[Font : 15 ]
| |
การทำให้เกิดสัมมาทิฏฐิ เมื่อมีปัญหาระหว่างลัทธิ |  

( นัตถิก - อัตถิกวาท, อกิริย - กิริยวาท, อเหตุก - เหตุกวาท, อารุปปวาท, ภวนิโรธวาท )

(พราหมณ์และคหบดีชาวบ้านสาเลยยกะ ได้ยินเสียงเล่าลือว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นพระอรหันต์ รู้แจ้งโลกทั้งปวง แสดงธรรมงดงามบริบูรณ์ ประกาศพรหมจรรย์บริสุทธิ์ ก็พากันไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เสด็จมาถึงหมู่บ้านนี้แล้ว จนถึงที่ประทับ. บางพวกแสดงความเคารพ บางพวกไม่แสดงความเคารพ นั่งอยู่. พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสแก่ชาวบ้านสาเลยยกะเหล่านั้น ว่า :-)

คหบดี ท. ! มีอยู่ไหม ศาสดาไร ๆ ซึ่งเป็นที่พอใจของท่าน จนถึงกับท่านปลงสัทธาลงไปแล้วอย่างมีเหตุผล ?

“ยังไม่มี พระเจ้าข้า !”

คหบดี ท. ! สำหรับพวกท่านที่ยังไม่มีศาสดาอันเป็นที่พอใจ ธรรมะอันผิดไม่ได้ (อปัณณกธรรม) นี้ มีอยู่ สำหรับพวกท่านสมาทานแล้วปฏิบัติ. คหบดี ท. ! ธรรมะอันผิดไม่ได้นั้น เมื่อท่านสมาทานเต็มเปี่ยมแล้ว จักเป็นไปเพื่อหิตสุขแก่พวกท่านตลอดกาลนาน. คหบดี ท. ! ธรรมะอันผิดไม่ได้นั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

คหบดี ท. ! มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้.

คหบดี ท. ! ยังมีสมณพราหมณ์พวกหนึ่ง ซึ่งมีวาทะเป็นข้าศึกโดยตรงต่อสมณพราหมณ์เหล่านั้น กล่าวอยู่อย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล), ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว มี, โลกนี้ มี, โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกะสัตว์ มี, สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้. คหบดี ท. ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : สมณพราหมณ์สองพวกนี้ เป็นผู้มีวาทะ เป็นข้าศึกโดยตรงต่อกันและกัน มิใช่หรือ ?

“อย่างนั้น พระเจ้าข้า !”

คหบดี ท. ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใดมีวาทะมีทิฏฐิว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี, ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี, ...ฯลฯ … ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้นั้น พวกเขาพึงหวังได้ในข้อนี้ คือเลิกละกุศลธรรม 3 ประการนี้ กล่าวคือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เสีย แล้วสมาทานประพฤติอกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เป็นแน่นอน. ข้อนั้น เพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่า สมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ไม่มองเห็นโทษอันต่ำทรามเศร้าหมองของอกุศลธรรม และไม่มองเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมขาวผ่องฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย เสียเลย. ทิฏฐิของเขา ต่อโลกอื่นซึ่งมีอยู่แท้ ๆ กลับไปเห็นเสียว่าโลกอื่นไม่มี ทิฏฐินั้นของเขาจึงเป็นมิจฉาทิฏฐิ. โลกอื่นซึ่งมีอยู่แท้ ๆ เขาดำริไปว่า โลกอื่นไม่มี ความดำรินั้นของเขา จึงเป็นมิจฉาสังกัปปะ. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่แท้ ๆ ว่าโลกอื่นไม่มี วาจานั้นของเขา จึงเป็นมิจฉาวาจา. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่แท้ ๆ ว่าโลกอื่นไม่มี เช่นนี้ชื่อว่าเขาทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกอื่น. โลกอื่นมีอยู่แท้ ๆ เขาทำให้ผู้อื่นสำคัญว่าโลกอื่นไม่มี การกระทำของเขานั้น จึงเป็นอสัทธัมมสัญญัตติ์ (ทำให้ผู้อื่นหมายมั่นในอสัทธรรม) และด้วยอสัทธัมมสัญญัตติ์ของเขานั่นเอง เขายกตนข่มผู้อื่น. ด้วยการกระทำอย่างนี้ ชื่อว่า เขาละปกติภาวะอันดีงามในกาลก่อนของเขาเสีย มาตั้งอยู่ในปกติภาวะอันเลวทราม คือ มิจฉาทิฏฐิ มิจฉาสังกัปปะ มิจฉาวาจา ความเป็นข้าศึกต่อพระอริยเจ้า อสัทธัมมสัญญัตติ์ การยกตน และการข่มผู้อื่น. ด้วยอาการอย่างนี้ อกุศลธรรมอันลามกเป็นอเนกเหล่านั้น ย่อมเกิดแก่เขา เพราะมีมิจฉาทิฏฐิเป็นปัจจัย.

คหบดี ท. ! ในบรรดาทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าโลกอื่นไม่มี บุรุษผู้เจริญ (ผู้ถืออยู่ว่าโลกอื่นไม่มี) นี้ หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักทำความสวัสดีให้แก่ตนได้ เพราะเหตุนั้น ก็จริงอยู่ ; แต่ถ้าโลกอื่นมี บุรุษผู้เจริญนี้, หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก เพราะเหตุนั้น เป็นแน่แท้. เอาละ เป็นอันว่าโลกอื่นก็อย่ามี คำจริงของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ก็ไม่ต้องเอามากล่าวอ้าง ; ถึงกระนั้น บุรุษผู้เจริญนั้น ก็ยังจะถูกวิญญูชนติเตียนในทิฏฐธรรมนี้แหละ ว่าเป็นคนทุศีล เป็นมิจฉาทิฏฐิ เป็นนัตถิกวาท ดังนี้ อยู่นั่นเอง. ถ้าว่าโลกอื่นเกิดมีขึ้นมาจริง ๆ แล้ว การได้รับกระลี14.35 ทั้งสองฝ่าย ย่อมมีแก่บุรุษผู้เจริญนั้น กล่าวคือ ในทิฏฐธรรมนี้ก็ถูกวิญญูชนติเตียน และหลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย ก็เข้าถึงอบายทุคติวินิบาตนรก. นี่แหละ คืออปัณณกธรรม (ธรรมอันผิดไม่ได้) นี้ ที่บุคคลนี้ถือเอาผิดโดยสิ้นเชิง ย่อมแผ่ไปโดยท่าเดียว ตั้งอยู่อย่างลิดรอนซึ่งรากฐานแห่งกุศล.

คหบดี ท. ! ในบรรดาสมณพราหมณ์ทั้งสองพวกนั้น สมณพราหมณ์พวกใด มีวาทะมีทิฏฐิอย่างนี้ว่า “ทานที่ให้แล้ว มี(ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี(ผล), ...ฯลฯ … ผู้ทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้นั้น พวกเขาพึงหวังได้ในข้อนี้ คือพึงเลิกละอกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต เสีย แล้วสมาทานประพฤติกุศลธรรมสามประการ กล่าวคือ กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต เป็นแน่นอน. ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? เพราะเหตุว่าสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น มองเห็นโทษอันต่ำทรามเศร้าหมอง ของอกุศลธรรม และมองเห็นอานิสงส์ในเนกขัมมะ อันเป็นธรรมขาวผ่องฝ่ายกุศลธรรมทั้งหลาย. ทิฏฐิของเขา ต่อโลกอื่นซึ่งมีอยู่นั่นเทียว ก็เป็นทิฏฐิที่เห็นว่าโลกอื่นมีอยู่ ทิฏฐินั้นของเขา จึงเป็นสัมมาทิฏฐิ. โลกอื่นซึ่งมีอยู่นั่นเทียว เขาก็ดำริว่าโลกอื่นมีอยู่ ความดำรินั้นของเขา จึงเป็นสัมมาสังกัปปะ. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่นั่นเทียว ว่าโลกอื่นมีอยู่ วาจานั้นของเขา จึงเป็นสัมมาวาจา. เขากล่าวซึ่งโลกอื่นอันมีอยู่นั่นเทียว ว่าโลกอื่นมีอยู่ เช่นนี้ชื่อว่าเขาไม่ทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ทั้งหลายผู้รู้แจ้งโลกอื่น. โลกอื่นมีอยู่นั่นเทียว เขาทำให้ผู้อื่นสำคัญว่าโลกอื่นมีอยู่ การกระทำของเขานั้น จึงเป็นสัทธัมมสัญญัตติ์ (ทำให้ผู้อื่นหมายมั่นในสัทธรรม) และด้วยสัทธัมมสัญญัตติ์ของเขานั่นเอง เขาย่อมไม่ยกตนข่มผู้อื่น. ด้วยการกระทำอย่างนี้ ชื่อว่า เขาละปกติภาวะอันเลวทรามในกาลก่อนของเขาเสีย มาตั้งอยู่ในปกติภาวะอันดีงาม คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา ความไม่เป็นข้าศึกต่อพระอริยเจ้า สัทธัมมสัญญัตติ์ การไม่ยกตัว และการไม่ข่มผู้อื่น. ด้วยอาการอย่างนี้ กุศลธรรมเป็นอเนกเหล่านั้น ย่อมเกิดแก่เขาเพราะมีสัมมาทิฏฐิเป็นปัจจัย.

คหบดี ท. ! ในบรรดาทิฏฐิทั้งสองอย่างนั้น บุรุษผู้วิญญูชน ย่อมใคร่ครวญเห็นอย่างนี้ว่า ถ้าโลกอื่นมีอยู่ บุรุษผู้เจริญนี้ หลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย จักเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เพราะเหตุนั้น. เอาละ เป็นอันว่าโลกอื่นก็อย่ามีกันเลย คำจริงของสมณพราหมณ์ผู้เจริญเหล่านั้น ก็ไม่ต้องเอามากล่าวอ้าง ; ถึงกระนั้น บุรุษผู้เจริญนั้น ก็ยังจะเป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญในทิฏฐธรรมนี้แหละ ว่าเป็นคนมีศีล เป็นสัมมาทิฏฐิ เป็นอัตถิกวาท ดังนี้ อยู่นั่นเอง. ถ้าว่าโลกอื่นเกิดมีขึ้นมาจริง ๆ แล้ว การถือเอาซึ่งความสำเร็จทั้งสองฝ่าย ย่อมมีแก่บุรุษผู้เจริญนั้น กล่าวคือ ในทิฏฐธรรมนี้ก็เป็นผู้อันวิญญูชนสรรเสริญ และหลังจากการตายเพราะการทำลายแห่งกาย ก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์. นี่แหละ คืออปัณณกธรรม (ธรรมอันผิดไม่ได้) นี้ ที่บุคคลนี้ถือเอาถูกโดยสิ้นเชิง ย่อมแผ่ไปโดยส่วนทั้งสอง ตั้งอยู่อย่างลิดรอนซึ่งรากฐานแห่งอกุศล.

- ม. ม. 13/101 - 105/104 - 109.

(สัมมาทิฏฐิแห่งพระบาลีนี้ ยังเป็นประเภท โลกิยสัมมาทิฏฐิ คือยังมีอาสวะ มีความยึดมั่นว่าสัตว์ว่าบุคคล มีความดีความชั่ว มีนรกสวรรค์ เป็นต้น ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ฝ่าย.

เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้น ในลักษณะที่เป็นทิฏฐิ คือเป็นเพียงความเห็น ไม่มีประจักษ์พยานที่เป็นวัตถุสิ่งของมาแสดงให้เห็นชัดได้ ก็ มีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะต้องสร้างทิฏฐิขึ้นมาในลักษณะที่เป็นไปเพื่อประโยชน์สุขโดยส่วนเดียว. ตัวอย่างปัญหาเกิดขึ้นมาว่า โลกอื่นมี หรือ ไม่มี เราจะต้องถือเอาข้างฝ่ายทิฏฐิที่ทำให้เกิดประโยชน์โดยส่วนเดียว ซึ่งในที่นี้ได้แก่ทิฏฐิที่ถือว่า โลกอื่นมี ซึ่งเป็นเหตุให้ขวนขวายบำเพ็ญประโยชน์อันเป็นไปเพื่อโลกอื่น และได้รับประโยชน์สุขในโลกอื่น ; ถ้าเผอิญโลกอื่นไม่มี ตนก็ไม่เสียประโยชน์อะไร การกระทำเพื่อประโยชน์โลกอื่นก็ไม่เสียเปล่า คือเป็นความดีที่ได้รับการสรรเสริญจากวิญญูชนในโลกนี้ และได้รับประโยชน์สุขในโลกนี้อย่างเต็มที่. ดังนั้นจึงสรุปความว่า การมีทิฏฐิว่าโลกอื่นมี ย่อมถือเอาได้ซึ่งประโยชน์โดยส่วนสอง คือแม้โลกอื่นจะไม่มีก็ยังได้รับประโยชน์ ยิ่งโลกอื่นมีก็ยิ่งได้รับประโยชน์ จึง เรียกทิฏฐิชนิดนี้ว่าเป็นอปัณณกธรรม คือธรรมที่ผิดไม่ได้ทั้งสองฝ่าย เป็นสัมมาทิฏฐิที่ตัดปัญหาออกไปเสียได้โดยประการทั้งปวง ในเมื่อเกิดปัญหาที่แย้งกันอย่างตรงข้ามเป็น 2 ฝ่าย ดังที่กล่าวไว้ในพระบาลีนี้. เราจึงถือว่า สัมมาทิฏฐิชนิดนี้ระงับผลร้ายเสียได้ในเมื่อเกิดการขัดแยังในระหว่างลัทธิ.

ในความขัดแย้งระหว่างทิฏฐิคู่อื่น ๆ เช่นทิฏฐิว่า การกระทำไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ หรือการกระทำชื่อว่าเป็นอันกระทำ (ทำบุญทำบาปไม่ชื่อว่าเป็นอันกระทำ หรือทำบุญทำบาปชื่อว่าเป็นอันกระทำ) เกิดเป็นปัญหาขัดแย้งกันขึ้นมาแล้ว พึงเลือกถือเอาทิฏฐิข้างฝ่ายที่จะผิดไม่ได้อีกอย่างเดียวกัน คือทิฏฐิที่ว่า การกระทำชื่อว่าเป็นอันกระทำ และเลือกกระทำแต่ฝ่ายข้างดี ; แม้สมมติว่าการกระทำนั้นจะไม่เป็นการกระทำ เขาก็ยังได้รับผลของการกระทำ คือเป็นที่สรรเสริญแห่งวิญญูชน และผู้นั้นก็ได้รับประโยชน์สุขอยู่นั่นเอง. นี้เป็น สัมมาทิฏฐิที่ควรมี หรือถือเป็นหลักในเมื่อเกิดการขัดแย้งขึ้นเกี่ยวกับลัทธิที่ต่างกันชนิดหนึ่ง. - ม. ม. 13/105 - 110/110 - 114.

สำหรับทิฏฐิที่ว่ามีเหตุหรือไม่มีเหตุแห่งเศร้าหมองหรือความบริสุทธิ์ของสัตว์ นั้น ก็มีหลักเกณฑ์ทำนองเดียวกัน คือถ้า ถือว่า มีเหตุ ก็จะเป็นความปลอดภัยกว่าการถือว่าไม่มีเหตุ. ผู้ที่ถือว่ามีเหตุ ย่อมกระทำการกระทำที่เป็นสร้างเหตุดีเว้นเหตุชั่ว; สมมติว่าสิ่งทั้งหลายจะเป็นสิ่งที่ไม่มีเหตุขึ้นมา การกระทำของเขาก็ยังเป็นความดีทั้งสองสถาน คือวิญญูชนสรรเสริญ และเขาก็ได้รับผลดีแห่งการกระทำของเขา คือเป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกอื่น. แม้นี้ก็คือ สัมมาทิฏฐิที่ควรสร้างขึ้น เมื่อมีการขัดแย้งระหว่างลัทธิ ด้วยเหมือนกัน. - ม. ม. 13/111 - 115/115 - 119.

สำหรับทิฏฐิที่ว่า อารุปปธรรม (คุณสมบัติที่เป็นสภาวะไม่มีรูป) เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่ได้มีอยู่ นั้น วิญญูชนจะเลือกถือเอาข้างที่ว่า มีอยู่ และปฏิบัติเพื่อให้ได้ซึ่งคุณธรรมประเภทที่ไม่มีรูปนั้น เขาก็จะได้รับประโยชน์ทั้งสองฝ่าย ; คือสมมติว่าถ้าอารุปปธรรมเป็นสิ่งที่มิได้มีอยู่ เขาก็ยังได้รับประโยชน์ที่รองลงมา คือ รุปปธรรม (คุณสมบัติหรือคุณค่าที่มีรูป), ถ้าหากว่า อารุปปธรรมมีจริง เขาก็จะได้รับคุณค่าหรือประโยชน์ชั้นที่เป็นอารุปปธรรมนั้นตามความมุ่งหมาย. ดังนั้น การที่ถือว่า อารุปปธรรมเป็นสิ่งที่มีอยู่นั้น จัดเป็นสัมมาทิฏฐิที่ไม่อาจจะผิดได้ ในเมื่อเกิดการขัดแย้งกันขึ้นในระหว่างลัทธิ. อนึ่ง ถ้าอธิบายตามแบบเก่า ๆ อย่างในอรรถกถา ก็คือให้ถือว่า อรูปพรหมมีอยู่ แล้วปฏิบัติเพื่ออรูปพรหมนั้น ถ้าสมมติว่าอรูปพรหมไม่มี ก็ยังได้รับผลเป็นรูปพรหมที่รองลงมา แต่ถ้าอรูปพรหมมีก็จะได้รับผลเต็มตามความหมายของอรูปพรหม จึงถือว่าเป็นทิฏฐิที่ถูกต้อง. อีกอย่างหนึ่ง ถ้ากล่าวสำหรับผู้มีการศึกษาแห่งยุคปัจจุบัน ก็ต้องกล่าวว่า คุณค่าหรือคุณสมบัติชนิดที่ไม่ต้องมีสภาวะเป็นรูปธรรม (คือไม่เป็นวัตถุนิยม) นั้นก็มีอยู่ และมีผลเป็นความสะดวกกว่าสบายกว่า เป็นสุขสงบกว่า ประเสริฐกว่า เพราะไม่ต้องมีการกระทบกระทั่งฝ่ายรูปธรรม เช่นการทะเลาะวิวาทหรือป่วยไข้ทางร่างกายเป็นต้น. - ม. ม. 13/115/120.

สำหรับทิฏฐิว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวง เป็นสิ่งที่มีอยู่หรือไม่มี นั้น วิญญูชนจะถือเอาข้างฝ่ายที่ถือว่า มีความดับแห่งภพ แล้วก็ปฏิบัติเพื่อความดับแห่งภพ เขาก็จะได้รับผลเป็นปรินิพพานในทิฏฐธรรมนี้ ; ส่วนพวกที่ถือว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวงไม่มีนั้น เขาก็จะไปติดตันตายด้านอยู่เพียงแค่อรูปภพอันเป็นภพสูงสุด. ดังนั้น การถือว่า ความดับแห่งภพโดยประการทั้งปวงมีอยู่ นั้นเป็นสัมมาทิฏฐิที่ไม่มีทางจะผิดได้ ในเมื่อมีการทุ่มเถียงขัดแย้งกันระหว่างลัทธิ. - ม. ม. 13/117/121.

สรุปความว่า ปัญหาทางลัทธินั้น คือปัญหาเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่อาจจะมองเห็นตัว หรือได้ยินเสียงโดยตรง จนถึงกับเรากล่าวว่ามันเป็นอย่างไร ๆ ได้ ดังนั้น จึงต้องตั้งขึ้นเป็นลัทธิชนิดที่เป็นสัมมาทิฏฐิ คือทำให้ได้รับประโยชน์โดยส่วนเดียวเกี่ยวกับสิ่งที่เขามองไม่เห็นตัวหรือฟังเสียงโดยตรงไม่ได้นั้น ๆ เราจึงต้องจัดทำหรือต้องมีอย่างถูกต้องชนิดที่ผิดไม่ได้ ดังที่กล่าวไว้ในหัวข้อธรรมะเหล่านี้.)


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง