[Font : 15 ]
| |
สวรรค์

1.พยัญชนะ : สวรรค์โดยพยัญชนะ : คือสิ่งเกาะเกี่ยว หรือสามารถเกาะเกี่ยว.

2. อรรถะ : สวรรค์โดยอรรถะ :

นัยที่ 1 : ภพหรือโลกที่เป็นอยู่แห่งสัตว์ : ได้แก่ กามาวจรภพ, รูปาวจรภพ, อรูปาวจรภพ.

นัยที่ 2: ภูมิแห่งจิตของสัตว์ : ได้แก่ กามาวจรภูมิ, รูปาวจรภูมิ, อรูปาวจรภูมิ.

ทั้งหมดนั้นแยกเป็น 2 ประเภท: คือ สวรรค์ชั้นกามและสวรรค์ชั้นพรหม ; ทุกชั้นเป็นที่เกาะเกี่ยวแห่งจิตของสัตว์ผู้ยังยึดมั่นด้วยอุปทาน.

3. ไวพจน์ : สวรรค์โดยไวพจน์ : คือ สคฺค, สุคติ, เทวโลก, มารโลก, พรหมโลก.

4. องค์ประกอบ : สวรรค์โดยองค์ประกอบ : คือเป็นเหยื่อล่อให้หลง ; ความเย็บร้อยให้ติดแน่น ; ความผูกพันไม่ให้หลุดออกไปจากอำนาจ ; ความเป็นที่เกาะเกี่ยวของตัณหา ; ความเป็นที่ตั้งของอุปทาน.

5. ลักษณะ : สวรรค์โดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 แห่งความเป็นอนิจจัง, ทุกขัง, อนัตตา, เช่นเดียวกับสังขตธรรมทั้งหลาย.

5.2 แห่งการหลอกลวงคนพาล, คนโง่,คนมีอวิชชา,ให้หลงใหลจนสูญเสียอิสรภาพ.

5.3 แห่งการหลอกลวงที่ซ่อนเร้น, เป็นเพียงมายา, เห็นได้ยาก, สลัดได้ยาก.

6. อาการ : สวรรค์โดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งการคลุกคลีด้วยเหยื่อหรืออารมณ์ ; ทั้งที่เป็นกามธาตุ, รูปธาตุ, และอรูปธาตุ.

6.2 แผดเผาด้วยไฟที่เปียกและเย็น.

6.3 ของเบ็ดที่เกี่ยวสัตว์หลายชั้นเชิง.

7. ประเภท : สวรรค์โดยประเภท : มีสอง :

นัยที่ 1 :

1. สวรรค์ที่กล่าวตามสนันตนธรรม : ( คำกล่าวของเก่าโบราณก่อนก่อนพุทธกาลนานไกล) ; คือ สวรรค์ที่อยู่เหนือฟ้า จะถึงได้ต่อตายแล้ว ; สมบูรณ์ด้วยกามารมณ์.

2. สฬายตนิกสวรรค์ : ที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า : เป็นไปทางอายตนะที่นี่และเดี๋ยวนี้ ; เป็นความพอใจที่เกี่ยวกับกามารมณ์ก็ได้.

นัยที่ 2 :

1. สวรรค์ที่เกี่ยวกับกามารมณ์.

2. สวรรค์ที่ไม่เกี่ยวกับกามารมณ์ แต่เกี่ยวกับความสุขที่เกิดจากสมาธิ. (พิเศษ : สวรรค์แห่งศาสนาอื่นๆ ก็มีอยู่ตามที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ แห่งศาสนานั้นๆ).

8. กฎเกณฑ์ : สวรรค์โดยกฎเกณฑ์ :

8.1 สวรรค์ต้องเป็นสิ่งที่ให้ความพอใจอย่างใดอย่างหนึ่ง (ตั้งแต่กามธาตุขึ้นไปถึงอรูปธาตุ ) ; จนกว่าจะสิ้นสุดอาณาจักรแห่งความพอใจ คือออกไปสู่นิโรธธาตุ หรือนิพพาน. ดังนั้นสวรรค์จึงมีหลายชั้นหลายชนิด ตามลักษณะแห่งอารมณ์หรือความพอใจตามชั้นของตนๆ.

8.2 เป็นพุทธบริษัทต้องรู้จักสวรรค์ (หรือนรกก็ตาม) ที่เป็นไปทางอายตนะที่นี่และเดี๋ยวนี้.

8.3 สวรรค์ทุกชั้นไม่ใช่ความหลุดพ้น ; ดังนั้นอย่าไปผูกพันตัวเองไว้ กับสวรรค์ชั้นใดชั้นหนึ่ง ; แม้จะสวยสดงดงามสักเพียงใด.

9. สัจจะ : สวรรค์โดยสัจจะ :

9.1 สวรรค์ทุกชั้นเป็นที่เกี่ยวเกาะของสัตว์ และเกี่ยวเกาะสัตว์มิใช้เพื่อความหลุดพ้นหรือดับทุกข์ ; อย่างมากก็เป็นแค่เครื่องกลบเกลื่อนทุกข์ชั่วคราว. ทุกคนจึงควรระวังสิ่งที่เรียกว่าสวรรค์.

9.2 สวรรค์ทาง ตา, หู, จมูก, ลิ้น, กาย, ใจ เป็นสิ่งที่จัดเตรียมได้ ควบคุมได้ ; ไม่เหมือนสวรรค์บนฟ้าต่อตายแล้ว; ซึ่งควบคุมไม่ได้ หรือจัดเตรียมไม่ได้ตามความพอใจของเรา.

9.3 สวรรค์เป็นสิ่งที่บ้าได้, เมาได้, หลงได้, ทำอันตรายได้;จึงเป็นสิ่งที่ควรเกี่ยวข้องให้ปลอดภัย ด้วยความไม่ประมาท.

9.4 สวรรค์ของลูกไก่ใต้ปีกแม่ มีน้ำหนักหรือความหมาย เท่ากับสวรรค์ในวิมานของพวกเทวดา.

9.5 สวรรค์มิใช่สิ่งสะอาด แต่ยังสกปรกอยู่ด้วยกิเลสตัณหาอุปาทานบางชนิด ; นี้เป็นสิ่งที่ควรทราบไว้.

9.6 ความพอใจในสวรรค์เป็นอุปสรรคของการบรรลุพระนิพพาน.

9.7 สวรรค์เป็นเรื่องบวก (positive) มากเกินไป ; เช่นเดียวกับนรกเป็นเรี่องลบ (negative) อย่างสุดเหวี่ยง. ถ้ายังถูกเกี่ยวเกาะอยู่ด้วยสิ่งทั้งสองนี้ นิพพานย่อมไม่ปรากฎ.

10. หน้าที่ : สวรรค์โดยหน้าที่ :

นัยที่ 1 : สวรรค์มีหน้าที่ (โดยสมมติ) : เกี่ยวเกาะหรือกักขังสัตว์.

นัยที่ 2 : บุคคลมีหน้าที่มองเห็นโทษอันเกิดจากการเกี่ยวเกาะของสัตว์ : แล้วเปลื้องตัวออกมาเสียให้ได้ หรือใช้เป็นบันไดเพื่อคุณธรรมที่สูงไปกว่านั้น.

นัยที่ 3 : ครูบาอาจารย์มีหน้าที่สอนประชาชนให้เข้าใจสวรรค์อย่างถูกต้อง : จนไม่เป็นที่เกี่ยวเกาะ ; แต่เป็นการสนับสนุนเพื่อการบรรลุธรรมในชั้นที่สูงขึ้นไป.

11. อุปมา : สวรรค์โดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 ดอกไม้หรือเหยื่อล่อแห่งมาร เพื่อนำสัตว์ไปตามความพอใจของตน.

11.2 ยาพิษที่เคลือบไว้ด้วยน้ำตาล หรือเบ็ดที่มีเหยื่อหุ้มไว้ จนเป็นที่ติดตังของคนประมาท.

11.3 ห้ามล้ออัตโนมัติ ที่ทำความเนิ่นช้าให้แก่รถ ที่จะวิ่งไปสู่จุดหมายปลายทาง.

11.4 สิ่งปฏิกูลแก่พระอริยเจ้า.

11.5 สิ่งที่เข้าไปแล้วออกยากเหมือนเซิงหนาม หรือทางวกวนแห่งเขาวงกต.

12. สมุทัย : สวรรค์โดยสมุทัย :

12.1 ตัณหาอุปทานฝ่ายกุศล.

12.2 สัมมาทิฏฐิฝ่ายสาสวะ. ส่วนสัมมาทิฏฐิฝ่ายอนาสวะ เป็นเครื่องปลดเปลื้องสัตว์ออกมาเสียจากอำนาจแห่งสวรรค์.

13. อัตถังคมะ : สวรรค์โดยอัตถังคมะ :

13.1 ความดับไปตามคราวแห่งเหตุปัจจัยของสวรรค์ เช่นเดียวกับสังขตธรรมทั้งหลาย.

13.2 ความเห็นโทษหรือความต่ำทรามแห่งสวรรค์ จนหมดตัณหาในสวรรค์.

13.3 การบรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป ; จนไม่มีอัสสาทะเหลืออยู่สำหรับจะพอใจในสวรรค์.

14. อัสสาทะ : สวรรค์โดยอัสสาทะ :

14.1 อัสสาทะของาวรรค์มีอยู่เป็นชั้นๆ ตรงตามภาวะแห่งจิตใจของสัตว์ ซึ่งตั้งอยู่ในภพหรือภูมินั้นๆ.

14.2 อัสสาทะของสวรรค์ชั้นใด ย่อมเกี่ยวเกาะเฉพาะจิตของสัตว์ที่ตั้งอยู่ในสวรรค์ชั้นนั้น.

14.3 สวรรค์ของอันธพาล มีอัสสาทะที่จะเกี่ยวเกาะใจคนชันอันธพาล หรือมิจฉาทิฏฐิ แต่ธรรมดาไม่เรียกกันว่าสวรรค์; ทั้งที่มีความหมายอย่างเดียวกับสวรรค์.

15. อาทีนวะ : สวรรค์โดยอาทีนวะ :

15.1 มีเฉพาะแก่ผู้ที่มองเห็นโทษของสวรรค์ ; ไม่มีแก่ผู้ที่บ้าสวรรค์, เมาสวรรค์, หลงสวรรค์ หรือไม่เห็นโทษของสวรรค์.

15.2 อาทีนวะของสวรรค์มีชั่วเวลาที่อวิชชา ตัณหา อุปาทานของคนเขลาปิดบังอยู่ ; แถมหลอกให้เห็นว่ามิใช่เป็นอาทีนวะ.

16. นิสสรณะ : สวรรค์โดยนิสสรณะ :

นัยที่ 1 : นิสสรณะจากสวรรค์ไม่มี และไม่ต้องการจะมีสำหรับพาลปุถุชน; ต่อเมื่อเป็นกัลยาปุถุชนเห็นสิ่งที่ดีกว่าสูงกว่าสวรรค์ ; จึงจะต้องการนิสสรณะจากสวรรค์.

นัยที่ 2 : นิสสรณะจากสวรรค์ตั้งต้นจากสัมมาทิฏฐิที่เห็นโทษของสวรรค์ ; แล้วดำเนินในสัมมาทิฏฐิที่สูงขึ้นไป จนสมบูรณ์ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค.

17. ทางปฏิบัติ : สวรรค์โดยทางปฏิบัติ :

นัยที่ 1 : เพื่อเข้าสู่สวรรค์ : คือ กุศลกรรมบถ 10 ประการ ; หรือการปฏิบัติตามปฏิจจสมุปบาทขั้นต้นๆ เพื่อการมีแห่งกุศลกรรมบถนั้นๆ

นัยที่ 2 : เพื่อออกจากความเกี่ยวเกาะของสวรรค์ : คือ การเห็นโทษของสวรรค์ ; และเห็นอานิสงส์ของการออกจากสวรรค์; แล้วดำเนินตามปฏิจจสมุปบาทฝ่ายนิโรธวารจนถึงที่สุด.

18. อานิสงส์ : สวรรค์โดยอานิสงส์ :

นัยที่ 1 : มีเฉพาะแก่สามัญสัตว์ที่ต้องเวียนว่ายในวัฏฏะ : ยังไม่ประสงค์โลกุตตระ.

นัยที่ 2 : อานิสงส์โดยอ้อม : คือ เมื่อไม่ยึดมั่นถือมั่นจนติดอยู่ในสวรรค์; สวรรค์ก็กลายเป็นบันไดเพื่อการบรรลุพระนิพพาน.

นัยที่ 3 : อานิสงส์ต่ำสุด : คือ อานิสงส์ทางศีลธรรม; คือเป็นเครื่องยั่ว เครื่องชักจูงให้คนปฏิบัติเพื่อกุศล ละอกุศล.

19. หนทางถลำ: สวรรค์โดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่ความยึดมั่นถือมั่นในสวรรค์ :

19.1 การเทศนาอบรมสั่งสอนตามขนบธรรมเนียมประเพณี หรือ วัฒนธรรมปรำปราแบบโบราณ ซึ่งหยุดอยู่เพียงสวรรค์ในฐานะเป็นสิ่งสูงสุด.

19.2 การคบหาสมาคมกันอยู่แต่ในหมู่บุคคลผู้มีความรู้สูงสุด เพียงเรื่องของสวรรค์.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : สวรรค์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ สิ่งแวดล้อม, ปัจจัย,การชักจูงแนะนำสั่งสอนเพื่อความนิยมชมชอบ หรือเบื่อหน่ายในสวรรค์ แล้วแต่กรณี.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม: สวรรค์โดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : เป็นบ้านเมืองอยู่บนฟ้า.

ภาษาธรรม : ภาวะเเห่งจิตที่ได้รับความสุขความพอใจอย่าหลงใหล.

21.2 ภาษาคน : อยู่บนฟ้า.

ภาษาธรรม : อยู่ที่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ.

21.3 ภาษาคน : ถึงได้ต่อตายแล้ว

ภาษาธรรม : ถึงได้ที่นี่และเดี๋ยวนี้.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมบรรยายต่อหางสุนัข

2. ปรมัตถสภาสวธรรม

3. ฟ้าสางฯ ตอน 1,2


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง