[Font : 15 ]
| |
อีกนัยหนึ่ง (ตามบาลีอรณวิภังคสูตรมัชฌิมนิกาย) |  

[ ตอนอุทเทส ]

บุคคลไม่พึงตามประกอบซึ่ง กามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงตามประกอบซึ่ง อัตตกิลมถานุโยค อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์.

ต่อไปนี้เป็น ข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน.

ควรรู้จักการกระทำที่เป็นการเชิดชู (อุสฺสาทน) และการกระทำที่เป็นการขับไล่ไสส่ง (อปสาทน), ครั้นรู้แล้ว ไม่พึงกระทำการแกล้งเชิดชู ไม่พึงกระทำการขับไล่ไสส่ง พึงแสดงแต่ที่เป็นธรรมเท่านั้น. ควรรู้จักวินิจฉัยในกรณีแห่งความสุข, ครั้นรู้แล้ว พึงตามประกอบซึ่งความสุขในภายใน, ไม่ควรกล่าวรโหวาทะ (การกล่าวในที่ลับหลัง) ที่ไม่ควรกล่าว, ไม่ควรกล่าวอติขีณวาท (การกล่าวใส่หน้า) ที่ไม่ควรกล่าว ; ไม่ควรกล่าวอย่างรีบร้อนจนปากสั่นเสียงสั่น ; ไม่พึงยึดถือภาษาพูดของชาวเมือง ไม่เพิกถอนโลกสมัญญา (ภาษาพูดของชาวโลก) ; ดังนี้.

นี้คือหัวข้อ (อุทฺเทส) แห่งอรณวิภังคะ (การแยกธรรมอันไม่เป็นข้าศึก ออกเสียจากธรรมที่เป็นข้าศึก).

[ ตอนนิทเทส ]

ธรรมใดซึ่งเป็นการตามประกอบซึ่งโสมนัส ของผู้มีสุขอันเนื่องเฉพาะอยู่ด้วยกาม เป็นการกระทำต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ธรรมนั้น ประกอบด้วยทุกข์ ประกอบด้วยความคับแค้น ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ประกอบด้วยความเผาลน เป็นมิจฉาปฏิปทา (เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).

ธรรมใดไม่เป็นการตามประกอบ ซึ่งการตามประกอบด้วยโสมนัสของผู้มีสุขอันเนื่องเฉพาะอยู่ด้วยกาม อันเป็นการตามประกอบด้วยโสมนัสซึ่งต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ธรรมนั้น ไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา (ไม่เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).

ธรรมใด เป็นการตามประกอบในการทำตนให้ลำบาก (อตฺตกิลมถานุโยค) อันเป็นการกระทำที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ธรรมนั้น ประกอบด้วยทุกข์ ประกอบด้วยความคับแค้น ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ประกอบด้วยความเผาลน เป็นมิจฉาปฏิปทา (เป็นข้าศึกแก่มัชฌิมาปฏิปทา).

ธรรมใด ไม่เป็นการตามประกอบ ซึ่งการตามประกอบในการทำตนให้ลำบาก อันเป็นการตามประกอบที่เป็นทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์, ธรรมนั้น ไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา (ไม่เป็นข้าศึกต่อมัชฌิมาปฏิปทา).

คำใด ที่เรากล่าวแล้วว่า “บุคคลไม่พึงตามประกอบซึ่งกามสุข อันเป็นสุขที่ต่ำทราม เป็นของชาวบ้าน เป็นของคนชั้นบุถุชน มิใช่ของพระอริยะ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์ และไม่พึงตามประกอบซึ่งอัตตกิลมถานุโยค อันนำมาซึ่งความทุกข์ ไม่ใช่ของพระอริยเจ้า ไม่ประกอบด้วยประโยชน์” ดังนี้ คำนั้น เรา อาศัยเหตุผล (ดังกล่าวข้างบน) นี้ กล่าวแล้ว.

ก็คำที่เรากล่าวแล้วว่า “ต่อไปนี้เป็นข้อปฏิบัติเป็นทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ที่ไม่ดิ่งไปหาสิ่งสุดโต่งสองอย่างนั้น เป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน" ดังนี้นั้น (คำว่ามัชฌิมาปฏิปทาในที่นี้) เรากล่าวแล้วหมายถึงอะไร ? หมายถึง อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้ นั่นเทียว กล่าวคือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ. ....

ภิกษุ ท. ! มัชฌิมาปฏิปทานี้ ใด, อันเป็นข้อปฏิบัติที่ตถาคตได้ตรัสรู้เฉพาะแล้ว เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดจักษุ เป็นข้อปฏิบัติทำให้เกิดญาณ เป็นไปเพื่อความสงบ เพื่อความรู้อันยิ่ง เพื่อความตรัสรู้พร้อม เพื่อนิพพาน ; ธรรม (มัชฌิมาปฏิปทา) นั้น เป็นธรรมไม่ประกอบด้วยทุกข์ ไม่ประกอบด้วยความคับแค้น ไม่ประกอบด้วยความแห้งผากในใจ ไม่ประกอบด้วยความเผาลน เป็นสัมมาปฏิปทา เพราะเหตุนั้น ธรรมนั้นจึงชื่อว่า ธรรมไม่เป็นข้าศึก (อรณ).

- อุปริ. ม. 14/422 - 424, 531/654 – 656, 665.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง