[Font : 15 ]
| |
ผู้อยู่ด้วยเครื่องอยู่แบบพระอริยเจ้า |  

ภิกษุ ท.! การอยู่แบบพระอริยเจ้า ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย ได้อยู่มาแล้วก็ดี กำลังอยู่ในบัดนี้ก็ดี จักอยู่ต่อไปก็ดี มีเครื่องอยู่ 10 ประการเหล่านี้. 10 ประการอะไรบ้างเล่า? 10 ประการคือ :-

ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละองค์ 5 ได้ขาด, ประกอบด้วยองค์ 6, มีอารักขาอย่างเดียว, มีพนักพิง 4 ด้าน, เป็นผู้ถอนความเห็นว่าจริงดิ่งไปคนละทางขึ้นเสียแล้ว, เป็นผู้ละการแสวงหาสิ้นเชิงแล้ว, เป็นผู้มีความดำริอันไม่ขุ่นมัว, เป็นผู้มีกายสังขารอันสงบรำงับแล้ว, เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดี, เป็นผู้มีปัญญาในความหลุดพ้นด้วยดี.

ภิกษุ ท.! (1) ภิกษุเป็นผู้ ละองค์ 5 ได้ขาด เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละกามฉันทะ, ละพยายาท, ละถีนมิทธะ, ละอุทธัจจกุกกุจจะ และละวิจิกิจฉาได้แล้ว. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ละองค์ 5 ได้ขาด.

ภิกษุ ท.! (2) ภิกษุเป็นผู้ ประกอบด้วยองค์ 6 เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.!ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ได้เห็นรูปด้วยตา, ได้ฟังเสียงด้วยหู, ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก, ได้ลิ้มรสด้วยลิ้น, ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกาย และได้รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว ก็เป็นผู้ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ มีอุเบกขา มีสติ มีสัมปชัญญะอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ประกอบพร้อมด้วยองค์ 6.

ภิกษุ ท.! (3) ภิกษุเป็นผู้ มีอารักขาอย่างเดียว เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.!ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ประกอบการรักษาจิตด้วยสติ. ภิกษุ ท.!ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่ามีอารักขาอย่างเดียว.

ภิกษุ ท.! (4) ภิกษุเป็นผู้ มีพนักพิง 4 ด้าน เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาแล้วเสพของสิ่งหนึ่ง. พิจารณาแล้ว อดกลั้นของสิ่งหนึ่ง, พิจารณาแล้วเว้นขาดของสิ่งหนึ่ง, พิจารณาแล้วบรรเทาของสิ่งหนึ่ง, ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีพนักพิง 4 ด้าน.017.2

ภิกษุ ท.! (5) ภิกษุเป็นผู้ ถอนความเห็นว่าจริงดิ่งไปคนละทาง ขึ้นเสียแล้ว เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ถอนสละ คาย ปล่อย ละ ทิ้ง เสียแล้ว ซึ่งความเห็นว่าจริงดิ่งไป คนละทางมากอย่างของเหล่าสมณพราหมณ์มากผู้ด้วยกัน ที่มีความเห็นว่า "โลกเที่ยงบ้าง, โลกไม่เที่ยงบ้าง, โลกมีที่สุดบ้าง, โลกไม่มีที่สุดบ้าง, ชีพกับสรีระเป็นอันเดียวกันบ้าง, ชีพกับสรีระต่างกันบ้าง. ตถาคตตายแล้วเกิดอีกบ้าง, ตถาคตตายแล้วไม่เกิดอีกบ้าง, ตถาคตตายแล้วเกิดอีกก็มีไม่เกิดอีกก็มีบ้าง, ตถาคตตายแล้วเกิดอีกก็มิใช่เกิดอีกก็มิใช่บ้าง. ภิกษุ ท.! อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ถอนความเห็นว่าจริงดิ่งไปคนละทาง (ปัจเจกสัจจะ) ขึ้นเสียแล้ว

ภิกษุ ท.! (6) ภิกษุเป็นผู้ ละการแสวงหาสิ้นเชิงแล้ว เป็นอย่างไรเล่า" ภิกษุ ท.! ในธรรมวินัยนนี้ เป็นผู้ละการแสวงหากามแล้ว, เป็นผู้ละการแสวงหาภพแล้ว, และการแสวงหาพรหมจรรย์ของเธอนั้นก็ระงับไปแล้ว. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้ละการแสดงหาสิ้นเชิงแล้ว.

ภิกษุ ท.! (7) ภิกษุเป็นผู้ มีความดำริไม่ขุ่นมัว เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ละความดำริในทางกามเสียแล้ว, เป็นผู้ละความดำริในทางพยาบาทเสียแล้ว, และเป็นผู้ละความดำริในทางเบียดเบียนเสียแล้ว. ภิกษุ ท.! ภิกษุ อย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีความดำริไม่ขุ่นมัว.

ภิกษุ ท.! (8) ภิกษุเป็นผู้ มีกายสังขารอันสงบรำงับแล้ว เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขเสียได้ เพราะลุทุกข์เสียได้ และเพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัสในกาลก่อน จึงบรรลุฌานที่ 4 อันไม่มีทุกข์และสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติที่บริสุทธิ์เพราะอุเบกขาแล้วแลอยู่ ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีกายสังขารอันสงบรำงับแล้ว.

ภิกษุ ท.! (9) ภิกษุเป็นผู้ มีจุดหลุดพ้นด้วยดี เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีจิตหลุดพ้นจากราคะ จากโทสะ จากโมหะ. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดี.

ภิกษุ ท.! (10) ภิกษุเป็นผู้ มีปัญญาในความหลุดพ้นด้วยดี เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมรู้ชัดว่า "เราละ ราคะ โทสะ โมหะ เสียแล้ว ถอนขึ้นได้กระทั่งราก ทำให้เหมือนตาลยอดเน่า ไม่ให้มี ไม่ให้เกิดได้อีกต่อไป" ดังนี้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ ชื่อว่าเป็นผู้มีปัญญาในความหลุดพ้นด้วยดี.

ภิกษุ ท.! ในกาลยืดยาวฝ่ายอดีต พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง ได้เป็นอยู่แล้วอย่างพระอริยเจ้า; พระอริยเจ้าทั้งหมดเหล่านั้น ก็ได้เป็นอยู่แล้ว ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า 10 ประการนี้เหมือนกัน.

ภิกษุ ท.! ในกาลยืดยาวฝ่ายอนาคต พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง จักเป็นอยู่อย่างพระอริยเจ้า พระอริยเจ้าทั้งหมดเหล่านั้น ก็จักเป็นอยู่ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า 10 ประการนี้เหมือนกัน.

ภิกษุ ท.! ในกาลบัดนี้ พระอริยเจ้าเหล่าใดเหล่าหนึ่ง กำลังเป็นอยู่อย่างพระอริยเจ้า; พระอริยเจ้าทั้งหมดเหล่านั้น ก็กำลังเป็นอยู่ในการอยู่อย่างพระอริยเจ้า 10 ประการนี้เหมือนกัน.

ภิกษุ ท.! การอยู่แบบพระอริยเจ้า ซึ่งพระอริยเจ้าทั้งหลายได้อยู่มาแล้วก็ดี กำลังอยู่ในบัดนี้ก็ดี จักอยู่ต่อไปก็ดี มีเครื่องอยู่ 10 ประการเหล่านี้แล.

- บาลี พระพุทธภาษิต ทสก. อํ. 24/31/20.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง