[Font : 15 ]
| |
มนุษย์บุถุชน รู้จักพระองค์น้อยเกินไป |  

ภิกษุ ท.! นั่นยังน้อยไป ยังต่ำไป เป็นเพียงส่วนศีลเท่านั้น คือข้อที่บุถุชนกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่. ภิกษุ ท.! บุถุชนกล่าวสรรเสริญคุณของตถาคตอยู่ ยังน้อย ยังต่ำ สักว่าศีลเท่านั้น, นั้นเป็นอย่างไรเล่า? คือบุถุชนกล่าวสรรเสริญตถาคตอยู่ว่า พระสมณโคดมละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วงไป เป็นผู้งดขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้และศาสตราเสียแล้ว มีความละอายต่อบาป มีความเอ็นดูกรุณา หวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ ท. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ งดขาดจากอทินนาทาน ถือเอาแต่ของที่เจ้าของให้แล้ว หวังอยู่แต่ในของที่เจ้าของเขาให้,เป็นคนสะอาด ไม่เป็นขโมย. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละกรรมอันมิใช่พรหมจรรย์, เป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์โดยปรกติ ประพฤติห่างไกล เว้นขาดจากการเสพเมถุน อันเป็นของสำหรับชาวบ้าน. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละการกล่าวเท็จ งดขาดจากมุสาวาท พูดแต่คำจริง รักษาคำสัตย์ มั่นคงในคำพูด ควรเชื่อได้ ไม่แกล้งกล่าวให้ผิดต่อโลก. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละการกล่าวคำส่อเสียด งดขาดจากปิสุณาวาท,ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อทำลายฝ่ายนี้. หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้ว ไม่เก็บมาบอกฝ่ายนี้ เพื่อทำลายฝ่ายโน้น, แต่จะสมานชนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน, อุดหนุนชนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น, เป็นคนชอบใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละการกล่าวคำหยาบ งดขาดจากผรุสวาท,กล่าวแต่วาจาที่ปราศจากโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพ ที่ชาวเมืองเขาพูดกัน เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน. และ

...ว่า พระสมณโคดม ละคำพูดที่โปรยประโยชน์ทิ้งเสีย งดขาดจากการพูดเพ้อเจ้อ, กล่าวแต่ในเวลาสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์เป็นธรรมเป็นวินัย เป็นวาจามีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่อ้างอิง มีเวลาจบ เต็มไปด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา. และ

...ว่า พระสมณโคดม งดขาดจากการล้างผลาญพืชคาม และภูตคาม,05.27 เป็นผู้ฉันอาหาร วันหนึ่งเพียงหนเดียว เว้นจากการฉันในราตรีและวิกาล, ...เป็นผู้งดขาดจากการรำ การขับ การร้อง การประโคม และดูการเล่นชนิดที่เป็นข้าศึกแก่กุศล, เป็นผู้งดขาดจากการประดับประดา คือทัดทรงตบแต่งด้วยมาลาและของหอมเครื่องลูบทา, เป็นผู้งดขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่, เป็นผู้งดขาดจากการรับเงินและทอง, เป็นผู้งดขาดจากการรับข้าวเปลือก, งดขาดจากการรับเนื้อดิบ, การรับหญิง และเด็กหญิง, การรับทาสี และทาส,การรับแพะ แกะ ไก่ สุกร ช้าง ม้า โค ทั้งผู้และเมีย, งดขาดจากการรับที่นาที่สวน, งดขาดจากการรับใช้เป้นทูตไปในที่ต่างๆ (ให้คฤหัสถ์). งดขาดจากการซื้อขาย, การฉ้อโกงด้วยตาชั่ง, การลวงด้วยของปลอม, การฉ้อด้วยเครื่องนับ (เครื่องตวงและเครื่องวัด), งดขาดจากการโกง ด้วยการรับสินบนและล่อลวง, การตัด การฆ่า การจำจอง การซุ่ม ทำร้าย การปล้น การกรรโชก.

(เหล่านี้ เป็นส่วน จุลศีล)

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวกพากันฉันโภชนะ ที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังทำพืชคามและภูตคามให้กำเริบ, คืออะไรบ้าง? คือ พืชที่เกิดแต่ราก-เกิดแต่ต้น-เกิดแต่ผล-เกิดแต่ยอด-เกิดแต่เมล็ดให้กำเริบอยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการทำพืชคามและภูตคามให้กำเริบแล้ว.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังทำการบริโภคสะสม คือ สะสมข้าวสะสมน้ำดื่ม สะสมผ้า สะสมยานพาหนะ สะสมที่นอน สะสมเครื่องผัดทาของหอมและอามิส อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการสะสมเห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังดูการเล่น คือ ดูฟ้อน ฟังขับ ฟังประโคมดูไม้ลอย ฟังนิยาย ฟังเพลงปรบมือ - ตีฆ้อง- ตีระนาด ดูหุ่นยนต์ ฟังเพลงขอทาน ฟังแคน ดูการเล่นหน้าศพ ดูชนช้าง แข่งม้า ชนกระบือ ชนโค-แพะ-แกะ-ไก่-นกกระทา, ดูรำไม้ รำมือ ชกมวย, ดูเขารบกัน ดูเขาตรวจพล, ดูเขาตั้งกระบวนทัพ; ดูกองทัพที่จัดไว้เสร็จแล้วบ้างอยู่, ส่วนท่านเป็นผู้งดขาดจากการดูการเล่นเห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังเล่นการพนัน หรือการเล่นอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท คือเล่นหมากรุกทุกชนิดแถวละ 8 ตาบ้าง 10 ตาบ้าง เล่นหมากเก็บ,- ชิงนาง - หมากไหว - โยนบ่วง - ไม้หึ่ง - ฟาดให้เป็นรูป- ทอดลูกบาศก์ - เป่าใบไม้,เล่นไถน้อยๆ - หกคะเมน - กังหัน - ตวงทรายด้วยใบไม้ - รถน้อยๆ - ธนูน้อยๆ - ทายอักษรในอากาศ - ทายใจ - ล้อคนพิการอยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการพนันหรือการเล่น อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ คือเตียงเท้าสูงเกินประมาณ, เตียงที่เท้าสลักรูปสิงห์, ผ้าโกเชาว์ขนยาว, เครื่องลาดขนแกะวิจิตรด้วยลายเย็บ, เครื่องลาดขนแกะสีขาว, เครื่องลาดขนแกะ มีลายเป็นกลุ่มดอกไม้, เครื่องลาดมีนุ่นภายใน, เครื่องลาดวิจิตรด้วยรูปสัตว์ร้าย, เครื่องลาดมีขนตรงขึ้นข้างบน เครื่องลาดมีชายครุย เครื่องลาดแกมทอง-เงิน-ไหม เครื่องลาดใหญ่ (นางฟ้อนได้ 16 คน) ฯลฯ, อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการนอนบนที่นอนสูงใหญ่ เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการประดับประดาตกแต่งร่างกาย เห็นปานนี้ คือการอบตัว การเคล้นตัว การอาบสำอาง การนวดเนื้อการส่องดูเงา การหยอดตาให้มีแวว คมขำ การใช้ดอกไม้ การทาของหอมการผัดหน้า การทาปาก การผูกเครื่องประดับที่มือ การผูกเครื่องประดับที่กลางกระหม่อม การถือไม้ถือ การห้อยแขวนกล่องกลักอันวิจิตร การคาดดาบการคาดพระขรรค์ การใช้ร่มและรองเท้าอันวิจิตร การใส่กรอบหน้า การปักปิ่นการใช้พัดสวยงาม การใช้ผ้าขาวชายเฟื้อยและอื่นๆ อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการประดับประดาตกแต่งร่างกาย เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบเดรัจฉานกถา คือคุยกันถึงเรื่องพระราชา, โจร, อมาตย์, กองทัพ, ของน่าหวาดเสียว, การรบ;เรื่องน้ำ, เรื่องข้าว, ผ้า, ที่นอน, ดอกไม้, ของหอม, ญาติ, ยานพาหนะ, บ้าน, จังหวัด, เมืองหลวง, บ้านนอก, หญิง, ชาย, คนกล้า, ตรอก, ท่าน้ำ,คนตายไปแล้ว, เรื่องโลกต่างๆ, เรื่องสมุทร, เรื่องความฉิบหาย, เรื่องความมั่งคั่ง,บ้างอยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการประกอบเดรัจฉานกถา เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่งกันอยู่ คือแก่งแย่งกันว่า "ท่านไม่รู้ทั่วถึงพระธรรมวินัยนี้, ข้าพเจ้ารู้ทั่วถึงธรรมวินัยนี้,ท่านจะรู้ทั่วถึงอย่างไรได้, ท่านปฏิบัติผิด ข้าพเจ้าปฏิบัติถูก, ถ้อยคำของข้าพเจ้าเป็นประโยชน์, - ของท่านไม่เป็นประโยชน์, คำควรพูดก่อนท่านนำมาพูดทีหลังคำควรพูดทีหลัง ท่านพูดเสียก่อน, ข้อที่ท่านเคยเชี่ยวชาญ ได้เปลี่ยนแปลงไปเสียแล้ว, ข้าพเจ้ายกคำพูดแก่ท่านได้แล้ว ท่านถูกข้าพเจ้าข่มได้แล้ว ท่านจงถอนคำพูดของท่านเสีย หรือถ้าท่านสามารถ ก็จงค้านมาเถิด" ดังนี้ อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการกล่าวถ้อยคำแก่งแย่ง เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการรับเป็นทูต, รับใช้ไปในที่นั้นๆ อยู่ คือรับใช้พระราชา รับใช้อมาตย์ของพระราชา รับใช้กษัตริย์-พราหมณ์ -คหบดี และรับใช้เด็กๆ บ้าง ที่ใช้ว่า "ท่านจงไปที่นี้, ท่านจงไปที่โน้น, ท่านจงนำสิ่งนี้ไป, ท่านจงนำสิ่งนี้มา" ดังนี้ อยู่, ส่วนพระสมณโคดมท่านเป็นผู้งดขาดจากการรับเป็นทูต เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบการแสวงหาลาภ ด้วยการกล่าวคำล่อหลอก การพูดพิรี้พิไร การพูดแวดล้อมด้วยเลิศ การพูดให้ทายกเกิดมานะมุทะลุในการให้ และการใช้ของค่าน้อย ต่อเอาของที่มีค่ามาก อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการแสวงหาลาภโดยอุบายหลอกลวง เห็นปานดังนั้นเสีย.

(เหล่านี้ เป็นส่วน มัชฉิมศีล)

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบมิจฉาอาชีวะ ทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานนี้อยู่ คือ ทายลักษณะในร่างกาย, นิมิตลางดีร้าย, ดาวตก, อสนีบาต,ทำนายฝัน, ชะตา, ผ้าหนูกัด, ทำพิธิโหมเพลิง, เบิกแว่นเวียนเทียนซัดโปรยแกลบรำข้าวสาร ฯลฯ, อยู่, ส่วนท่านเป็นผู้งดขาดจากการประกอบมิจฉาอาชีวะ ทำเดรัจฉานวิชา เห็นปานดังนั้นเสีย.

...ว่า พระสมณโคดม, เมื่อสมณะหรือพราหมณ์บางพวก พากันฉันโภชนะที่ทายกถวายด้วยศรัทธาแล้ว ยังประกอบมิจฉาอาชีวะ ทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนี้อยู่ คือ ฯลฯ (05.28หมวดทายลักษณะสิ่งของ เช่นแก้ว, ไม้เท้า, เสื้อผ้า,ทาสเป็นต้น, หมวดทำนายการรบพุ่ง, หมวดทำนายทางโหราศาสตร์, หมวดทำนายดินฟ้าอากาศ,หมวดร่ายมนต์พ่นด้วยคาถา, หมวดทำให้คนมีอันเป็นไปต่างๆ และหมวดทำเวชกรรม ประกอบยาแก้โรคต่างๆ) อยู่, ส่วนท่านงดขาดจากการประกอบมิจฉาอาชีวะ ทำเดรัจฉานวิชาเห็นปานนั้นเสีย.

(เหล่านี้ เป็นส่วน มหาศีล)

ภิกษุ ท.! นี่แล คำสำหรับบุถุชน พูดสรรเสริญคุณของตถาคตยังน้อยยังต่ำ สักว่าเป็นขั้นศีลเท่านั้น.

ภิกษุ ท.! ธรรมอื่น ที่ลึกซึ่ง เห็นยาก รู้ยาก รำงับ ประณีตไม่เป็นที่เที่ยวของความตริตรึก (ตามธรรมดา) เป็นธรรมละเอียด รู้ได้เฉพาะบัณฑิต ซึ่งตถาคตได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้แจ้งตามด้วย,เป็นคำสำหรับผู้จะพูดสรรเสริญตถาคตให้ถูกต้องเต็มตามเป็นจริง มีอยู่. ธรรมนั้นคืออะไรเล่า? (ต่อนี้ ทรงแสดงทิฏฐิ 62 ประการ พร้อมทั้งเรื่องราวต้นเหตุ, ที่เป็นหัวข้อ เปิดดูได้ในภาค 3 ของหนังสือเล่มนี้ โดยหัวข้อว่า "ทรงทราบทิฏฐิวัตถุที่ลึกซึ่ง 62", ส่วนเรื่องละเอียดเปิดดูในพระบาลีเดิม; หรือจากหนังสือปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ โดยหัวข้อที่ว่าด้วยเรื่องนี้).

- บาลี พรหมชาลสูตร สี.ที. 9/4/2. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่อุทยานอัมพลัฎฐิกา, ระหว่างกรุงราชคฤห์ กับเมืองนาลันทา ต่อกัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง