12. สมุทัย : นิวรณ์โดยสมุทัย :

12.1 อนุสัยที่มีอยู่ในสันดานของจิต.

12.2 ความเคยชินของความรู้สึกคิดนึก, ใต้สำนึก หรือกึ่งสำนึก, ของบุคคลที่ชอบคิดนึกอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่เป็นประจำ ; เป็นโอกาสหรือสมุทัยแห่งนิวรณ์เฉพาะบุคคลนั้นๆ.

13. อัตถังคมะ : นิวรณ์โดยอัตถังคมะ :

13.1 ความหยุดไหลหรือหยุดปรุงแต่งของอนุสัย.

13.2 ความเป็นสมาธิของจิต.

13.3 อัตถังคมะขั้นเด็ดขาด (นิโรธ) คือ อรหัตตมรรค.

14. อัสสาทะ : นิวรณ์โดยอัสสาทะ : คือ นิวรณ์เป็นอัสสาทะของคนพาล คนเขลา.

15. อาทีนวะ : นิวรณ์โดยอาทีนวะ :

15.1 ส่งเสริมให้อวิชชามีกำลังมากขึ้น.

15.2 รบกวนความสงบสุข.

15.3 เป็นอุปสรรคในการทำงานด้วยสมาธิ.

16. นิสสรณะ : นิวรณ์โดยนิสสรณะ :

16.1 การดำรงชีวิตอยู่ด้วยอริยมรรคมีองค์ 8 หรือด้วยความมีศีล สมาธิ ปัญญา.

16.2 มีธัมมปีติประจำอยู่ในจิตใจ.

17. ทางปฏิบัติ : นิวรณ์โดยทางปฏิบัติ :

17.1 การปฏิบัติที่ไม่เป็นการเพิ่ม แต่เป็นการลดละอนุสัย.

17.2 มีสติปัฏฐาน (การตั้งไว้ซึ่งสติ) ในทุกกรณีและทุกกาลเทศะ.

17.3 มีชีวิตอยู่โดยสัมมาวิหาร (อริยอัฏฐังคิกมรรค).

18. อานิสงส์ : นิวรณ์โดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ (โดยอ้อม) ของนิวรณ์ : คือ ให้เกิดบทเรียนหรือความสามารถในการเอาชนะนิวรณ์นั่นเอง.

18.2 อานิสงส์ (โดยตรง) ของความไม่มีนิวรณ์ : คือ ความมีชีวิตแจ่มใส ทำความโล่งเตียนให้แก่หนทางพระนิพพาน.

19. หนทางถลำ : นิวรณ์โดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปสู่ความมีนิวรณ์ :

1. ความเป็นอยู่อย่างไม่ควบคุมความรู้สึกของสัญชาตญาณ.

2. ความเป็นอยู่อย่างสะเพร่าหรือมักง่ายต่อทุกสิ่ง.

19.2 ออกจากอิทธิพลของนิวรณ์ :

1. มีความเป็นอยู่อย่างควบคุมความรู้สึกของสัญชาตญาณ.

2. ไม่มีความเป็นอยู่อย่างสะเพร่าหรือมักง่ายต่อทุกสิ่ง.

3. มีธัมมปีติและธัมมสมาธิ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : นิวรณ์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 เพื่อการมีนิวรณ์ : คือ ความประมาทสะเพร่า เลินเล่อ ความไม่เคารพตนเอง.

20.2 เพื่อการไม่มีนิวรณ์ : คือ ความไม่ประมาท ไม่สะเพร่า ไม่เลินเล่อ ความเคารพตนเอง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : นิวรณ์โดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : เครื่องกังวลใจทั่วไป.

ภาษาธรรม : สิ่งที่ปิดกั้นหนทางแห่งความเจริญทางจิตใจ.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมะเล่มน้อย

2. สมถวิปัสสนาแห่งยุคปรมาณู

3. อริยสัจจากพระโอษฐ์

4. อานาปานสติภาวนา


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง