[Font : 15 ]
| |
เนื้อนาที่ไม่เกิดบุญ |  

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงประกอบด้วยองค์ 5 เป็นช้างไม่คู่ควรแก่พระราชา ไม่เป็นราชพาหนะได้ ไม่นับว่าเป็นของคู่บารมีของพระราชา. องค์ 5 อะไรเล่า? องค์ 5 คือ ช้างหลวงในกรณีนี้ เป็นช้างที่ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณี ช้างหลวงเมื่อออกศึก ได้เห็นหมู่พลช้างก็ดี, หมู่พลม้าก็ดี, หมู่พลรถก็ดี, หมู่พลราบก็ดี, (ของฝ่ายข้าศึก) แล้ว ก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสียไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท.! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ช้างหลวงเมื่ออกศึก ได้ยินเสียงหมู่พลช้างก็ดี, หมู่พลม้าก็ดี, หมู่พลรถก็ดี, หมู่พลราบก็ดี, ได้ยินเสียงกึกก้องแห่งกลองบัณเฑาะว์ สังข์และมโหระทึกก็ดี, แล้วก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท.! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่ออกศึก ได้กลิ่นมูตรและกรีส (ปัสสาวะและอุจจาระ) ของช้างทั้งหลาย ชนิดที่เป็นชั้นจ่าเจนสงครามแข้าแล้ว ก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ ภิกษุ ท.! ช้างหลวงอย่างนี้ ชื่อว่าไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่ออกศึก เมื่อไม่ได้รับการทอดหญ้าและน้ำมื้อหนึ่งหรือ 2 มื้อ 3 มื้อ 4 มื้อ หรือ 5 มื้อ แล้วก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท.! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ช้างหลวงที่ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้ ช้างหลวงเมื่อออกศึก ถูกศรที่เขายิงมาอย่างรวดเร็วกระทันหันเข้า 1 ลูก หรือ 2 ลูก 3 ลูก 4 ลูก หรือ 5 ลูกแล้ว ก็ระย่อ ห่อหด ถดถอยเสีย ไม่อาจจะเข้าสู่ที่รบ. ภิกษุ ท.! ช้างหลวงอย่างนี้ชื่อว่าไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

... ... ....

ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้นเหมือนกัน : ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยเหตุ 5 อย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรแก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควรทำอัญชลี ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างดีเยี่ยม. เหตุ 5 อย่างอะไรกันเล่า? เหตุ 5 อย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย, ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ได้เห็นรูปด้วยตาแล้ว ติดใจยินดีในรูปอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรูปทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ฟังเสียงด้วยหูแล้ว ติดใจยินดีในเสียงอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อเสียงทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อกลิ่นทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ดมกลิ่นด้วยจมูก ติดใจยินดีในกลิ่นอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อกลิ่น ทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุเป็นผู้ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ได้ลิ้มรสด้วยลิ้นแล้ว ติดใจยินในรสอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อรสทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เป็นผู้ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า? ภิกษุ ท.! ภิกษุในกรณีนี้ ได้สัมผัสโผฏฐัพพะด้วยกายแล้ว ติดใจยินดีในโผฏฐัพพะอันเป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดยินดี ไม่อาจจะตั้งจิตเป็นกลางอยู่ได้. ภิกษุ ท.! ภิกษุอย่างนี้ชื่อว่า ไม่อดทนต่อโผฏฐัพพะทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยเหตุห้าอย่างนี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ไม่ควรแก่ของบูชา ไม่ควรแก่ของต้อนรับ ไม่ควรแก่ของทำบุญ ไม่ควรทำอัญชลี ไม่เป็นเนื้อนาบุญของโลกอย่างดีเยี่ยมเลย.

- บาลี พระพุทธภาษิต ปญฺจก. อํ. 22/176/139, ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลาย.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง