[Font : 15 ]
| |
ทิฏฐานุคติแห่งความดี ที่ทรงสั่งสมไว้แต่ภพก่อนๆ |  

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้บากบั่นในกุศล ถือมั่นในกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต,ในการบริจาคทาน การสมาทานศีล การรักษาอุโบสถ การปฏิบัติมารดาบิดาการปฏิบัติสมณพราหมณ์ การอ่อนน้อมต่อผู้เจริญในตระกูล และในอธิกุศลธรรมอย่างอื่นๆ. เพราะได้กระทำ ได้สั่งสม ได้พอกพูน ได้มั่วสุมกรรมนั้นๆ ไว้ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้นำสุขมาสู่มหาชน เป็นผู้บรรเทาภัยคือความสะดุ้งหวาดเสียวจัดการคุ้มครองรักษาโดยธรรม ได้อวยทางพร้อมทั้งบริวารฯ. ...ได้เป็นผู้เว้นจากปาณาติบาต วางเสียซึ่งศาสตรา และอาชญา มีความละอายเอ็นดู กรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์มีชีวิตทั้งปวงฯ. ...ได้เป็นผู้ให้ทานด้วยของควรเคี้ยว ควรบริโภค ควรลิ้มควรจิบควรดื่ม อันมีรสประณีตฯ. ...ได้สงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการสงเคราะห์ทั้ง 4 คือการให้สิ่งของ, วาจาที่ไพเราะ, การประพฤติประโยชน์ท่าน, และความวางตนเสมอกันฯ. ...ได้เป็นผู้กล่าววาจาประกอบด้วยอรรถ ด้วยธรรม แนะนำชนเป็นอันมาก, เป็นผู้นำประโยชน์สุขมาสู่ชนทั้งหลาย ตนเองก็เป็นผู้บูชาธรรม. เพราะได้กระทำ ได้สั่งสมพอกพูน มั่วสุมกุศลกรรมนั้น ๆ ไว้ ภายหลังแต่การตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้สอนศิลปวิทยาการ ข้อปฏิบัติ และลัทธิกรรม, ด้วยความเคารพ ด้วยหวังว่าด้วยสัตว์เหล่านั้น พึงรู้ได้รวดเร็ว พึงปฏิบัติได้รวดเร็ว ไม่พึงโศกเศร้าสิ้นกาลนานฯ. ...ได้เป็นผู้เข้าไปหาสมณพราหมณ์แล้ว สอบถามว่า `ท่านผู้เจริญ! อะไรเป็นกุศล อะไรเป็นอกุศล, อะไรมีโทษ อะไรไม่มีโทษ, อะไรควรเสพอะไรไม่ควรเสพ, ทำอย่างใดไม่มีประโยชน์ เป็นทุกข์ไปนาน ทำอย่างใดมีประโยชน์เป็นสุขไปนาน'ฯ. ...ได้เป็นผู้ไม่มักโกรธ ไม่มากไปด้วยความแค้น, แม้ชนเป็นอันมาก ว่ากล่าวเอา ก็ไม่เอาใจใส่ ไม่โกรธ ไม่พยาบาท ไม่คุมแค้น, ไม่แสดงความโกรธ ความร้ายกาจ ความเสียใจให้ปรากฎ. ทั้งเป็นผู้ให้ทานผ้าที่ทำด้วยเปลือกไม้ ผ้าด้าย ผ้าไหม ผ้าขนสัตว์ สำหรับลาดและนุ่งห่ม อันมีเนื้อละเอียด, ฯลฯ.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้สมานญาติมิตร สหายชาวเกลอ ผู้เหิดห่างแยกกันไปนาน,ได้สมานไมตรี ระหว่างมารดากับบุตร บุตรกับมารดา, บิดากับบุตร บุตรกับบิดา,พี่น้องชายกับพี่น้องหญิง พี่น้องหญิงกับพี่น้องชาย; ครั้นทำความสามัคคีได้แล้วก็พลอยชื่นชมยินดีด้วยฯ. ...ได้เป็นผู้สังเกตชั้นเชิงของมหาชน รู้ได้สม่ำเสมอรู้ได้เอง รู้จักบุรุษธรรมดา รู้จักบุรุษพิเศษ ว่าผู้นี้ ๆ ควรแก่สิ่งนี้ ๆ; ได้เป็นผู้ทำประโยชน์อย่างพิเศษ ให้แก่ชนเหล่านั้นฯ. ...ได้เป็นผู้ใคร่ต่อประโยชน์ต่อความเกื้อกูล ความผาสุก ความเกษมจากโยคะ แก่ชนเป็นอันมากว่าไฉนหนอ ชนเหล่านี้ พึงเจริญด้วยศรัทา ศีล การศึกษา ความรู้ ความเผื่อแผ่ ธรรม ปัญญา ทรัพย์และข้าวเปลือก นาและสวน สัตว์สองเท้าสี่เท้า บุตรภรรยา ทาส กรรมกร และด้วยญาติมิตรพวกพ้อง, ฯลฯ.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้ไม่เบียดเบียนสัตว์ทั้งหลาย ด้วยมือก็ตาม ด้วยก้อนดินก็ตามท่อนไม้ก็ตาม ศาสตราก็ตามฯ. ...ได้เป็นผู้ไม่ถลึงตา ไม่ค้อนควัก ไม่จ้องลับหลัง, เป็นผู้แช่มชื่น มองดูตรงๆ มองดูผู้อื่นด้วยสายตาอันแสดงความรักฯ ได้เป็นหัวหน้าของชนเป็นอันมาก ในกุศลกิจทั้งหลาย ได้เป็นประธานของหมู่ชนผู้ประกอบกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ในการจำแนกทาน การสมาทานศีลการอยู่อุโบสถ การประพฤติเกื้อกูลแก่มารดาบิดา สมณพราหมณ์, การนบนอบต่อผู้เจริญในตระกูล, ในอธิกุศลธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งฯ. ...ได้เป็นผู้ละเว้นจากมุสาวาท, พูดคำจริง หลั่งคำสัตย์เที่ยงแท้ ซื่อตรง ไม่หลอกลวงโลก, ฯลฯ.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้ละเว้นวาจาส่อเสียด (คือพูดยุให้เขาแตกกัน), คือไม่ฟังจากข้างนี้ แล้วไปบอกข้างโน้นเพื่อทำลายข้างนี้ ไม่ฟังจากข้างโน้นแล้วมาบอกข้างนี้เพื่อทำลายข้างโน้น, แต่เป็นผู้ที่สมานพวกที่แตกกันแล้ว ให้กลับคืนดีกัน และส่งเสริมพวกที่พร้อมเพรียงกันฯ. ...ได้เป็นผู้ละเว้นการกล่าวคำหยาบ, กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษเป็นสุขแก่หู เป็นที่ตั้งแห่งความรักซึมซาบถึงใจ เป็นคำพูดของชาวเมือง เป็นที่พอใจและชอบใจของชนเป็นอันมาก, ฯลฯ.

ภิกษุ ท.! เมื่อตถาคตเกิดเป็นมนุษย์ในชาติก่อน ในภพก่อน ในที่อยู่อาศัยก่อน, ได้เป็นผู้ละเว้นการพูดเพ้อเจ้อ, เป็นผู้กล่าวควรแก่เวลา กล่าวคำจริงกล่าวเป็นธรรม กล่าวมีอรรถ กล่าวเป็นระเบียบ กล่าวมีที่ตั้ง มีหลักฐาน มีที่สุดประกอบด้วยประโยชน์ฯ. ...ได้เป็นผู้ละมิจฉาชีพ, มีการเลี้ยงชีพชอบ เว้นจากการฉ้อโกง การหลอกลวงคดโกงด้วยเครื่องชั่ง เครื่องตวง เครื่องวัด, เว้นจากการตัดการฆ่า การผูกมัด การทำร้าย การปล้น การกรรโชก, ฯลฯ.

- บาลี ลักขณสูตร ปา. ที. 11/159/131. ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย ที่เชตวัน ใกล้กรุงสาวัตถี.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง