[Font : 15 ]
| |
อรหันต์

1. พยัญชนะ : อรหันต์โดยพยัญชนะ :

1.1 ไกลจากกิเลส.

1.2 หักวงล้อแห่งวัฏฏะ.

1.3 ไม่มีความลับ.

1.4 ควรแก่การเทิดทูน.

(เป็นคำเก่าแก่สืบกันมาจนไม่รู้ว่าหมายความอย่างไรแน่ ตกมาถึงยุคหลัง คำนวณกันตามรูปศัพท์ ได้เป็น 4 ความหมายอย่างนี้).

2. อรรถะ : อรหันต์โดยอรรถะ :

2.1 หมายถึง บุคคล เรียกว่า พระอรหันต์.

2.2 หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องตัดกิเลส เรียกว่า อรหัตตมรรค.

2.3 หมายถึง ภาวะหรือผล เรียกว่า อรหัตตผล.

ทั้งหมดนี้เป็นความหมายของคำว่า อรห.

3. ไวพจน์ : อรหันต์โดยไวพจน์ : คือ อรหํ (ไกลจากกิเลส), ขีณาสโว (สิ้นอาสวะ), วุสิตวา (จบพรหมจรรย์), กตกรณีโย (เสร็จกิจ), โอหิตภาโร (ปลงของหนักแล้ว), อนุปุปตฺตสทตฺโถ (มีประโยชน์ตนอันได้แล้ว), ปริกฺขีณภวสญฺโญชโน (มีเครื่องผูกพันในภพสิ้นรอบแล้ว), สมฺทญฺญาวิมุตฺโต (หลุดพ้นแล้วด้วยปัญญาอันชอบ) ฯลฯ ตถาคต (ถึงซึ่ง ตถา), ตาที (คงที่), เกพลี (รู้ทุกสิ่ง).

4. องค์ประกอบ : อรหันต์โดยองค์ประกอบ : คือ ความเป็นผู้ไกลจากกิเลส, ความเป็นผู้รักวงล้อแห่งวัฏฏะ, ความเป็นผู้ไม่มีความลับ, ความเป็นผู้ควรแก่การเทิดทูน, ความเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยไตรสิกขา (ศีล, สมาธิ, ปัญญา).

5. ลักษณะ : อรหันต์โดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 แห่งอตัมมโย (ผู้มีอตัมมยตา).

5.2 แห่งผู้อยู่เหนือโลก : เหนือบุญ, เหนือบาป, เหนือกุศล, เหนืออกุศล, เหนือบวก, เหนือลบ : (คือเหนือความหมายแห่งความเป็นคู่ทุกชนิด).

5.3 แห่งความสงบทั้งภายนอกและภายใน.

5.4 แห่งผู้หมดความยึดถือว่าตัวตนของตน และหมดความเห็นแก่ตน; ซึ่งเป็นที่ตั้งแห่งกิเลสทุกชนิด.

5.5 แห่งการพ้นจากอำนาจของกามธาตุ, รูปธาตุ, อรูปธาตุ; เพราะเข้าถึงนิโรธธาตุ หรือนิพพานธาตุ.

5.6 แห่งการหมดความสงสัย.

6. อาการ : อรหันต์โดยอาการ : มีอาการ :

6.1 แห่งสมณะ (สงบเย็น, ไม่มีไฟ).

6.2 แห่งมนุษย์ ผู้มีความเต็มและความสูงสุดแห่งความเป็นมนุษย์.

6.3 ที่ถือเอาเป็นตัวอย่างได้.

6.4 ที่ใครเห็นแล้วพอใจและสนใจ อยากจะมีส่วนแห่งความเป็นเช่นนั้นบ้าง.

6.5 ตามลักษณะที่กล่าวแล้วในอรรถลักษณะข้อที่ 5 ฯลฯ

7. ประเภท : อรหันต์โดยประเภท : มีสอง :

คู่ที่ 1 :

1. อรหังสัมมาสัมพุทโธ พระอรหันต์ที่เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า.

2. อรหังขีณาสโว พระอรหันตสาวกทั่วไป.

คู่ที่ 2 :

1. พระอรหันต์ที่บรรลุสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ (เวทนายังไม่เย็นสนิท).

2. พระอรหันต์ที่บรรลุอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ (เวทนาเย็นสนิท).

คู่ที่ 3 :

1. พระอรหันต์ที่มีความสิ้นกิเลสล้วนๆ ไม่มีคุณสมบัติอย่างอื่น เช่น อภิญญา เป็นต้น.

2. พระอรหันต์สิ้นกิเลสแล้ว มีคุณวิเศษอย่างอื่น เช่น อภิญญา เป็นต้น.

คู่ที่ 4 :

1. ปัญญาวิมุตติ (สิ้นกิเลสล้วนๆ ด้วยอำนาจของปัญญา).

2. อุภโตภาควิมุตติ (สิ้นกิเลสด้วยมีวิโมกข์ 8A102 ด้วย เป็นพวกเจโตวิมุตติ).

คู่ที่ 5 : (พิเศษ)

1. พระอรหันต์ในพระพุทธศาสนา.

2. พระอรหันต์ในลัทธิอื่นนอกพุทธศาสนา ซึ่งปรับเข้ากันไม่ได้.

8. กฎเกณฑ์ : อรหันต์โดยกฎเกณฑ์ :

8.1 มีไตรสิกขาสมบูรณ์.

8.2 มีการเห็นไตรลักษณ์สมบูรณ์.

8.3 มีอตัมมยตาถึงที่สุด.

8.4 มีความสิ้นอาสวะ.

9. สัจจะ : อรหันต์โดยสัจจะ :

9.1 เป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่จำกัดวรรณะ.

9.2 เป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่จำกัดเพศ.

9.3 เป็นพระอรหันต์ได้โดยไม่จำกัดยุคสมัย พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ถ้าภิกษุมีความเป็นอยู่โดยชอบแล้ว โลกจะไม่ว่างจากพระอรหันต์”.

9.4 ความเป็นพระอรหันต์ไม่เหลือวิสัย สำหรับบุคคลที่ตั้งใจปฏิบัติจริง ; ไม่อยู่ที่อายุหรือวัย.

9.5 จุดหมายปลายทางของมนุษย์ อยู่ที่ความเป็นพระอรหันต์.

9.6 ความเป็นพระอรหันต์เป็นได้แน่นอน เมื่อมีพระพุทธเจ้าเป็นกัลยาณมิตร. ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า “ถ้าอาศัยตถาคตเป็นกัลยาณมิตรแล้ว สัตว์ที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา ; จักพ้นจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย” นี้เรียกว่า สัจจะของความเป็นพระอรหันต์.

9.7 (พิเศษ) ความเป็นพระอรหันต์ในลัทธิอื่น มีคำอธิบายอย่างอื่น; แต่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “พระอรหันต์มีเฉพาะในธรรมวินัย ที่มีอริยอัฏฐังคิกมรรคเท่านั้น”.

10. หน้าที่ : อรหันต์โดยหน้าที่ :

10.1 หน้าที่ของพระอรหันต์ : พระอรหันต์สิ้นอาสวะแล้ว จึงอยู่เหนือความมีหน้าที่; แต่ท่านสมัครทำหน้าที่เพื่อสนองพระพุทธประสงค์ คือ การช่วยเหลือสัตว์โลกให้พ้นจากความทุกข์. ท่านจึงมีหน้าที่และเคารพหน้าที่เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า.

10.2 หน้าที่ของมนุษย์ต่อพระอรหันต์ : คือ สนับสนุนการเป็นอยู่และการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน แล้วศึกษาและปฏิบัติตาม ; เพื่อความเป็นพระอรหันต์เช่นเดียวกับท่าน.

11. อุปมา : อรหันต์โดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 เมล็ดพืชที่หมดยาง (ไม่งอกอีก).

11.2 เป็นซาวนา ทำนาได้ข้าวเปลือกมา เป็นอมตะ.

12. สมุทัย : อรหันต์โดยสมุทัย :

12.1 ความอยากดับทุกข์ (ธัมมตัณหา) : เป็นสมุทัยแห่งการเป็นพระอรหันต์.

12.2 ปัญญาหรือวิชชาเป็นอุปกรณ์ : ในฐานะเป็นปัจจัยแห่งความเป็นพระอรหันต์.

12.3 การเป็นอยู่โดยชอบ (สัมมาวิหาร) หรือ อริยอัฏฐังคิกมรรค : เป็นปัจจัยแห่งความเป็นพระอรหันต์.

13. อัตถังคมะ : อรหันต์โดยอัตถังคมะ : คุณธรรมแห่งความเป็นพระอรหันต์อยู่เหนือการเกิด - ดับ ; ดังนั้นความเป็นพระอรหันต์จึงไม่ดับไป ตามความแตกทำลายแห่งร่างกายของท่าน คือ ไม่มีอัตถังคมะสำหรับความเป็นพระอรหันต์.

14. อัสสาทะ : อรหันต์โดยอัสสาทะ : มีแต่อัสสาทะชนิดไม่เป็นที่ตั้งแห่งความยึดถือ.

15. อาทีนวะ : อรหันต์โดยอาทีนวะ : ไม่มี.

16. นิสสรณะ : อรหันต์โดยนิสสรณะ : ไม่มี.

17. ทางปฏิบัติ : อรหันต์โดยทางปฏิบัติ : เพื่อความเป็นพระอรหันต์ :

17.1 ปฏิบัติตามอริยอัฏฐังคิกมรรค.

17.2 การเห็นพระไตรลักษณ์.

17.3 การปฏิบัติเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นว่าตัวตนของตน.

17.4 การปฏิบัติเพื่อเข้าถึงสุญญตาหรืออตัมมยตา.

17.5 ความฉลาดในอายตนิกธรรม 30 ประการA103 ; โดยลักษณะเจ็ดประการ คือ ภาวะแห่งธรรมนั้น, เหตุให้เกิดธรรมนั้น, ความดับแห่งธรรมนั้น, ทางให้ถึงความดับแห่งธรรมนั้น, อัสสาทะแห่งธรรมนั้น, อาทีนวะจากธรรมนั้น, นิสสรณะจากธรรมนั้น.

18. อานิสงส์ : อรหันต์โดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์ของความเป็นพระอรหันต์ (อรหัตต) : คือ ดับกิเลส ดับทุกข์, สิ้นวัฏฏะ, สิ้นกรรม ฯลฯ โดยสิ้นเชิง.

18.2 อานิสงส์ของบุคคล (อรหันต์) : คือ เป็นตัวอย่างแห่งผู้สิ้นทุกข์ แล้วรักษาหรือสืบต่อพรหมจรรย์นั้นไว้.

19. หนทางถลำ : อรหันต์โดยหนทางถลำ : เข้าไปสู่การปฏิบัติเพื่อความเป็นพระอรหันต์ :

19.1 ถูกความทุกข์บีบคั้นขบกัด.

19.2 การบังเอิญได้พบ, ได้เห็น, ได้ยิน, ได้ฟัง, ได้พอใจ, ซึ่งบุคคลผู้เป็นพระอรหันต์.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : อรหันต์โดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : คือ โพธิปักขิยธรรม 37 ประการ.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : อรหันต์โดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

21.1 ภาษาคน : หมายถึง ตัวบุคคล.

ภาษาธรรม : หมายถึง คุณธรรมที่ทำความเป็นพระอรหันต์.

21.2 ภาษาคน : ผู้วิเศษ.

ภาษาธรรม : ผู้สิ้นอาสวะ.

21.3 ภาษาคน : ยอดคนในโลก.

ภาษาธรรม : ยอดคนเหนือโลก.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. พระพุทธคุณบรรยาย

2. มาฆบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง