[Font : 15 ]
| |
สันโดษ

1. พยัญชนะ : สันโดษโดยพยัญชนะ : คือ ยินดี ยินดีด้วยสิ่งที่มีอยู่.

2. อรรถะ : สันโดษโดยอรรถะ : คือ ความยินดีหรืออิ่มใจในสิ่งที่มีอยู่ เพื่อเป็นกำลังสำหรับทำต่อไป มิใช่หยุดเสียเพียงเท่านั้น ; ทำให้รู้สึกว่าเรามีหรือได้รับสิ่งที่เราต้องการอยู่ตลอดเวลา มีผลทำให้ไม่รู้สึกเหน็ดเหนื่อยในการทำงาน.

3. ไวพจน์ : สันโดษโดยไวพจน์ : คือ สนฺตุฏฐิ, อปฺปิจฉตา, ปีติ ฯลฯ

4. องค์ประกอบ : สันโดษโดยองค์ประกอบ : คือ การกระทำ, ได้รับผลของการกระทำ. พอใจในผลของการกระทำ, มีกำลังใจในการกระทำต่อไปจนกว่าจะถึงที่สุด.

5. ลักษณะ : สันโดษโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 แห่งความปรารถนาเท่าที่ควรปรารถนา.

5.2 แห่งความร่ำรวยอยู่ตลอดเวลา.

5.3 แห่งชัยชนะต่อการงานที่กระทำอยู่.

5.4 เป็นรากฐานแห่งความสงบสุขแม้แห่งพระนิพพาน.

6. อาการ : สันโดษโดยอาการ : คือ มีอาการแห่งความยินดี อิ่ม พอ สดชื่น แจ่มใส สนุกในการทำงาน และการเป็นอยู่.

7. ประเภท : สันโดษโดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

กลุ่มที่ 1 :

1. โลกิยสันโดษ : คือสันโดษของคนธรรมดา ที่ยังต้องควบคุม ระมัดระวัง.

2. โลกุตตรสันโดษ : คือสันโดษของพระอรหันต์ มีเองโดยอัตโนมัติ ไม่ต้องมีการควบคุม หรือระวังสังวร.

กลุ่มที่ 2 :

1. สันโดษของอันธพาล : เป็นข้าศึกของการพัฒนา.

2. สันโดษของสัตบุรุษ : เป็นปัจจัยแก่การพัฒนา แม้แก่พระนิพพาน.

กลุ่มที่ 3 :

1. สันโดษที่ความจำเป็นบังคับ.

2. สันโดษที่เป็นอิสระ.

8. กฎเกณฑ์ : สันโดษโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 มีธรรมะเป็นอุปกรณ์: คือความปรารถนาน้อย (อัปปิจฉตา); ความเป็นผู้เลี้ยงง่าย (สุภรตา) ; และสัมมาอาชีวะเป็นที่สุด.

8.2 กฎเกณฑ์สำหรับบัญญัติความหมายของคำๆ นี้ คือ ไม่ต้องบัญญัติว่า อย่าสันโดษในการบำเพ็ญบุญกุศล แต่ยังคงยืนยันว่า แม้การทำบุญทำกุศลก็ต้องมีสันโดษ.

8.3 ทุกคนต้องมีสันโดษในการเป็นอยู่ประจำวัน เพื่อเป็นวัคซีนป้องกันโรคทางจิต.

9. สัจจะ : สันโดษโดยสัจจะ :

9.1 ทำให้มีความรู้สึกว่าไม่ขาดแคลนอะไร มมีความร่ำรวยอยู่เสมอ.

9.2 สันโดษเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงชีวิตให้สดชื่นไม่เหี่ยวเฉา เหมือนต้นไม้ที่ได้น้ำอย่างเพียงพออยู่เสมอ.

9.3 ถ้าไม่มีสันโดษโดยสิ้นเชิงแล้ว โลกนี้ก็จะเต็มอัดอยู่ด้วยคนบ้าหรือตกนรกทั้งเป็น เพราะมีแต่ความหิวอยู่ตลอดเวลา.

9.4 แม้จะเป็นเศรษฐีมหาศาล ถ้าขาดสันโดษแล้ว ก็จะเป็นยาจกเข็ญใจ อยู่ท่ามกลางกองมหาสมบัตินั่นเอง.

10. หน้าที่ : สันโดษโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของสันโดษ : ทำให้มนุษย์มีความรู้สึกพอใจ อิ่มใจ เป็นสุขอยู่ตลอดเวลา และส่งเสริมให้เกิดกำลังเพื่อการพัฒนาสืบต่อไป.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อสันโดษ : คืออย่าเข้าใจ หรือใช้สันโดษให้ผิดความหมายที่แท้จริงของคำๆ นี้.

11. อุปมา : สันโดษโดยอุปมา : เป็นเสมือน :

11.1 น้ำรดต้นไม้.

11.2 วัคซีนป้องกันโรคบ้า.

11.3 ยาหอมชูกำลัง.

11.4 เทพเจ้าผู้คอยปลอบโยนอยู่ตลอดเวลา.

12. สมุทัย : สันโดษโดยสมุทัย :

12.1 มีสัมมาทิฎฐิในอานิสงส์ของสันโดษ และโทษของความไม่สันโดษ.

12.2 เกิดในสกุลหรือสิ่งแวดล้อมที่เต็มอยู่ด้วยความสันโดษ.

13. อัตถังคมะ : สันโดษโดยอัตถังคมะ :

13.1 เพราะมิจฉาทิฏฐิ และ/หรือกิเลส ครอบงำ.

13.2 การสมาคมคบหากับหมู่ชนผู้ปราศจากสันโดษ.

14. อัสสาทะ : สันโดษโดยอัสสาทะ : คือ รสของความอิ่ม ความพอใจ อันเกิดจากความมีสันโดษ (แต่ไม่มีอัสสาทะ จากสันโดษชนิดอันธพาล).

15. อาทีนวะ : สันโดษโดยอาทีนวะ : คือ ไม่มีจากสันโดษที่แท้จริง แต่มีจากสันโดษที่เป็นมิจฉาทิฎฐิ.

16. นิสสรณะ : สันโดษโดยนิสสรณะ : ทางออกจากสันโดษไม่ต้องมี ; แต่สันโดษเป็นนิสสรณะ ทางออกจากปัญหาของผู้ไม่ยินดีในการปฏิบัติหน้าที่ของตน.

17. ทางปฏิบัติ : สันโดษโดยทางปฏิบัติ : เพื่อความมีสันโดษ :

17.1 มีสติปัญญา มองเห็นคุณค่าของสันโดษ คือความอิ่มเอิบของชีวิต.

17.2 ดำเนินชีวิตตามหลักเกณฑ์ของธรรมชื่อนี้ : คือมีความพอใจในตัวการงาน - การทำงาน - การได้รับผลของการทำงานในฐานะเป็นสิ่งประเสริฐ.

18. อานิสงส์ : สันโดษโดยอานิสงส์ :

18.1 ทำให้รู้สึกว่าอิ่ม ร่ำรวย และทำงานสนุก.

18.2 ป้องกันไม่ให้เกิดความเครียดเป็นโรคประสาท.

18.3 เป็นพื้นฐานแห่งสัมมาอาชีวะ หรือดำรงชีวิตชอบ.

18.4 ถ้าเข้าใจสันโดษผิด จะได้รับผลตรังกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว.

19. หนทางถลำ : สันโดษโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความมีสันโดษ :

19.1 ถูกทรมานด้วยความเครียด หรือความไม่สันโดษมาอย่างเพียงพอ.

19.2 เห็นตัวอย่างที่ดีคือผู้มีความสุขด้วยสันโดษ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สันโดษโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ ตัวอย่างที่ดีที่สามารถมีความสุขให้ดู.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : สันโดษโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : มัธยัสถ์อย่างคนโง่.

ภาษาธรรม : พอใจในสิ่งที่เป็นอยู่แล้ว เพื่อเป็นกำลังสำหรับพัฒนาต่อไป.

21.2 ภาษาคน : ธรรมสำหรับหยุดชะงัก ตายด้าน.

ภาษาธรรม : ธรรมสำหรับการพัฒนาต่อไปอย่างไม่รู้เหน็ดเหนื่อย.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. พุทธิกจริยธรรม

2. ฟ้าสางฯ ตอน 1, 2

3. วิสาขบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง