[Font : 15 ]
| |
ทรงรับรองสุขัลลิกานุโยคที่เป็นไปเพื่อนิพพาน ของพวกสมณศากยปุตติยะ |  

จุนทะ! ฐานะนั่นมีอยู่แน่, คือฐานะที่ปริพพาชกผู้เป็นลัทธิอื่น ท.จะกล่าวอย่างนี้ ว่า "พวกสมณศากยปุตติยะ อยู่กันอย่างประกอบด้วยสุขัลลิกานุโยค (พัวพันอยู่กับความสุข) 4 อย่างเหล่านี้" ดังนี้. จุนทะ! เมื่อพวกปริพพาชกผู้เป็นลัทธิอื่นกล่าวอยู่อย่างนี้ พวกเธอพึงกล่าวกะเขาว่ ท่านอย่ากล่าวอย่างนั้นเลย. ก็ปริพพาชกเหล่านั้น จะพึงกล่าวกะพวกเธออยู่โดยชอบก็หามิได้ แต่จะกล่าวตู่พวกเธอด้วยคำไม่จริงไม่แท้ ก็หามิได้.

จุนทะ! สุขัลลิกานุโยค 4 อย่างเหล่านี้ เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด เป็นไปเพื่อความดับ ความเข้าไปสงบรำงับ เป็นไปเพื่อความรู้ยิ่งเพื่อความรู้พร้อม เพื่อนิพพาน, โดยส่วนเดียว.

4 อย่างเหล่าไหนเล่า? จุนทะ! 4 อย่างคือ ภิกษุในธรรมวินัยนี้เพราะสงัดจากกามและอกุศลธรรม ท. จึงบรรลุ ฌานที่ 1 อันมีวิตกวิจาร มีปีติและสุขอันเกิดแต่วิเวก แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ 1; จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะสงบวิตกวิจารเสียได้ จึงบรรลุ ฌานที่ 2 เป็นเครื่องผ่องใสแห่งใจในภายใน นำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียว ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุข อันเกิดแต่สมาธิ แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ 2; จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก: ภิกษุ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ จึงอยู่อุเบกขา มีสติและสัมปชัญญะ และย่อมเสวยสุขด้วยนามกาย บรรลุ ฌานที่ 3 อันเป็นฌานที่พระอริยเจ้ากล่าวว่า ผู้ได้ฌานนี้เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสติอยู่เป็นสุข, แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ 3; จุนทะ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุ เพราะละสุขและทุกข์เสียได้ เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัสและโทมนัส ท. ในกาลก่อน จึงบรรลุ ฌานที่ 4 อันไม่ทุกข์ไม่สุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่ : นี้เป็นสุขัลลิกานุโยคที่ 4. จุนทะ! สุขัลลิกานุโยค 4 อย่างเหล่านี้แล เป็นไปเพื่อความหน่าย ความคลายกำหนัด ---ฯลฯ--- เพื่อนิพพาน, โดยส่วนเดียว.

จุนทะ! นั่นแหละ คือฐานะที่มีอยู่ คือฐานะที่ปริพพาชกผู้เป็นลัทธิอื่น ท. จะกล่าวอย่างนี้ว่า "พวกสมณศากยปุตติยะ อยู่กันอย่างประกอบด้วยสุขัลลิกานุโยค 4 อย่างเหล่านี้" ดังนี้. พวกเธอพึงกล่าวกะเขาว่า อย่างนั้นถูกแล้ว. ปริพพาชกเหล่านั้นกล่าวกะพวกเธออยู่อย่างถูกต้อง; จะกล่าวตู่พวกเธอด้วยคำไม่จริง ไม่แท้ ก็หามิได้.

- บาลี ปาสาทิกสูตร ปา.ที. 11/144/115. ตรัสแก่จุนทสมณุทเทส ที่อัมพวันปราสาทของเจ้าศากยะพวกเวธัญญา.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง