[Font : 15 ]
| |
แม้การทําความเพียรในที่สงัดก็ยังต้องปรารภขันธ์ 5 ตามวิธีการของปฏิจจสมุปบาท

แม้การทำความเพียรในที่สงัดก็ยังต้องปรารภขันธ์ 5 ตามวิธีการของปฎิจจสมุปบาทPTC130

พระอานนท์ ได้กราบทูลถามว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ดังข้าพระองค์ขอโอกาส ขอพระผู้มีพระภาค จงแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์โดยย่อ ซึ่งข้าพระองค์ได้ฟังแล้ว จะเป็นผู้หลีกออกผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท มีความเพียรเผากิเลส มีตนส่งไปแล้ว (ในธรรมปฏิบัติ) อยู่เถิด พระเจ้าข้า !”. พระผู้มีพระภาค ได้ตรัสว่า:-

ดูก่อนอานนท์ ! เธอจะสำคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร : รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? (“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? (“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา ; นั่นเป็นเรา ; นั่นเป็นตัวตนของเรา” ; ดังนี้ ? (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”).

ดูก่อนอานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน อันมีอยู่ภายในหรือภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือปราณีตก็ตาม รูปทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ; นั่นไม่ใช่เรา ; นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา ; เธอพึงเห็นซึ่งข้อนั้น ด้วยยถาภูตสัมมัปปัญญา (ความรู้ทั่วถึงถูกต้องตามเป็นจริง) อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.

(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีการตรัสถาม, ทูลตอบ. และตรัส อย่างเดียวกันทุกตัวอักษร กับในกรณีแห่งรูป ต่างกันแต่เพียงชื่อแห่งขันธ์ เท่านั้น).

ดูก่อนอานนท์ ! อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ. เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ; เพราะความคลายกำหนัด จึงหลุดพ้น; เมื่อหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณเกิดขึ้นแก่อริยสาวกนั้นว่า “หลุดพ้นแล้ว” ดังนี้. อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดว่า“ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์อันเราอยู่จบแล้ว, กิจที่ควรทำได้กระทำเสร็จแล้ว, กิจอื่นเพื่อทำความเป็นอย่างนี้มิได้อีก”. ดังนี้ แล.

หมายเหตุผู้รวบรวม : ผู้ศึกษาพึงสังเกตให้เห็นว่า “การเห็นชอบตามที่เป็นจริง” นั้นมิได้มีความสำคัญเพียงใดเรื่องราวอันเกี่ยวกับการพิจารณาเห็นปฏิจจสมุปบาท แม้ในการทำความเพียรใดๆ ก็ตาม ย่อมปรารภยถาภูตสัมมัปปัญญา คือการเห็นชอบตามที่เป็นจริงด้วยกันทั้งนั้น ดังที่ได้ยกมาให้เห็นเป็นตัวอย่างเรื่องหนึ่ง คือเรื่องนี้. ผู้ศึกษาพึงเห็นความสำคัญของการเห็นชอบตามที่เป็นจริง เกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ 5 ดังนี้เถิด.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ