[Font : 15 ]
| |
นัตถิกทิฏฐิปิดบังการเห็นอริยสัจ 4 จึงสงสัยต่อหลักของอริยสัจหรือ ปฏิจจสมุปบาท

นัตถิกทิฏฐิปิดบังการเห็นอริยสัจ 4 จึงสงสัยต่อหลักของอริยสัจหรือปฏิจจสมุปบาทPTC49

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่ออะไรมีอยู่หนอ เพราะเข้าไปยึดถือซึ่งอะไร เพราะปักใจเข้าไปสู่อะไร ทิฎฐิจึงเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า "ไม่มีทานอันบุคคลบริจาคแล้ว, ไม่มียัญญะอันบุคคลประกอบแล้ว, ไม่มีโหตระอันบุคคลบูชาแล้ว, ไม่มีผลวิบากแห่งกรรม อันบุคลกระทำดีแล้ว กระทำชั่วแล้ว, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีมารดา, ไม่มีบิดา, ไม่มีสัตว์ทั้งหลายอันเป็นโอปปาติกะ, ไม่มีสรณะและพราหมณ์ผู้ไปแล้วถูกต้อง ผู้ปฎิบัติแล้วถูกต้อง ผู้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้ และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศอยู่ในโลก ; คนเรานี้ เป็นแต่การประชุมของมหาภูตทั้งสี่, เมื่อใดทำกาละ เมื่อนั้นดินย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งดิน น้ำย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งน้ำ ไฟย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งไฟ ลมย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งลม อินทรีย์ทั้งหลายย่อมหายไปในอากาศ ; บุรุษทั้งหลายมีเตียงวางศพเป็นที่ครบห้า จะพาเขาผู้ตายแล้วไป ; ร่องรอยทั้งหลาย ปรากฏอยู่เพียงแค่ป่าช้า เป็นเพียงกระดูกทั้งหลาย มีสีเพียงดังสีแห่งนกพิลาป, การบูชาเซ่นสรวง มีขี้เถ้าเป็นที่สุด, สิ่งที่เรียกว่าทานนั้น เป็นบทบัญญัติของคนเขลา, คำของพวกที่กล่าวว่า อะไรๆ มีอยู่นั้นเป็นคำเปล่า (จากความหมาย), เป็นคำเท็จ เป็นคำเพ้อเจ้อ ; ทั้งคนพาลและบัณฑิต ครั้นกายแตกทำลายแล้ว ย่อมขาดสูญพินาศไป มิได้มีอยู่ ภายหลังแต่การตาย” ดังนี้ ?

ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้น กราบทูลวิงวอนว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมทั้งหลายของพวกข้าพระองค์ มีพระผู้มีพระภาคเป็นมูล มีพระผู้มีพระภาคเป็นผู้นำ มีพระผู้มีพระภาคเป็นที่พึ่ง. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เป็นการชอบแล้วหนอ ขอให้อรรถแห่งภาษิตนั้น จงแจ่มแจ้งกะพระผู้มีพระภาคเองเถิด. ภิกษุทั้งหลายได้ฟังจากพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้” ดังนี้. พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงตรัสเตือนให้ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นตั้งใจฟังด้วยดีแล้ว ได้ตรัสข้อความต่อไปนี้:-

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อรูปนั่นแล มีอยู่, เพราะเข้าไปยึดถือซึ่งรูป เพราะปักใจเข้าไปสู่รูป ทิฏฐิจึงเกิดขึ้นอย่างนี้ว่า “ไม่มีทานอันบุคคลบริจาคแล้ว, ไม่มียัญญะอันบุคคลประกอบแล้ว, ไม่มีโหตระอันบุคคลบูชาแล้ว, ไม่มีผลวิบากแห่งกรรม อันบุคคลกระทําดีกระทําชั่ว, ไม่มีโลกนี้, ไม่มีโลกอื่น, ไม่มีมารดา, ไม่มีบิดา, ไม่มีสัตว์ทั้งหลาย อันเป็นโอปปาติกะ, ไม่มีสรณะและพราหมณ์ผู้ไปแล้วถูกต้อง ผู้ปฏิบัติแล้วถูกต้อง ผู้ทําให้แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศอยู่ในโลก : คนเรานี้ เป็นแต่การประชุมของมหาภูตทั้ง 4, เมื่อใดทํากาละ เมื่อนั้นดินย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งดิน น้ำย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งน้ำ ไฟย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งไฟ ลมย่อมเข้าไปสู่หมู่แห่งลม อินทรีย์ทั้งหลาย ย่อมหายไปในอากาศ : บุรุษทั้งหลาย มีเตียงวางศพเป็นที่ครบ 5 จะพาเขา ผู้ตายแล้วไป, ร่องรอยทั้งหลาย ปรากฏอยู่เพียงแค่ป่าช้า เป็นเพียงกระดูกทั้งหลาย มีสี เพียงดังสีแห่งนกพิลาป, การบูชาเซ่นสรวง มีขี้เถ้าเป็นที่สุด, สิ่งที่เรียกว่าทานนั้นเป็น บทบัญญัติของคนเขลา, คําของพวกที่กล่าวว่า อะไรๆ มีอยู่นั้น เป็นคําเปล่า (จากความหมาย) เป็นคําเท็จ เป็นคําเพ้อเจ้อ, ทั้งคนพาลและบัณฑิต ครั้นกายแตกทําลายแล้ว ย่อมขาดสูญ พินาศไป มิได้มีอยู่ ภายหลังแต่ตายแล้ว" ดังนี้

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสําคัญความข้อนี้ ว่าอย่างไร : รูปเที่ยง หรือไม่เที่ยง ? ("ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้น เป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? (เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”) แม้สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งสิ่งนั้นแล้ว ทิฏฐิอย่างนี้ จะเกิดขึ้นได้ไหมว่า "ไม่มีทานอันบุคคลบริจาคแล้ว, ไม่มียัญญะอันบุคคลประกอบแล้ว, ไม่มีโหตระอันบุคคลบูชาแล้ว, ไม่มีผลวิบากแห่งกรรมอันบุคคลกระทําดีแล้ว, กระทําชั่วแล้ว, …ฯลฯ…ฯลฯ… คําของพวกที่กล่าวว่าอะไรๆ มีอยู่ นั้นเป็นคําเปล่า (จากความหมาย) เป็นคําเท็จ เป็นคําเพ้อเจ้อ: ทั้งคนพาลและบัณฑิต ครั้นกายแตกทําลายแล้ว ย่อมขาดสูญ พินาศไป มิได้มีอยู่ ภายหลังแต่ตาย" ดังนี้. ("ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”) (ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ก็มีคํากล่าว อย่างเดียวกันทุกตัวอักษรกับคํากล่าวในกรณีแห่งรูปนี้ ต่างกันแต่เพียงชื่อแห่งขันธ์แต่ละขันธ์ เท่านั้น)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แม้สิ่งใดที่บุคคลได้เห็นแล้ว ฟังแล้ว รู้สึกแล้ว รู้แจ้งแล้ว บรรลุแล้ว แสวงหาแล้วครุ่นคิดอยู่ด้วยใจแล้ว ; เหล่านี้ เป็นของเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? (“ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า !”) ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า ? (“เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า !”) แม้สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา แต่ถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่นซึ่งสิ่งนั้นแล้ว ทิฏฐิอย่างนี้ จะเกิดขึ้นได้ไหมว่า “ไม่มีทานอันบุคคลบริจาคแล้ว, ไม่มียัญญะอันบุคคลประกอบแล้ว, ไม่มีโหตระอันบุคคลบูชาแล้ว, ไม่มีผลวิบากแห่งกรรมอันบุคคลกระทำดีแล้ว กระทำชั่วแล้ว, …ฯลฯ…ฯลฯ… คำของพวกที่กล่าวว่า อะไรๆ มีอยู่นั้นเป็นคำเปล่า (จากความหมาย) เป็นคำเท็จ เป็นคำเพ้อเจ้อ; ทั้งคนพาลและบัณฑิต ครั้นกายแตกทำลายแล้ว ย่อมขาดสูญพินาศไป มิได้มีอยู่ภายหลังแต่การตาย” ดังนี้. (“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”)

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ในการใดแล ความสงสัย (กังขา) ในฐานะทั้งหลาย 6 ประการเหล่านี้ เป็นสิ่งที่อริยะสาวกละขาดแล้ว ; ในกาลนั้น ก็เป็นอันว่า ความสงสัยแม้ในทุกข์, แม้ในเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์, แม้ในความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, แม้ในข้อปฏิบัติเครื่องทำสัตว์ให้ลุถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์, ก็เป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้น ละขาดแล้ว.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกนี้ เราเรียกว่า เป็นอริยสาวกผู้เป็นโสดาบันมีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เป็นผู้เที่ยงแท้ (ต่อนิพพาน) มีการตรัสรู้พร้อมในเบื้องหน้า, ดังนี้ แล.

นัตถิกทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ ดังกล่าวมานี้ เป็นสุดโต่งฝ่ายข้างไม่มี ตรงกันข้ามจากสัสสตทิฏฐิ ซึ่งเป็นสุดโต่งฝ่ายข้างมี ล้วนแต่ปิดบังการเห็นอริยสัจ 4 ด้วยกันทั้งสองอย่าง. อริยสัจ 4 คือ ปฏิจจสมุทบาท ; ดังนั้น จึงเป็นการปิดบังปฏิจจสมุทบาทพร้อมกันไปในตัว.

ตอนต้นของนัตถิกทิฏฐิ ตั้งแต่คําว่า "การให้ทานไม่มี" ไปจนถึงคําว่า “สัตว์ผู้เป็นอุปปาติกะ ไม่มี" นี้ถูก มาใช้เป็นคําอธิบายของมิจฉาทิฏฐิในขั้นมูลฐานทางศีลธรรมทั่วไป เช่น มิจฉาทิฏฐิในอกุศลกรรมบถ เป็นต้น ซึ่งยังมิใช่นัตถิกทิฏฐิเต็มรูป จึงเรียกว่า มิจฉาทิฏฐิเฉยๆ. –ผู้รวบรวม.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ