[Font : 15 ]
| |
กิเลส

๑. พยัญชนะ: (โดยตัวหนังสือ หรือคำแปลตามตัวหนังสือ)

กิเลสโดยพยัญชนะ:

๑.๑ สิ่งที่ทำความเศร้าหมอง.

๑.๒ สิ่งที่เศร้าหมอง.

๑.๓ ของสกปรก.

๑.๔ สิ่งที่ทำความสกปรก.

๒. อรรถะ: (โดยความหมาย)

กิเลสโดยอรรถะ

๒.๑ หมายถึง ความเศร้าหมองทางกาย ทางวาจา ได้แก่ความทุศีล ทุกชนิด.

๒.๒ หมายถึง ความเศร้าหมองทางจิตใจ ได้แก่ ราคะ โทสะ โมหะ ทุกชนิด ทุกระดับ; สูงสุดถึง อหังการมมังการมานานุสัย A05

๓. ไวพจน์: (คำที่ใช้เรียกแทนกันได้ทั้งคำบาลีและคำภาษาไทย)

กิเลสโดยไวพจน์ คือ มละ(มลทิน), โยคะ(เครื่องผูก), โอฆะ(เครื่องท่วมทับ), อัคคิ(เครื่องเผา) ฯลฯ

๔. องค์ประกอบ: (ปัจจัยที่ต้องมีมากกว่าหนึ่ง, และปัจจัยนั้นๆต้องทำงานร่วมกันและพร้อมกันในเรื่องเดียวกัน)

กิเลสโดยองค์ประกอบ

๑. สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส (กาย วาจา ใจ).

๒. สังขาร คือ การปรุงให้เกิดกิเลส (ตามกฏอิทัปปัจจยตา).

๓. ความเศร้าหมองที่เกิดขึ้น (หลายชั้น หลายระดับ).

๕. ลักษณะ: (ลักษณะภายนอกที่เป็นเครื่องสังเกตหรือเครื่องกำหนดที่ทำให้รู้ว่าสิ่งนั้นๆเป็นอย่างไร จึงเรียกว่าอย่างนั้น)

กิเลสโดยลักษณะ มีลักษณะ:

๕.๑ สกปรก เศร้าหมอง น่ารังเกียจ.

๕.๒ แห่งราคะ: คือดึงเข้าหาตัว; แห่งโทสะ: คือผลักออก; แห่งโมหะ: คือวิ่งอยู่รอบๆ.

๕.๓ ก่อให้เกิดกรรม (เป็นกงล้อกงหนึ่งของวัฏฏะ).

๕.๔ ของบรรดาสิ่งที่เกิดมาจากความเห็นแก่ตัว.

๕.๕ เป็นได้ทั้งบวกและลบ.

๖. อาการ: (อาการเคลื่อนไหว หรือ แสดงความเคลื่อนไหวตามธรรมชาติของสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยอาการ มีอาการ:

๖.๑ อยากได้ อยากทำลาย สงสัยติดตาม.

๖.๒ ทำให้เกิดความเศร้าหมองโดยส่วนเดียว.

๖.๓ แสดงออกมาได้ทั้งความเป็นบวกและความเป็นลบ.

๗. ประเภท: (การจำแนกให้เข้ากันเป็นพวกๆตามลักษณะอาการของสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยประเภท

นัยที่หนึ่ง: แบ่งตามความเป็นเหตุและผล: มีสองอย่าง:

๑. กิเลสที่เป็นเหตุ.

๒. กิเลสที่เป็นผล.

แต่อย่าลืมว่ามันเปลี่ยนตัวมันเองได้ คือ กิเลสที่เป็นผลก็กลายมาเป็นกิเลสที่เป็นเหตุได้

นัยที่สอง: แบ่งตามอาการที่แสดง: มีสามอย่าง:

๑. มีอาการดึงเข้ามาแล้วยึดครองไว้: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า ราคะหรือโลภะ.

๒. มีอาการผลักออกไปหรือทำลายเสีย: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า โทสะหรือโกธะ.

๓. มีอาการวนอยู่รอบๆ ด้วยความไม่รู้: ได้แก่กิเลสประเภทที่เรียกว่า โมหะ.

นัยที่สาม: แบ่งตามชั้นแห่งเวลา: มีสามอย่าง:

๑. กิเลสที่ปรากฏตัวออกมาจากเหตุซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลส: คือเป็นกิเลสเฉพาะหน้าๆ; จะ เรียกมันว่า กิเลส เฉยๆ.

๒. กิเลสที่เป็นความเคยชินแห่งกิเลสที่เก็บสะสมไว้ในสันดาน: ซึ่งจะเรียกมันว่า อนุสัย.

๓. กิเลสที่พร้อมทีจะไหลกลับออกจากคลังแห่งอนุสัยเมื่อได้โอการหรือปัจจัย: ซึ่งเราจะ เรียกมันว่า อาสวะ.

นัยที่สี่: แบ่งตามอารมณ์ A06. มีหกอย่าง: คือ กิเลสที่เกิดจากอารมณ์ทางตา, ทางหู,

ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย, ทางใจ. นอกจากนั้นยังมีทางที่จะแบ่งตามกาลเวลาและ กฏเกณฑ์อื่นๆ เป็นกิเลสหลายร้อยหลายพันชนิดก็ได้; ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องนำมากล่าวในที่นี้ ทั้งหมด

๘. กฏเกณฑ์: (กฏเกณฑ์ของสิ่งนั้นๆหรือกฏเกณฑ์เพื่อจะเข้าไปถึงสิ่งนั้นๆซึ่งอาจมีได้ทั้งโดยบัญญัติและโดยธรรมชาติ)

กิเลสโดยกฏเกณฑ์ คือ ต้องมีอารมณ์ของกิเลส, ต้องมีความขาดสติ, ต้องมีการปรุงแต่งโดยอำนาจของอวิชชา; ครั้นเกิดแล้วเป็นเหตุให้ทำกรรม. ป้องกันได้ด้วยความมีสติ; ตัดเสียได้ด้วยอำนาจของปัญญา; มีรากฐานอยู่บนสัญชาตญาณที่ปราศจากความรู้; เป็นคู่ปรับของโพธิ.

๙. สัจจะ: (ความจริงเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยสัจจะ

๙.๑ แน่นอนที่ต้องเศร้าหมอง.

๙.๒ แน่นอนที่ต้องทำกรรม.

๙.๓ แน่นอนที่ต้องเกิดทุกข์.

๙.๔ แน่นอนที่จะต้องเป็นสมบัติของปุถุชน.

๑๐. หน้าที่: (การที่สิ่งมีชีวิตจะต้องกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยหน้าที่ (โดยสมมติ):

๑๐.๑ มีหน้าที่ทำให้เกิดความเศร้าหมอง.

๑๐.๒ มีหน้าที่ทำให้เกิดกรรมและวิบาก เพื่อการเวียนว่ายไปในวัฏฏะ.

๑๐.๓ มีหน้าที่ทำลายสันติภาพของมนุษย์.

๑๐.๔ มีหน้าที่เป็นพลังของคนโง่.

๑๐.๕ มีหน้าที่เป็นของหอมของงามของอันธพาล.

๑๑. อุปมา: (การเปรียบเทียบกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มนุษย์เข้าใจดีอยู่แล้ว เพื่อให้เข้าใจในสิ่งนั้นๆดียิ่งขึ้นจนถึงที่สุด)

กิเลสโดยอุปมา เป็นเสมือนเครื่องรึงรัด; เหมือนลิ่มสลักขันยึดรถที่กำลังแล่น.

๑๒. สมุทัย: (สิ่งที่ทำให้เกิดสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยสมุทัย

๑๒.๑ อารมณ์ของกิเลส, ความขาดสติในการรับอารมณ์, การปรุงแต่งของอวิชชา, สามอย่างนี้เป็นสมุทัยของกิเลส.

๑๒.๒ สัญชาตญาณที่ไม่มีส่วนแห่งโพธิ มีแต่ส่วนแห่งกิเลส.

๑๒.๓ รชนียธรรมA07 ทั้งปวง.

๑๓. อัตถังคมะ: (ความดับของสิ่งนั้นๆ; คือ ความตั้งอยู่ไม่ได้ชั่วคราว หรือตลอดไปของสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยอัตถังคมะ

๑๓.๑ การขาดปัจจัยของกิเลสนั้นๆ ตามธรรมชาติ.

๑๓.๒ ความมาทันเวลาของสติสัมปชัญญะ (ปัญญา).

๑๓.๓ ธรรมเป็นข้าศึกแก่กิเลสอย่างใดอย่างหนึ่งปรากฏขึ้น.

๑๓.๔ เวลาว่างจากกิเลส ซึ่งมีได้ตามธรรมชาติ(เพราะกิเลสมิได้เกิดอยู่ตลอดเวลา).

๑๔. อัสสาทะ: (เสน่ห์หรือรสอร่อยที่ยั่วยวนของสิ่งนั้นๆซึ่งมีต่อมนุษย์)

กิเลสโดยอัสสาทะ

๑๔.๑ กิเลสมีเสน่ห์ มีรสอร่อยแห่งความหลอกลวงสูงสุด.

๑๔.๒ กิเลสเป็นที่เกิดและเป็นที่ตั้งแห่งนันทิราคะA08 ทุกชนิด ทุกระดับ.

๑๕. อาทีนวะ: (โทษหรือความเลวร้ายของสิ่งนั้นๆซึ่งซ่อนอยู่อย่างเห็นได้ยาก)

กิเลสโดยอาทีนวะ

๑๕.๑ ทำให้สูญเสียความเป็นมนุษย์เป็นคราวๆ.

๑๕.๒ ทำให้มีอาการเหมือนตกนรกเป็นคราวๆ.

๑๕.๓ ทำให้ติดไปกับวงของวัฏฏะ.

๑๕.๔ทำให้โลกประสบอุปสรรคและความสูญเสีย.

๑๖. นิสสรณะ: (อุบายหรือวิธีที่จะออกหรือพ้นจากอำนาจของสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยนิสสรณะ

๑๖.๑ อริยมรรคมีองค์แปด หรือความเป็นอยู่ที่ถูกต้อง.

๑๖.๒ ความมีศึล สมาธิ ปัญญา อยู่โดยปกติ.

๑๖.๓ การดำรงอยู่หรือมีชีวิตอยู่อย่างที่ไม่ให้โอกาส, ไม่ให้ปัจจัย, ไม่ให้ที่อาศัย ฯลฯ แก่กิเลส: เรียกว่า สัมมาวิหารA09 ซึ่ง "ทำโลกให้ไม่ว่างจากพระอรหันต์"

๑๗. ทางปฏิบัติ: (ทางปฏิบัติต่อสิ่งนั้นๆเพื่อให้เกิดผลดีตามที่ประสงค์)

กิเลสโดยทางปฏิบัติ เพื่อออกจากการตกเป็นทาสของกิเลส:

๑๗.๑ มีการกระทำที่เป็นการทำลายต้นตอของกิเลส คือ อวิชชาอยู่เป็นนิจ.

๑๗.๒ มีสติอยู่ทุกเมื่อ ทุกสถานที่ และทุกกรณี.

๑๗.๓ มีการเป็นอยู่อย่างไม่เห็นแก่ตัว แต่เห็นแก่ผู้อื่นและความถูกต้อง.

๑๘. อานิสงส์: (ประโยชน์ที่จะพึงได้รับจากการปฏิบัติอย่างถูกต้องต่อสิ่งนั้นๆ)

กิเลสโดยอานิสงส์ ให้บทเรียน ทำให้ฉลาด เอาชนะกิเลสเพื่อลุถีงนิพพาน.

๑๙. หนทางถลำ: (การมีโอกาสหรือความบังเอิญที่ทำให้เกิดความง่ายแก่การปฏิบัติ หรือการทำหน้าที่ให้สำเร็จโดยง่ายยิ่งขึ้น; แต่ในบางกรณี ความบังเอิญนี้มีได้แม้ในฝ่ายลบที่ไม่พึงประสงค์)

กิเลสโดยหนทางถลำ เข้าไปอยู่ภายใต้อิทธิพลของกิเลส:

๑๙.๑ ความประมาทปราศจากสติ.

๑๙.๒ ความเป็นอยู่อย่างหละหลวม ปราศจากธรรมเครื่องยึดหน่วง.

๑๙.๓ คบคนพาลเป็นเพื่อนหรือเป็นผู้นำ

๑๙.๔ อาการชอบทำอะไรตามใจตัว.

๒๐. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง: (ปัจจัยหรืออุปกรณ์พิเศษอื่นๆ ที่จะช่วยให้การกระทำเกี่ยวกับสิ่งนั้นๆเกิดความสำเร็จได้โดยง่ายและโดยเร็วที่สุด)

กิเลสโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง ในการเกิดกิเลส:

๒๐.๑ ปัจจัยหรืออารมณ์ของกิเลส.

๒๐.๒ อวิชชา ความปราศจากความรู้ที่ถูกต้อง.

๒๐.๓ ความปราศจากสติ.

๒๐.๔ อนุสัย (ความเคยชินที่จะเกิดกิเลสในภายใน).

๒๑. ภาษาคน-ภาษาธรรม: (การพูดจาที่จะกล่าวถึงสิ่งใดๆนั้นมีทางพูดได้สองภาษาคือ ภาษาคนและภาษาธรรม (1) ภาษาคน หมายถึง ภาษาที่คนธรรมดาใช้พูด ซึ่งมักระบุไปยังบุคคลหรือวัตถุภายนอก ที่เรียกกันว่า บุคคลาธิษฐาน (2)ภาษาธรรม หมายถึง ภาษาที่ผู้รู้ธรรมพูด ซึ่งมักระบุไปยังคุณค่าหรือคุณสมบัติ โดยไม่เล็งถึงบุคคลหรือวัตถุ ที่เรียกกันว่า ธรรมาธิษฐาน)

๒๑.๑

ภาษาคน: ความสกปรกทางวัตถุทางกาย ซึ่งมีการชำระด้วยวัตถุ.

ภาษาธรรม: ความสกปรกทางจิตใจ ซึ่งต้องชำระด้วย วิปัสสนาญาณ.

๒๑.๒

ภาษาคน: ดูไม่น่ากลัวหรือเป็นของธรรมดา.

ภาษาธรรม: ยิ่งกว่าน่ากลัว.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

๑. ธรรมบรรยายระดับมหาวิทยาลัย เล่ม ๒

๒. ธรรมะกับสัญชาตญาณ

๓. พุทธิกจริยธรรม

๔. ฟ้าสางฯ ตอน ๑,๒


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง