[Font : 15 ]
| |
ทรงยืนยันความเป็นมหาบุรุษ |  

วัสสการพราหมณ์ ได้เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลว่า :-

"พระโคดมผู้เจริญ ! พวกข้าพเจ้าย่อมบัญญัติบุคคลที่มีธรรม 4 ประการ ว่าเป็นมหาบุรุษ มหาปราชญ์. ธรรม 4 ประการเหล่าไหนเล่า?

"พระโคดมผู้เจริญ ! คือคนในโลกนี้ เป็นพหุสูต มีเรื่องที่ควรสดับอันตนได้สดับแล้วมาก, เป็นคนรู้เนื้อความแห่งข้อความที่มีผู้กล่าวแล้วนั้น ๆ ว่านี้เป็นความหมายแห่งภาษิตนี้, เป็นคนมีสติระลึก สืบสาวการที่ทำคำที่พูดแล้วแม้นานได้, และเป็นคนฉลาดในกิจการของคฤหัสถ์ที่ต้องจัดต้องทำ ขยันไม่เกียจคร้านในกิจการเหล่านั้น มีปัญญาพิจารณาสอบสวนอันเป็นอุบายวิธีที่จะให้กิจการนั้นสำเร็จได้ด้วยดี สามารถทำเอง และสามารถที่จะจัดให้ผู้อื่นทำ ในกิจการเหล่านั้น, พระโคดมผู้เจริญ! พวกข้าพเจ้าบัญญัติบุคคลผู้มีธรรม 4 ประการเหล่านี้แล ว่าเป็นมหาบุรุษ มหาปราชญ์. ถ้าคำของข้าพเจ้าควรอนุโมทนา ก็ขอจงอนุโมทนา, ถ้าควรคัดค้าน ก็ขอจงคัดค้านเถิด".

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสตอบว่า :-

พราหมณ์ ! เราไม่อนุโมทนาของท่าน, เราไม่คัดค้านของท่าน.เราเอง ก็บัญญัติบุคคลที่มีธรรม 4 ประการ ว่าเป็นมหาบุรุษ มหาปราชญ์.ธรรม 4 ประการเหล่าไหนเล่า?

พราหมณ์ ! คือคนในโลกนี้ เป็นผู้ปฏิบัติเกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขของมหาชน ยังประชุมชนเป็นอันมากให้ประดิษฐานอยู่ในอริยญายธรรมคือความเป็นผู้มีธรรมงาม มีธรรมเป็นกุศล.

อนึ่ง เขาเป็นผู้จำนงจะตรึกเรื่องใด ก็ตรึกเรื่องนั้นได้, ไม่จำนงจะตรึกเรื่องใด ก็ไม่ตรึกเรื่องนั้นได้, จำนงจะดำริเรื่องใด ก็ดำริเรื่องนั้นได้, ไม่จำนงจะดำริเรื่องใด ก็ไม่ดำริเรื่องนั้นได้ เพราะเขาเป็นผู้มีอำนาจเหนือจิต ในคลองแห่งความตรึกทั้งหลาย.

อนึ่ง เขาเป็นผู้ได้ตามต้องการได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบากซึ่งฌานทั้ง 4 อันเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในภพปัจจุบันนี้ อันเป็นธรรมเป็นไปในทางจิตขั้นสูง.

อนึ่ง เขานั้นย่อมกระทำให้แจ้งได้ ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะเพราะสิ้นอาสวะแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ในวิหารธรรมนั้นในภพอันเป็นปัจจุบันนี้.

พราหมณ์ ! เราไม่อนุโมทนาของท่าน, เราไม่คัดค้านของท่าน, แต่เราบัญญัติบุคคลที่มีธรรม 4 ประการนี้แล ว่าเป็นมหาบุรุณ มหาปราชญ์.

วัสสการพราหมณ์ ได้อนุโมทนาสรรเสริญคำของพระผู้มีพระภาคเจ้าเป็นอันมาก ในที่สุดพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสคำนี้ว่า :-

พราหมณ์ ! ท่านกล่าวคำพาดพิงถึงเรา. เอาเถิดเราจะพูดให้แจ้งชัดทีเดียวว่า เราและเป็นผู้ปฏิบัติเกื้อกูลแก่มหาชน เพื่อความสุขของมหาชนยังประชุมชนให้ตั้งอยู่ในอริยญายธรรม กล่าวคือความเป็นผู้มีธรรมงาม เป็นผู้มีธรรมเป็นกุศล. เราแล เป็นผู้จำนงจะตรึกในเรื่องใด ก็ตรึกในเรื่องนั้นได้ ไม่จำนงจะตรึกในเรื่องใด ก็ไม่ตรึกในเรื่องนั้นได้, จำนงจะดำริในเรื่องใดก็ดำริในเรื่องนั้นได้ ไม่จำนงจะดำริในเรื่องใด ก็ไม่ดำริในเรื่องนั้นได้ เพราะเราเป็นผู้มีอำนาจเหนือจิต ในคลองแห่งความตรึกทั้งหลาย. เราแล เป็นผู้ได้ตามต้องการได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก วึ่งฌานทั้ง 4 อันเป็นธรรมเครื่องอยู่เป็นสุขในภพเป็นปัจจุบันนี้ อันเป็นธรรมเป็นไปในทางจิตขั้นสูง. เราแล เป็นผู้ทำให้แจ้งได้ ซึ่งเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ อันไม่มีอาสวะ เพราะสิ้นอาสวะแล้ว ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง เข้าถึงแล้วและอยู่ในวิหารธรรมนั้น ในภพอันเป็นปัจจุบันนี้ ดังนี้.

- บาลี จตุกฺก. อํ. 21/45/35. ตรัสแก่วัสสการพราหมณ์ที่เวฬุวัน ใกล้เมืองราชคฤห์.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง