[Font : 15 ]
| |
เหตุที่ทำให้ได้พระนามว่า "อนุตตรปุริสทัมมสารถิ" |  

ภิกษุ ท.! คำที่เรากล่าวแล้วว่า "ตถาคตนั้น เป็นผู้อันบุคคลกล่าวว่าเป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ในบรรดาอาจารย์ผู้ฝึก ท." ดังนี้นั้น; คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยอะไรเล่า?

ภิกษุ ท.! ช้าง ที่ควรฝึก อันควาญช้างฝึกจนรู้บทแห่งการฝึกแล้ว ก็แล่นไปได้สู่ทิศทางเดียวเท่านั้น คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้.ภิกษุ ท.! ม้า ที่ควรฝึก อันควาญม้าฝึกจนรู้บทแห่งการฝึกแล้ว ก็แล่นไปได้สู่ทิศทางเดียวเท่านั้น คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้. ภิกษุ ท.! โค ที่ควรฝึก อันผู้ฝึกโคจนรู้บทแห่งการฝึกแล้ว ก็แล่นไปได้สู่ทิศทางเดียวเท่านั้น คือทิศตะวันออก ทิศตะวันตก ทิศเหนือ หรือทิศใต้.

ภิกษุ ท.! ส่วน บุรุษที่ควรฝึก อันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธฝึกจนรู้บทแห่งการฝึกแล้ว ก็แล่นไปได้สู่ทิศทั้ง 8: เป็นผู้มีรูป ย่อมเห็นรูป ท. นี้คือทิศที่ 1; เป็นผู้ มีสัญญาในอรูปในภายใน ย่อมเห็นซึ่งรูป ท. ในภายนอก นี้เป็นทิศที่ 2; เป็นผู้น้อมไปแล้วด้วยความรู้สึกว่า "งาม" เท่านั้น นี้เป็นทิศที่ 3; เพราะก้าวล่วงเสียได้ ซึ่งรูปสัญญา เพราะความดับไปแห่งปฏิฆสัญญา เพราะไม่ใส่ใจนานัตตสัญญา โดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงซึ่ง อากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อนันโต อากาโส" ดังนี้ แล้วแลอยู่ นี้เป็นทิศที่ 4; เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากาสานัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงซึ่ง วิญญาณัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อนันตัง วิญญาณัง" ดังนี้ แล้วแลอยู่ นี้เป็นทิศที่ 5; เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งวิญญาณัญจายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงซึ่งอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า "นัตถิ กิญจิ" ดังนี้ แล้วแลอยู่ นี้เป็นทิศที่ 6; เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งอากิญจัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงซึ่ง เนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่ นี้เป็นทิศที่ 7; เพราะก้าวล่วงเสียได้ซึ่งเนวสัญญานาสัญญายตนะโดยประการทั้งปวง เป็นผู้เข้าถึงซึ่ง สัญญาเวทยิตนิโรธแล้วแลอยู่ นี้เป็นทิศที่ 8. ภิกษุ ท.! บุรุษที่ควรฝึกอันตถาคตผู้อรหันตสัมมาสัมพุทธะฝึกจนรู้บทแห่งการฝึกแล้ว ก็แล่นไปได้สู่ทิศทั้ง 8 เหล่านี้.

ภิกษุ ท.! คำที่เรากล่าวแล้วว่า "ตถาคตนั้น เป็นผู้อันบุคคลกล่าวว่าเป็นสารถีฝึกบุรุษ ไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า ในบรรดาอาจารย์ผู้ฝึก ท." ดังนี้นั้น; คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยความข้อนี้, ดังนี้แล.

- บาลี สฬายตนวิภังคสูตร อุปริ. ม. 14/409/637. ตรัสแก่ภิกษุ ท. ที่เชตวัน.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง