[Font : 15 ]
| |
ทรงประกาศพรหมจักรท่ามกลางบริษัท |  

(: เรื่องเบญจขันธ์และปฏิจจสมุปบาท)

ภิกษุ ท.! ตถาคตเป็นผู้ประกอบด้วยพลญาณ 10 อย่าง และประกอบ ด้วยเวสารัชชญาณ 4 อย่าง จึง ปฏิญญาตำแหน่งจอมโลก บันลือสีหนาท ประกาศพรหมจักร ในท่ามกลางบริษัททั้งหลาย ว่า :-

"รูป คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดรูป คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งรูป คืออย่างนี้ๆ:" และว่า "เวทนา คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดเวทนา คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งเวทนา คืออย่างนี้ๆ";" และว่า "สัญญา คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดสัญญา คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งสัญญา คืออย่างนี้ๆ:" และว่า "สังขาร ทั้งหลาย คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งสังขารทั้งหลาย คืออย่างนี้ๆ;" และว่า "วิญญาณ คืออย่างนี้ๆ, เหตุให้เกิดวิญญาณ คืออย่างนี้ๆ, ความไม่ตั้งอยู่ได้แห่งวิญญาณ คืออย่างนี้ๆ;"

และว่า "เพราะสิ่งนี้มี สิ่งนี้จึงมี; เพราะสิ่งนี้เกิดขึ้น สิ่งนี้จึงเกิดขึ้น. เพราะสิ่งนี้ไม่มี สิ่งนี้จึงไม่มี; เพราะสิ่งนี้ดับ สิ่งนี้จึงดับ : ข้อนี้ได้แก่ความที่ :-

เพราะมีอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารทั้งหลาย;

เพราะมีสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ;

เพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป;

เพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ;

เพราะมีสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ;

เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา;

เพราะมีเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา;

เพราะมีตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทาน;

เพราะมีอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพ;

เพราะมีภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติ;

เพราะมีชาติเป็นปัจจัย, ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงเกิดขึ้นครบถ้วน : ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้.

เพราะความจางคลายดับไปโดยไม่เหลือแห่งอวิชชานั้นนั่นเทียว, จึงมีความดับแห่งสังขาร;

เพราะมีความดับแห่งสังขาร จึงมีความดับแห่งวิญญาณ;

เพราะมีความดับแห่งวิญญาณ จึงมีความดับแห่งนามรูป;

เพราะมีความดับแห่งนามรูป จึงมีความดับแห่งสฬายตนะ;

เพราะมีความดับแห่งสฬายตนะ จึงมีความดับแห่งผัสสะ;

เพราะมีความดับแห่งผัสสะ จึงมีความดับแห่งเวทนา;

เพราะมีความดับแห่งเวทนา จึงมีความดับแห่งตัณหา;

เพราะมีความดับแห่งตัณหา จึงมีความดับแห่งอุปาทาน;

เพราะมีความดับแห่งอุปาทาน จึงมีความดับแห่งภพ;

เพราะมีความดับแห่งภพ จึงมีความดับแห่งชาติ;

เพราะมีความดับแห่งชาตินั่นแล ชรามรณะ โสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสอุปายาสทั้งหลาย จึงดับสิ้น : ความดับลงแห่งกองทุกข์ ทั้งสิ้นนี้ ย่อมมีด้วยอาการอย่างนี้" ดังนี้ แล.

- บาลี สูตรที่ 1 ทสพลวรรค นิทานสํยุตต์ นิทาน. สํ. 16/33/64. ตรัสแก่ภิกษุ ท.ที่เชตวัน. ทรงประกาศพรหมจักร คือ เรื่องเบญจขันธ์และปฏิจจสมุปบาท, ด้วยเครื่องมือ คือทสพลญาณ 10 และเวสารัชชญาณ 4 นั่นเอง.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง