[Font : 15 ]
| |
ความไม่มีเนกขัมมวิตก ในจิตของสามัญสัตว์

วาเสฏฐะ! เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนั้น มีน้ำเต็มเปี่ยม กายืนดื่มได้. ครั้งนั้น มีบุรุษคนหนึ่งมาถึงเข้า เขามีประโยชน์ที่ฝั่งโน้น แสวงหาฝั่งโน้น มีการไปสู่ฝั่งโน้น ประสงค์จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น แต่เขาผูกมัดตนอย่างเหนียวแน่นด้วยเชือกอันมั่นคง ให้มีแขนไพล่หลังอยู่ที่ริมฝั่งนี้. วาเสฏฐะ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : บุรุษนั้น จะไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำอจิรวดี ได้หรือหนอ? "ไม่ได้แน่ ท่านพระโคดม"

วาเสฏฐะ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : กามคุณ 5 อย่าง เหล่านี้ เรียกกันในอริยวินัยว่า "ขื่อคา" บ้าง ว่า "เครื่องจองจำ" บ้าง. 5 อย่าง อย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยหู .... กลิ้นที่พึงรู้แจ้งด้วยจมูก .... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยลิ้น .... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย (แต่ละอย่างๆ) อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ. วาเสฏฐะ! กามคุณ 5 อย่าง เหล่านี้แล ซึ่งเรียกกันในอริยวินัยว่า "ขื่อคา" บ้าง ว่า "เครื่องจองจำ" บ้าง.

วาเสฏฐะ! พราหมณ์ไตรเพททั้งหลาย หยั่งลงอยู่ สงบอยู่ เมาหมกอยู่ ไม่มองเห็นโทษต่ำทราม ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก บริโภคอยู่ ซึ่งกามคุณทั้ง 5 เหล่านี้. วาเสฏฐะ! พราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น ละธรรมะที่ทำความเป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมะที่ไม่ทำความเป็นพราหมณ์ ดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่ บริโภคกามคุณทั้ง 5 อย่างจมลึกอยู่ สงบอยู่ เมาหมกอยู่ ไม่มองเห็นโทษต่ำทราม ไม่มีปัญญาเครื่องสลัดออก มีกามฉันทะผูกมัดแล้ว จักเป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ดังนี้นั้น : นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้.

วาเสฏฐะ! เปรียบเหมือนแม่น้ำอจิรวดีนี้ มีน้ำเต็มเปี่ยม กายืนดื่มได้. ครั้งนั้น มีบุรุษคนหนึ่งมาถึงเข้า เขามีประโยชน์ที่ฝั่งโน้น แสวงหาฝั่งโน้น มีการไปสู่ฝั่งโน้น ประสงค์จะข้ามไปสู่ฝั่งโน้น แต่เขานอนคลุมศีรษะของตนอยู่ที่ริมฝั่งนี้. วาเสฏฐะ! ท่านจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร : บุรุษนั้น จะไปจากฝั่งนี้สู่ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำอจิรวดี ได้หรือหรอ? "ไม่ได้แน่ท่านพระโคดม!"

วาเสฏฐะ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน : นิวรณ์ 5 อย่าง เหล่านี้เรียกกันในอริยวินัยว่า "เครื่องปิด" บ้าง ว่า "เครื่องกั้น" บ้าง ว่า"เครื่องคลุม" บ้าง "เครื่องร้อยรัด" บ้าง. 5 อย่างอย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ กามฉันทนิวรณ์ พ๎ยาปาทนิวรณ์ ถีนมิทธนิวรณ์ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ วิจิกิจฉานิวรณ์. วาเสฏฐะ! นิวรณ์ 5 อย่างเหล่านี้แล ซึ่งเรียกกันในอริยวินัยว่า "เครื่องปิด" บ้าง ว่า "เครื่องกั้น" บ้าง ว่า"เครื่องคลุม" บ้าง "เครื่องร้อยรัด" บ้าง.

วาเสฏฐะ! พราหมณ์ไตรเพททั้งหลาย ถูกนิวรณ์ 5 อย่าง เหล่านี้ ปิดแล้ว กั้นแล้ว คลุมแล้ว ร้อยรัดแล้ว. วาเสฏฐะ! พราหมณ์ไตรเพทเหล่านั้น ละธรรมที่ทำความเป็นพราหมณ์เสีย สมาทานธรรมะที่ไม่ทำความเป็นพราหมณ์ ดำรงชีวิตให้เป็นไปอยู่ อันนิวรณ์ทั้ง 5 อย่างปิดแล้ว กั้นแล้ว คลุมแล้ว ร้อยรัดแล้ว จักเป็นผู้เข้าถึงความเป็นสหายแห่งพรหม ภายหลังแต่การตายเพราะการทำลายแห่งกาย ดังนี้นั้น : นั่นไม่ใช่ฐานะที่จะเป็นไปได้.

- สี.ที. 9/305-307/377-379.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง