[Font : 15 ]
| |
ลำดับแห่งโลกิยสุข (ซึ่งยังไม่ถึงนิพพาน) |  

อานนท์ ! กามคุณมี 5 อย่าง, 5 อย่างเหล่าไหนเล่า? 5 อย่าง คือ รูปทั้งหลายที่เห็นได้ทางตาก็ดี, เสียงทั้งหลายที่ฟังได้ทางหูก็ดี, กลิ่นทั้งหลายที่ดมรูได้ทางจมูกก็ดี, รสทั้งหลายที่ลิ้มได้ทางลิ้นก็ดี, และโผฏฐัพพะที่สัมผัสรู้ทางผิวกายก็ดี, อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ ที่ยวนตายวนใจให้รัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจมีอยู่. อานนท์!เหล่านี้แล คือ กามคุณ 5 อย่าง.

อานนท์ ! สุข โสมนัสใด อาศัยกามคุณ ห้าเหล่านี้บังเกิดขึ้น ; อานนท์ ! สุข โสมนัสนั้นเราเรียกว่า "กามสุข".

อานนท์ ! ชนเหล่าใดก็ตาม จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งกามสุข ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เรา ตถาคตไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้เพราะเหตุไร ? อานนท์! เพราะเหตุว่าสุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่ากามสุขนั้นยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่ากามสุข นั้นเป็นอย่างไรเล่า? อานนท์! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะสงัดจากกาม และสงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย จึง บรรลุฌานที่ 1 ซึ่งมีวิตกวิจาร มีปีติและสุข อันเกิดแต่วิเวกแล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี้แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่ากามสุขนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่ปฐมฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้นของชนเหล่านั้น. ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ปฐมฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ปฐมฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะวิตกวิจารรำงับ จึง บรรลุถึงฌานที่ 2 อันเป็นเครื่องผ่องใสในภายใน ทำให้เกิดสมาธิมีอารมณ์อันเดียวแห่งใจ ไม่มีวิตกวิจาร มีแต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิแล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ปฐมฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้นถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่ทุติยฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ทุติฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ทุติยฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะความจางคลายไปแห่งปีติ เป็นผู้อยู่อุเบกขา มีสิตสัมปชัญญะ เสวยสุขอยู่ด้วยนามกาย จึง บรรลุฌานที่ 3 เป็นฌานที่พระอริยเจ้าทั้งหลายกล่าวว่าผู้บรรลุฌานนี้ เป็นผู้อยู่อุเบกขามีสติอยู่เป็นปรกติสุข ดังนี้ แล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ทุติยฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้นถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลาย ที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่ตติยฌาน ย่อยอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่ากว่าความสุขอันเกิดแต่ตติยฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิด แต่ตติยฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์! ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เพราะละสุขเสียได้ และเพราะละทุกข์เสียได้, เพราะความดับหายไปแห่งโสมนัส และโทมนัสในกาลก่อน, จึง บรรลุฌานที่ 4 อันไม่มีทุกข์ไม่มีสุข มีแต่ความที่สติเป็นธรรมชาติบริสุทธิ์เพราะอุเบกขา แล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แล คือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่ตติยฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลาย ที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่จตุตถฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่จตุตถฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่จตุตถฌาน นั้นเป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์! ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เพราะผ่านพ้นรูปสัญญาเสียได้ โดยประการทั้งปวง, เพราะความตั้งอยู่ไม่ได้แห่งปฏิฆสัญญา, เพราะไม่ทำในใจซึ่งนานัตตสัญญา จึง บรรลุอากาสานัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ" ดังนี้ แล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่จตุตถฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใด จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่อากาสานัญจายตนฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุขบรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้นของชนเหล่านั้น. ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า ความสุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุข อันเกิดแต่อากาสานัญจายตนฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่อากาสานัญจายตนะฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เพราะผ่านพ้นอากาสานัญจายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง จึงบรรลุวิญญาณนัญจายตนะ อันมีการทำในใจว่า "วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ" ดังนี้ แล้วแลอยู่. อานนท์! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่อากาสานัญจายตนะฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่วิญญาณัญจายตนฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติบรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำ กล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่าความสุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่วิญญาณนัญจายตนฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่วิญยาณัญจายตนฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เพราะผ่านพ้นวิญญาณัญจายตนะเสียได้โดยประการทั้งปวง จึง บรรลุอากิญจัญญายตนะ อันมีการทำในใจว่า "อะไร ๆ ไม่มีดังนี้ แล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่วิญญาณนัญจายตนฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุขอันเกิดแต่อากิญจัญญายตนฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์ ! เราไม่ยอมรับรองคำ กล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น ข้อนี้ เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่อากิญจัญายตนญาณนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่อากิญจํญญญายตนะฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เพราะผ่านพ้นอากิญจัญญายตนะเสียได้ โดยประการทั้งปวง จึง บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนะ แล้วแลอยู่ อานนท์ ! นี่แลคือความสุขชนิดที่เป็นอย่างอื่น ที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่อากิญจัญญายนตนฌานนั้น. อานนท์ ! แต่แม้กระนั้น ถ้าชนเหล่าใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "สัตว์ทั้งหลายที่ได้เสวยเฉพาะซึ่งสุข อันเกิดแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ย่อมอยู่ในฐานะได้ บรมสันติ บรมสุข บรมโสมนัส" ดังนี้. อานนท์! เราไม่ยอมรับรองคำกล่าวเช่นนั้น ของชนเหล่านั้น. ข้อนี้เพราะเหตุไร ? อานนท์ ! เพราะเหตุว่า สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ยังมีอยู่.

อานนท์ ! สุขอย่างอื่นที่เหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะฌาน นั้น เป็นอย่างไรเล่า ? อานนท์ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้, เพราะผ่านพ้นเนวสัญญานาสัญญายตนะเสียได้ โดยประการทั้งปวง จึง บรรลุสัญญาเวทยิตนิโรธ แล้วแลอยู่. อานนท์ ! นี่แลความสุขที่เป็นอย่างอื่นทีเหนือกว่า ประณีตกว่า กว่าความสุขอันเกิดแต่เนวสัญญานาสัญญายตนะฌานนั้น.

อานนท์ ! ส่วนข้อนี้ เป็นฐานะที่จะมีได้คือ ข้อที่พวกปริพาชกทั้งหลาย ผู้ถือลัทธิอื่น จะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า "พระสมณะโคดม ได้กล่าวถึงสัญญาเวทยิตนิโรธ, แล้วจึงบัญญัติซึ่งสัญญาเวทยิตนิโรธนั้น ในฐานะเป็นความสุข. มันจะเป็นความสุขชนิดไหนหนอ ? มันจะเป็นความสุขไปได้อย่างไรหนอ ?" อานนท์ ! พวกปริพาชกผู้ถือลัทธิอื่น ซึ่งมีปรกติกล่าวอย่างนี้, เธอทั้งหลายจะพึงกล่าวแก้อย่างนี้ว่า "ผู้มีอายุ ! พระผู้มีพระภาค ไม่ได้หมายถึงสุขเวทนา แล้วบัญญัติในฐานะเป็นตัวความสุข. ผู้มีอายุ ! แต่ว่า ความสุข อันบุคคลจะพึงหาได้ในธรรมใด ; พระตถาคตย่อมบัญญัติซึ่งธรรมนั้น ในฐานะเป็นความสุข" ดังนี้แล.

- สฬา. สํ. 18/278-282/413-424.

หมายเหตุ :- การนำโลกิยสุข หรือความสุขขั้นที่ยังต้องมีเหตุมีปัจจัยทุกระดับ มาใส่ไว้ในที่นี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเปรียบเทียบกับนิพพาน ซึ่งเป็นธรรมไม่เหตุไม่มีปัจจัย และอยู่ในฐานยิ่งไปกว่าความสุข, พระองค์จึงได้ทรงนำมาเรียบลำดับไว้ในที่นั้นในฐานะเป็นความสุขชนิดหนึ่ง.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง