[Font : 15 ]
| |
5. กลุ่มสัมมาอาชีวะ |  

ภิกษุ ท.! ในบรรดาองค์เจ็ดแห่งอริยสัมมาสมาธินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นธรรมนำหน้า. นำหน้าอย่างไร ? คือ เขารู้มิจฉาอาชีวะ ว่าเป็นมิจฉาอาชีวะ, รู้สัมมาอาชีวะ ว่าเป็นสัมมาอาชีวะ ; ความรู้ของเขานั้น เป็นสัมมาทิฏฐิ.

ภิกษุ ท.! มิจฉาอาชีวะ เป็นอย่างไรเล่า ? การพูดโกหก (กุหนา) การพูดหลอกลวง (ลปนา) การพูดหว่านล้อม (เนมิตฺตกตา) การพูดท้าให้เจ็บใจจนต้องยอมตกลง (นิปฺเปสิกตา) การล่อลาภด้วยลาภ (ลาเภนลาภํชิคึสนตา). ภิกษุ ท.! นี้คือ มิจฉาอาชีวะ.

ภิกษุ ท.! สัมมาอาชีวะ เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! เรากล่าวแม้สัมมาอาชีวะว่ามีอยู่ 2 ชนิด คือ สัมมาอาชีวะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีผลเนื่องอยู่กับของหนัก ก็มีอยู่; สัมมาอาชีวะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน ก็มีอยู่.

ภิกษุ ท.! สัมมาอาชีวะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญมีผลเนื่องอยู่กับของหนัก นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! อริยสาวกในกรณีนี้ ละมิจฉาอาชีวะแล้ว สำเร็จการเป็นอยู่ด้วยสัมมาอาชีวะ. ภิกษุ ท.! นี้คือสัมมาอาชีวะ ที่ยังเป็นไปด้วยอาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ มีผลเนื่องอยู่กับของหนัก.

ภิกษุ ท.! สัมมาอาชีวะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ธรรมคือ การงด การเว้น การเว้นขาด และเจตนาเป็นเครื่องเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ของผู้มีอริยจิต ของผู้มีอนาสวจิต ของผู้เป็นอริยมัคคสมัคคี ผู้เจริญอยู่ซึ่งอริยมรรค ใดแล; ภิกษุ ท.! นี้คือ สัมมาอาชีวะ อันเป็นอริยะ ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ นำขึ้นสู่ระดับเหนือโลก เป็นองค์ประกอบแห่งหนทางเพื่อนิพพาน.

เขานั้น เพียรพยายามเพื่อละเสียซึ่งมิจฉาอาชีวะ เพื่อทำสัมมาอาชีวะให้ถึงพร้อม ; ความเพียรพยายามของเขานั้น เป็น สัมมาวายามะ. เขามีสติละเสียซึ่งมิจฉาอาชีวะ มีสติทำสัมมาอาชีวะให้ถึงพร้อม แล้วแลอยู่ ; สติของเขานั้น เป็น สัมมาสติ.

ด้วยอาการอย่างนี้ เป็นอันว่า ธรรม 3 อย่างนั้น ย่อมติดตามแวดล้อมซึ่งสัมมาอาชีวะ ; 3 อย่างนั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ.

- อุปริ. ม. 14/181 – 186/254-278.

(ผู้ศึกษาพึงสังเกตเห็นความสัมพันธ์อย่างสลับซับซ้อน ว่าองค์มรรคเจ็ดองค์ข้างต้น ถูกจัดให้เป็นบริวารขององค์สุดท้ายคือสัมมาสมาธิ แล้วทำให้สัมมาสมาธินั้นได้นามสูงขึ้นไปว่า อริยสัมมาสมาธิ. องค์ห้าองค์ข้างต้นคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ ถูกจัดให้แวดล้อมด้วย สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ. โดยเหตุที่สัมมาวายามะและสัมมาสติไปทำหน้าที่แวดล้อมองค์ห้าองค์ข้างต้นเสีย จึงไม่ถูกยกขึ้นมาจัดเป็นกลุ่มเฉพาะของตน จึงไม่มีกลุ่มที่หกที่เจ็ด. ส่วนสัมมาทิฏฐินั้น มีความสำคัญจนจัดเป็นกลุ่ม ๆ กลุ่มหนึ่งของตัวเอง แล้วยังไปทำหน้าที่เป็นผู้แวดล้อมในกลุ่มทั้งห้าอีกด้วยทุกกลุ่ม. ส่วนสัมมาวายามะก็ดี สัมมาสติก็ดี ซึ่งไม่มีกลุ่มของตน เพราะเข้าไปแทรกทำหน้าที่อยู่ในกลุ่มนั้นๆ ทุกกลุ่ม เพื่อให้หน้าที่ในกลุ่มนั้น ๆ สมบูรณ์ ราวกะว่าซ่อนตัวอยู่อย่างลึกลับ แต่ก็มิได้หายไปไหน. สัมมาทิฏฐิได้ชื่อว่าเป็นผู้นำหน้าของทุกกลุ่ม เพราะเข้าไปรู้ลักษณะขององค์ธรรมอันเป็นชื่อประจำกลุ่มนั้น ๆ ซึ่งได้ทรงจำแนกไว้ทั้งสองประเภท คือประเภทเป็นไปด้วยอาสวะ และประเภทที่ไม่เป็นไปด้วยอาสวะ และยังรู้ถึงฝ่ายตรงกันข้าม คือเป็นฝ่าย “มิจฉา” หรือฝ่ายผิด อย่างครบถ้วนอีกด้วย จึงทำให้สัมมาวายามะและสัมมาสติแห่งกลุ่มนั้น ๆ ดำเนินไปโดยถูกทาง ดังนั้นจึงได้ชื่อว่า “ผู้นำหน้า” .

ผู้ศึกษาพึงสังเกตจนเข้าใจความสัมพันธ์กันดังกล่าวนี้อย่างแจ่มแจ้งแล้ว จะเป็นเหตุให้ท่านทราบว่า กิจแห่งองค์มรรคทั้งหลาย สัมพันธ์กันด้วยดีอย่างไร มรรคจึงจะเป็นไปถึงขนาดที่ดับทุกข์ได้โดยไม่เหลือ).


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง