[Font : 15 ]
| |
ทรงคิดค้นเรื่องเบญจขันธ์ ฯลฯ ก่อนตรัสรู้ |  

ภิกษุท ท.! ครั้งก่อนแต่การตรัสรู้ เมื่อเรายังไม่ได้ตรัสรู้ ยังเป็นโพธิสัตว์อยู่ ความสงสัยได้เกิดขึ้นแก่เราว่า อะไรหนอ เป็นรสอร่อยของรูป, อะไรเป็นโทษของรูป, อะไรเป็นอุบายเครื่องพ้นไปได้จากรูป? อะไรหนอเป็นรสอร่อยของเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ, อะไรเป็นโทษของเวทนา..สัญญา...สังขาร...วิญญาณ, อะไรเป็นอุบายเครื่องพ้นไปได้จากเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ?

ภิกษุ ท.! ความรู้ข้อนี้ได้เกิดขึ้นแก่เราว่า สุขโสมนัสใดๆ ที่อาศัยรูปแล้วเกิดขึ้น สุขและโสมนัสนั้นและเป็น รสอร่อยของรูป; รูปไม่เที่ยง เป็นทุกข์ทรมาน มีการแปรปรวนเป็นธรรมดา ด้วยอาการใด อาการนั้นเป็น โทษของรูป; การนำออกเสียได้ ซึ่งความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ การละความกำหนัดด้วยอำนาจความพอใจ ในรูปเสียได้ นั้นเป็น อุบายเครื่องออกไปพ้นจากรูปได้.

(ในเวทนา...สัญญา...สังขาร...วิญญาณ ก็นัยเดียวกัน).

ภิกษุ ท.! ตลอดเวลาเพียงไร ที่เรายังไม่รู้จักรสอร่อยของอุปาทานขันธ์ทั้งห้าว่าเป็นรสอร่อย ไม่รู้จักโทษว่าเป็นโทษ ไม่รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นอุบายเครื่องออก ตามที่เป็นจริง, ตลอดเวลาเพียงนั้น เรายังไม่รู้สึกว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่ง อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ในโลกนี้พร้อมทั้งเทวดา มาร พรหมหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดา พร้อมทั้งมนุษย์.

ภิกษุ ท.! เมื่อใดแล เรารู้จักรสอร่อยของอุปาทานขันธ์ทั้ง 5 ว่าเป็นรสอร่อย รู้จักโทษว่าเป็นโทษ รู้จักอุบายเครื่องออกว่าเป็นอุบายเครื่องออก ตามที่เป็นจริง, เมื่อนั้น เราก็รู้สึกว่าได้ตรัสรู้พร้อมเฉพาะซึ่งอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณในโลกพร้อมทั้งเทวดา มาร พรหม หมู่สัตว์ พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาพร้อมทั้งมนุษย์.

ก็แหละญาณทัศนะเครื่องรู้เครื่องเห็น เกิดขึ้นแล้วแก่เราว่า ความหลุดพ้นของเราไม่กลับกำเริบ, ชาตินี้เป็นชาติสุดท้าย, บัดนี้ภพเป็นที่เกิดใหม่ มิได้มีอีก, ดังนี้.

นอกจากการคิดค้นเรื่องเบญจขันธ์นี้แล้ว ยังมีการคิดค้นอีก 3 เรื่อง ด้วยวิธีการณ์ที่บรรยายไว้เป็นคำพูดอย่างเดียวกันกับเรื่องนี้ ทุกระเบียบอักษร คือคิดค้นเรื่องธาตุ (นิทาน.สํ.16/203/404), เรื่อง อายตนะภายใน 6 (สฬา.สํ.18/8/13, และเรื่อง อายตนะภายนอก 6 (สฬา.สํ.18/9/14). -ผู้รวบรวม.

- บาลี ปัญจมสูตร ภารวรรค ขนฺธ. สํ. 17/34/59.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง