[Font : 15 ]
| |
อัฏฐังคิกมรรค มีความหมายแห่งความเป็นกัลยาณมิตร |  

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ธรรมนี้ เป็นครึ่งหนึ่งของพรหมจรรย์, กล่าวคือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ความเป็นผู้มีสหายดี ความเป็นผู้มีพวกพ้องดี”.

อานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น ; อานนท์ ! อย่ากล่าวอย่างนั้น. อานนท์ ! ธรรมนี้ เป็นพรหมจรรย์ทั้งหมดทีเดียว, กล่าวคือ ความเป็นผู้มีมิตรดี ความเป็นผู้มีสหายดี ความเป็นผู้มีพวกพ้องดี.

อานนท์ ! สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี นั้น ข้อนี้เป็นสิ่งที่พึงหวังได้ คือ จักทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เจริญได้ จักกระทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากได้. ข้อนั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ข้อนั้นคือ ภิกษุในกรณีนี้ เจริญสัมมาทิฏฐิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดลง (ซึ่งอุปาทานขันธ์), เจริญสัมมาสังกัปปะ …. เจริญสัมมาวาจา …. เจริญสัมมากัมมันตะ …. เจริญสัมมาอาชีวะ …. เจริญสัมมาวายามะ …. เจริญสัมมาสติ …. เจริญสัมมาสมาธิอันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อการสลัดลง (ซึ่งอุปาทานขันธ์). อานนท์ ! อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่ามีมิตรดี (กลฺยาณมิตฺต) มีสหายดี (กลฺยาณสหาย) มีพวกพ้องดี (กลฺยาณสมฺปวงฺก) ทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เจริญได้ กระทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากได้.

อานนท์ ! ข้อที่ว่าความเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว นั้น อันใคร ๆ พึงทราบโดยปริยายแม้นี้ : อานนท์ ! เพราะอาศัยเราแล เป็นกัลยาณมิตร สัตว์ที่มีความเกิดเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความเกิด สัตว์ที่มีความแก่เป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความแก่ สัตว์ที่มีความตายเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากความตาย สัตว์ที่มีโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสสะอุปายาสเป็นธรรมดา ย่อมหลุดพ้นจากโสกะปริเทวะทุกขะโทมนัสสะอุปายาส. อานนท์ ! โดยปริยายนี้แล อันใคร ๆ พึงทราบว่า ความเป็นผู้มีมิตรดี ความเป็นผู้มีสหายดี ความเป็นผู้มีพวกพ้องดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้นทีเดียว ดังนี้.

- มหาวาร. สํ. 19/2 - 3/4 - 7.

( คำตรัสแก่พระสารีบุตร :- )

ถูกแล้ว ถูกแล้ว สารีบุตร ! ความเป็นผู้มีมิตรดี ความเป็นผู้มีสหายดี ความเป็นผู้มีพวกพ้องดี นี้เป็นพรหมจรรย์ทั้งสิ้น.

สารีบุตร ! สำหรับภิกษุผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีพวกพ้องดี นั้น ข้อนี้เป็นสิ่งที่พึงหวังได้ คือ จักทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้เจริญได้ จักกระทำอริยอัฏฐังคิกมรรคให้มากได้. (ต่อจากนั้นตรัสจำแนกองค์แห่งอัฏฐังคิกมรรคที่อาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปเพื่อความสลัดลง แล้วตรัสความที่สัตว์อาศัยพระองค์เป็นกัลยาณมิตรแล้ว พ้นจากชาติชรามรณะและทุกข์ทั้งปวงได้ เช่นเดียวกับข้อความที่กล่าวแล้วข้างต้น).

- มหาวาร. สํ. 19/3-4/8-11.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง