[Font : 15 ]
| |
กามเปรียบด้วย ของยืม |  

คฤหบดี! เปรียบเหมือบุรุษผู้หนึ่ง ขอยืมทรัพย์จากผู้อื่นได้แล้ว เอาลงใส่เกวียนน้อย มีตุ้มหูแก้วมณีอันล้ำค่า เป็นต้น. บุรุษผู้นั้น วางของยืมเหล่านั้นไว้ข้างหน้าตัวบ้าง รอบๆ ตัวบ้าง ขับผ่านไปตามหมู่ชาวร้าน. หมู่ชนเห็นบุรุษผู้นั้นแล้ว ก็จะพึงกล่าวกันแซ่ว่า "ท่านผู้เจริญ ทั้งหลายเอ๋ย ! บุรุษผู้นี้ร่ำรวยจริงหนอ! ดูซี, พวกคนรวย เขาใช้สอยโภคะกันอย่างนี้เอง" ดังนี้, ครั้นเจ้าของทรัพย์ พบบุรุษ ซึ่งทำอยู่ดังนั้น ในที่ใด ๆ เขาก็จะทวงเอาทรัพย์ของเขาคืนไปเสีย ณ ที่นั้น ๆ นั่นเอง.

คฤหบดี! ท่านจะสำคัญ ความข้อนั้นว่าอย่างไร? คือควรจะทำอย่างอื่นแก่บุรุษนั้นไหมหนอ?

"หามิได้ พระเจ้าข้า!" เพราะเหตุไร? "เพราะเหตุว่า ธรรมดาเจ้าของทรัพย์ ก็ต้องทวงเอาทรัพย์ของเขาคืนไป" ดังนี้.

คฤหบดี! ด้วยเหตุนี้แหละ สาวกของพระอริยเจ้า ย่อมพิจารณาเห็นโดยประจักษ์ดังนี้ว่า "กามทั้งหลาย อันพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วว่า มีอุปมาด้วยของยืม เป็นสิ่งที่ให้เกิดทุกข์มาก ทำให้คับแค้นใจมาก และมีโทษอย่างยิ่ง" ดังนี้, ครั้นเห็นกามนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็เว้นเสียโดยเด็ดขาด ซึ่งความเพ่ง มีประการต่าง ๆ อันอาศัยอารมณ์ต่าง ๆ (กามคุณห้า), แล้วเจริญซึ่งความเพ่งอันเดียว อันอาศัยอารมณ์อันเดียว (คืออาศัยอุเบกขาที่เป็นองค์ของจตุตุถฌาน) อันเป็นที่ดับสนิทไม่มีส่วนเหลือของอุปาทานอันมีอยู่ในเหยื่อโลก โดยประการทั้งปวงแล.

- ม. ม. 13/43/52.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง