[Font : 15 ]
| |
ผัสสะ

1. พยัญชนะ : ผัสสะโดยพยัญชนะ : คือ การกระทบ.

2. อรรถะ : ผัสสะโดยอรรถะ : คือ การถึงกันเข้าระหว่างจิตที่จะเป็นผู้รู้สึก (อายตนะภายใน) ; กับสิ่งที่จะทำให้เกิดความรู้สึก (อายตนะภายนอก).

3. ไวพจน์ : ผัสสะโดยไวพจน์ : คือ สัมผัส, ผุสนา, สัมผุสนา.

4. องค์ประกอบ : ผัสสะโดยองค์ประกอบ : คือ อายตนะภายในหนึ่ง, อายตนะภายนอกหนึ่ง, วิญญาณหนึ่ง ; หรือ สิ่งที่จะทำความรู้สึกหนึ่ง, สิ่งที่จะให้เกิดความรู้สึกหนึ่ง, ความรู้สึกหนึ่ง.

5. ลักษณะ : ผัสสะโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 ไม่เที่ยง, เป็นทุกข์, เป็นอนัตตา, ตามธรรมดาของสังขตธรรมทั้งหลาย.

5.2 แห่งการอาศัยกันเกิดขึ้น, อาศัยกันดับลง, ในรูปของปฏิจจสมุปบาท.

5.3 เป็นต้นเงื่อนของปฏิจจสมุปบาท.

6. อาการ : ผัสสะโดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งการเกิดดับตามธรรมดาของสังขตธรรมทั้งหลาย.

6.2 แห่งการปรุงแต่งหรืออาการแห่งปฏิจจสมุปบาท.

6.3 แห่งการกระทบระหว่างของสองสิ่ง หรือหลายสิ่ง ซึ่งเป็นการปรุงแต่งอยู่ในตัว.

7. ประเภท : ผัสสะโดยประเภท :

7.1 แบ่งเป็นประเภทสอง : ตามชนิด :

1. อวิชชาสัมผัส : สัมผัสด้วยอวิชชา คือปราศจากวิชชา.

2. วิชชาสัมผัส : สัมผัสด้วยวิชชา คือมีวิชชาในขณะสัมผัส.

7.2 แบ่งเป็นประเภทสอง : ตามลำดับ :

1. ปฏิฆสัมผัส : การกระทบครั้งแรกระหว่าง อายตนะภายใน, อายตนะภายนอก และวิญญาณ.

2. อธิวจนสัมผัส : การกระทบระหว่างจิตและเวทนา หรือ สัญญาซึ่งเป็นผลมาจากปฏิฆสัมผัส.

7.3 แบ่งตามจำนวนแห่งทวารทั้ง 6 : คือ สัมผัสทางตา, ทางหู, ทางจมูก, ทางลิ้น, ทางกาย, ทางใจ.

8. กฎเกณฑ์ : ผัสสะโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 ผัสสะเป็นสิ่งที่ต้องมีสำหรับมนุษย์ ; เพราะมนุษย์มีอวัยวะสำหรับผัสสะ ; และโลกก็เต็มไปด้วยอารมณ์สำหรับผัสสะ.

8.2 มนุษย์ต้องมีความรู้อันถูกต้อง สำหรับการมีผัสสะ ; มิฉะนั้นจะหาความสงบสุขมิได้.

8.3 คนเราต้องระวังผัสสะยิ่งกว่าการระวังภัยหรือศัตรูร้ายใดๆ.

9. สัจจะ : ผัสสะโดยสัจจะ :

9.1 กรรมทั้งหลายมีจุดตั้งต้นที่ผัสสะ ; ไม่มีผัสสะก็ไม่มีเจตนา ; ไม่มีเจตนาก็ไม่มีกรรม.

9.2 จะอยู่เหนือกรรมได้ก็ต้องอยู่เหนืออำนาจของสิ่งที่เรียกว่าผัสสะ.

9.3 โลกมี เพราะมนุษย์มีเครื่องมือสำหรับสัมผัสโลก สิ่งนั้นคือผัสสะ.

9.4 ถ้าเราควบคุมผัสสะได้ ก็จะง่ายแก่การมีศีลทุกชนิด และทุกระดับ.

9.5 ถ้าควบคุมผัสสะได้ ; กระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทจะหยุดชะงักในกรณีนั้นๆ.

9.6 ถ้าสัมผัสโลกด้วยวิชชา โลกก็จะเป็นมิตร ; ถ้าสัมผัสโลกด้วยอวิชชาโลกก็จะเป็นศัตรู หรือมารร้าย.

10. หน้าที่ : ผัสสะโดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ (โดยสมมติ) ของผัสสะ : คือให้เกิดเวทนา.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อผัสสะ : คือ มีสติรู้เท่าทันผัสสะ ควบคุมผัสสะ.

11. อุปมา : ผัสสะโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 หัวงูพิษ.

11.2 ทางสองแพร่ง.

11.3 ผีผู้สร้างโลก (ถ้าไม่ผัสสะก็ไม่มีโลก).

12. สมุทัย : ผัสสะโดยสมุทัย :

12.1 ผัสสะมาจากการกระทบ : ระหว่างอายตนะ และวิญญาณ.

12.2 ความต้องการเวทนาของสัตว์ทั้งหลาย เป็นปัจจัยให้สัตว์ทำผัสสะ.

12.3 เพราะโลกเต็มล้นไปด้วยปัจจัยแห่งผัสสะ จนง่ายเกินไปสำหรับการมีผัสสะ.

12.4 เพราะสัตว์โลกไม่มีความรู้ในฝ่ายอาทีนวะของผัสสะ รู้แต่ฝ่ายอัสสาทะ ; จึงเป็นเหตุให้หลงในผัสสะ.

13. อัตถังคมะ : ผัสสะโดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวเพราะขาดเหตุปัจจัยตามธรรมดาของสังขารธรรม หรือสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 ผัสสะดับเพราะอายตนะ (เครื่องกระทำผัสสะ) ดับ (คือไม่ทำหน้าที่).

13.3 เพราะมีอาการที่เรียกว่า “ตบมือข้างเดียว” คือจิตไม่รับอารมณ์เอามาปรุงเป็นตัวกูของกู การกระทบนั้นจึงไม่มีผลในทางให้เกิดทุกข์ ; กลับไปมีผลในทางไม่เกิดทุกข์ แม้นี้ก็เรียกว่าการดับของผัสสะ.

14. อัสสาทะ : ผัสสะโดยอัสสาทะ :

14.1 มีเฉพาะฝ่ายที่ทำให้เกิดสุขเวทนา อันเป็นยอดปรารถนาของสัตว์ทั้งหลาย จนถึงกับตกเป็นทาสของผัสสะหรือเวทนา.

14.2 สัตว์ชอบใจหรือถึงกับบูชาผัสสะ เพราะเป็นปัจจัยเครื่องเสวยสุขทางวัตถุ.

15. อาทีนวะ : ผัสสะโดยอาทีนวะ :

15.1 ผัสสะให้เกิดเวทนา ; และเวทนาทุกชนิด (สุข - ทุกข์ - อทุกขมสุข) ล้วนแต่เป็นที่ตั้งแห่งตัณหาอุปาทาน อันเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ในชั้นลึก ; นี้จัดเป็นอาทีนวะของผัสสะทุกชนิดได้เหมือนกัน.

15.2 ผัสสะเป็นจุดตั้งต้น หรือเป็นที่ก่อเกิดแห่งกรรม และปัญหาทั้งหลาย.

16. นิสสรณะ : ผัสสะโดยนิสสรณะ :

16.1 ความรู้จักผัสสะแล้วไม่ตกเป็นทาสของผัสสะ.

16.2 มีสติสัมปชัญญะในขณะแห่งผัสสะ จนหยุดกระแสการปรุงแต่งของผัสสะเสียได้.

16.3 ไม่โง่เมื่อผัสสะ จนมีการปรุงแต่งเป็นตัวตนของตน.

16.4 ดำรงชีวิตอยู่ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค.

17. ทางปฏิบัติ : ผัสสะโดยทางปฏิบัติ :

17.1 มีสติทันเวลาที่มีผัสสะ เพื่อสกัดกั้นกระแสแห่งปฏิจจสมุปบาทมิให้ดำเนินไปจนเกิดทุกข์.

17.2 รู้สึกตัวอยู่เสมอว่า ในขณะแห่งผัสสะนั่นแหละ คือขณะที่จะถูกลวง.

17.3 มีสติ เมื่อต้องเข้าไปในที่ที่มีปัจจัยแห่งผัสสะชั้นรุนแรง.

18. อานิสงส์ : ผัสสะโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของผัสสะด้วยวิชชา คือไม่มีทางที่จะเกิดทุกข์.

18.2 การมีวิชชาสัมผัสบ่อยๆ ทำให้ฉลาดขึ้นในเรื่องของผัสสะ.

18.3 การสัมผัสผลแห่งสมาธิด้วยนามกาย เป็นปัจจัยแก่การบรรลุพระนิพพาน (ดื่มความสุขของสมาธิ เป็นสัมผัสอย่างหนึ่ง).

18.4 โดยหลักธรรมชาติ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่าผัสสะแล้ว สิ่งที่เรียกว่าโลกก็ไม่มี.

19. หนทางถลำ : ผัสสะโดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความผิดพลาดเกี่ยวกับผัสสะ :

19.1 การตามใจตัวเองหรือลุอำนาจแก่กิเลส

19.2 ความประมาทสะเพร่าอวดดี.

19.3 การเป็นอยู่อย่างขาดสติ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ผัสสะโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง :

20.1 สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องในการเกิดผัสสะ : คือสฬายตนะA47.

20.2 สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องในการควบคุมผัสสะ : คือสติสัมปชัญญะ.

20.3 สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้องในการทำลายอิทธิพลของผัสสะ : คือวิปัสสนา.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ผัสสะโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : สัมผัสทางกามารมณ์.

ภาษาธรรม : สัมผัสของอายตนะทั่วไป.

21.2 ภาษาคน : น่ารัก.

ภาษาธรรม : น่าขยะแขยง.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. กข กกา ของการศึกษาพุทธศาสนา

2. โมกขธรรมประยุกต์


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง