[Font : 15 ]
| |
เนื้อนาบุญเกิด เพราะได้รับการฝึกตามลำดับ |  

ภัททาลิ! พวกเธอ ยังมีอะไรๆ น้อยนัก ครั้งเมื่อเราได้แสดงธรรมปริยายเปรีบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่ม ให้แก่พวกเธอทั้งหลาย โดยสมัยนั้น. เธอยังระลึกอุปมาเรื่องนั้นได้อยู่หรือ?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! ก็อุปมาเรื่องนั้ ข้อพระองค์ระลึกไม่ได้แล้ว พระเจ้าข้า".

ภัททาลิ! ในข้อที่ระลึกไม่ได้นั้น เธออาศัยอะไรเป็นเหตุเล่า?

"ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ! เพราะเหตุว่า ข้าพระองค์นั้น มิได้ทำให้สมบูรณ์ด้วยสิกขาในคำสั่งสอนของพระศาสดามาสิ้นเวลานานนักหนาแล้ว พระเจ้าข้า".

ภัททาลิ! นั่น มิใช่เหตุ, นั้น มิใช่ปัจจัยดอก. ที่แท้นั้นเราคอยจับดูใจของเธอด้วยใจของเรามานานช้า จนทราบว่า "โมฆบุรุษผู้นี้ เมื่อเรากำลังแสดงธรรมอยู่ก็หาได้ทำตนให้เป็นคนมีความต้องการด้วยธรรมไม่ กลับไม่สนใจ ไม่ประมวลเอาเข้ามาด้วยใจทั้งหมด ไม่เงี่ยโสตลงฟังธรรม" ดังนี้. ภัททาลิ! ก็แต่ว่า เราจกแสดงธรรมปริยายเปรียบด้วยม้าอาชาไนยหนุ่ม ให้แก่เธอซ้ำอีก, เธอจงฟังธรรมปริยายนั้น ทำในใจให้สำเร็จประโยชน์เถิด, เราจักกล่าวบัดนี้.

เมื่อท่านภัททาลิทูลสนองพระพุทธดำรัสแล้ว, พระผู้มีพระภาคเจ้า จึงได้ดำรัสพระพุทธวจนะนี้ต่อไปว่า :-

ภัททาลิ! เปรียบเหมือนคนฝึกม้าผู้สามารถ ได้ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีมาแล้ว ในชั้นแรก ย่อมฝึกให้รู้จัก การรับสวมบังเหียนก่อน. เมื่อม้านั้นถูกฝึกให้รู้จักการับสวมบังเหียนอยู่ พยศต่างๆ ที่ม้าประพฤติเป็นข้าศึกเป็นหลักตอเสพผิดดิ้นรน หมือนลักษณะของม้าที่ยังไม่เคยถูกฝึกนั้นก็ยังมีอยู่บ้าง. ม้านั้นเพราะถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้าก็หมดพยศ ในข้อที่ไม่รับสวมบังเหียนนั้น.

ภัททาลิ! เมื่อใด ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีตัวนั้น ถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้า จนหมดพยศในข้อนั้นแล้ว, เมื่อนั้น คนฝึกม้า จึงทำการฝึกม้าตัวนั้น ให้ยิ่งขึ้นไป ในการเทียมแอก. เมื่อม้านั้นถูกฝึกให้รู้จักการเทียมแอกอยู่, พยศต่างๆ ที่ม้าประพฤติเป็นข้าศึกเป็นหลักต่อเสพผิดดิ้นรน เหมือนลักษณะของม้าที่ยังไม่เคยถูกฝึกนั้นก็ยังมีอยู่บ้าง. ม้านั้น เพราะถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้า ก็หมดพยศ ในข้อที่ไม่รับแอกนั้น.

ภัททาลิ! เมื่อใด ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีตัวนั้น ถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้า จนหมดพยศในข้อที่ไม่รับแอกนั้นแล้ว, เมื่อนั้น คนฝึกม้าจึงทำการฝึกม้าตัวนั้นให้ยิ่งขึ้นไป :-

(1) ในการแยกขากระโดดแผล็วขึ้นพร้อมกันทั้ง 4 ขา,

(2) ในการเอี้ยวตะแคงตัวเป็นวงกลมจนผู้ขี่หยิบอาวุธที่ตกดินได้,

(3) ในการสามารถวิ่งจดแต่หลายกีบจนไม่เกิดเสียง,

(4) ในความเร็วทั้งทีหนีทีไล่,

(5) ในการไม่กลัวเสียงอึกทึกทุกชนิด,

(6) ในการรู้คุณค่าของพระราชา,

(7) ในการทำตัวให้สมกับเป็นวงศ์พระยาม้า,

(8) ในความเร็วเลิศ,

(9) ในความเป็นยอดม้า,

(10) ในความควรแก่การฟังแต่คำที่นิ่มนวล.

ภัททาลิ! ม้านั้น เพราะถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้าก็หมดพยศต่างๆ ใน 10 ข้อเหล่านั้น.

ภัททาลิ! เมื่อใด ม้าอาชาไนยพันธุ์ดีตัวนั้น ถูกฝึกเนืองๆ และถูกฝึกซ้ำๆ ซากๆ เข้า จนกระทั่งหมดพยศทุกอย่างแล้ว, เมื่อนั้น คนฝึกม้าก็ย่อมฝึกม้าตัวนั้นเพิ่มเติมให้ยิ่งขึ้นไป โดยทั้งคุณภาพและกำลัง.

ภัททาลิ! ม้าอาชาไนยพันธุ์ดี ที่ประกอบด้วยองค์คุณ 10 อย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นม้าที่คู่ควรแก่พระราชา เป็นราชพาหนะได้ และนับว่าเป็นของคู่บารมีของพระราชาด้วย;

ภัททาลิ! ฉันใดก็ฉันนั้น : ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 10 อย่างแล้ว ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า. องค์ประกอบ 10 อย่างอะไรบ้างเล่า? 10 อย่างคือ ภิกษุในกรณีนี้ :

(1) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิอันเป็นอเสขะ,

(2) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาสังกัปปะอันเป็นอเสขะ,

(3) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาวาจาอันเป็นอเสขะ,

(4) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมากัมมันตะอันเป็นอเสขะ,

(5) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาอาชีวะอันเป็นอเสขะ,

(6) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาวายามะอันเป็นอเสขะ,

(7) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาสติอันเป็นอเสขะ,

(8) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาสมาธิอันเป็นอเสขะ,

(9) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาญาณอันเป็นอเสขะ,

(10) เป็นผู้ประกอบด้วย สัมมาวิมุติอันเป็นอเสขะ.

ภิกษุ ท.! ภิกษุ เมื่อประกอบด้วยองค์ประกอบ 10 อย่างเหล่านี้แล้ว ย่อมเป็นผู้ควรแก่ของบูชา ควรแก่ของต้อนรับ ควรแก่ของทำบุญ ควรทำอัญชลี เป็นเนื้อนาบุญของโลก ไม่มีนาบุญอื่นยิ่งกว่า.

- บาลี พระพุทธภาษิต ภัททาลิสูตร ม.ม. 13/175/173. ตรัสแก่พระภัททาลิ ผู้หัวดื้อถือรั้น ไม่ยอมทำตามคำวิงวอนของพระพุทธองค์ที่ทรงชี้ชวนว่า "มาเถิด แม้พวกเธอทั้งหลาย ก็จงฉันโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว. พวกเธอทั้งหลาย เมื่อฉันอยู่ซึ่งโภชนะแต่ในที่นั่งแห่งเดียว จักรู้สึกความที่เป้นผู้มีอาพาธน้อย มีทุกข์น้อย มีความเบา กายกระปรี้กระเปร่า มีกำลังและมีความผาสุก" ดังนี้. แต่เมื่อท่านภัททาลิได้ฟังธรรมเรื่อง "อุปมาด้วยม้าอาชาไนยหนุ่ม" ซ้ำเป็นครั้งที่ 2 ก็กลับใจได้ และเข้าใจซาบซึ้ง ในพระพุทธดำรัสนั้น มีใจสูงขึ้นด้วยปีติแล้ว.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง