[Font : 15 ]
| |
การปรินิพพาน หรือ การประทับสีหเสยยา ครั้งสุดท้าย |  

อานนท์! มาเถิด, เราจักไปสู่ฝั่งโน้นแห่งแม่น้ำหิรัญญวดี, ไปยังสวนป่าสาละเป็นที่แวะพักของมัลลกษัตริย์ ใกล้เมืองกุสินารา. (ครั้นถึงที่นั้นแล้วตรัสสั่งให้ตั้งเตียงปรินิพพาน).

อานนท์! เธอจงจัดตั้งเตียงน้อย ระหว่างต้นสาละคู่ มีศรีษะทางทิศเหนือ เราลำบากกายนัก, จักนอน (ประทับสีหเสยยาแล้ว มีอัศจรรย์ ดอกสาละผลิผิดฤดูกาลโปรยลงบนพระสรีระ, ดอกมัณฑารพ จุรณ์ไม้จันทน์, ดนตรีล้วนแต่ของทิพย์ ได้ตกลงและบรรเลงขึ้น; เพื่อบูชาพระตถาคตเจ้า).

อานนท์! การบูชาเหล่านี้ หาชื่อว่า ตถาคตเป็นผู้ที่ได้รับสักการะเคารพ นับถือ บูชาแล้วไม่. อานนท์! ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาใดประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง, ปฏิบัติตามธรรมอยู่; ผู้นั้นชื่อว่าย่อมสักการะ เคารพ นับถือ บูชาตถาคต ด้วยการบูชาอันสูงสุด. อานนท์! เพราะฉะนั้นเธอพึงกำหนดใจว่า `เราจักประพฤติธรรมสมควรแก่ธรรม ปฏิบัติชอบยิ่ง ปฏิบัติตามธรรมอยู่' ดังนี้. (ต่อจากนี้ ทรงขับท่านพระอุปวาณะ ที่เข้ามาอยู่งานพัด,พระอานนท์ทูลถามถึงเหตุที่ขับ, ตรัสตอบดังต่อไปนี้):

อานนท์! พวกเทวดาในโลกธาตุทั้ง 10 โดยมาก มาประชุมกันแล้วเพื่อเห็นตถาคต. อานนท์! สวนป่าสาละที่แวะพักของมัลลกษัตริย์แห่งเมืองกุสินารา 12 โยชน์โดยรอบ มิได้มีที่ว่างแม้เท่าปลายขนทราย ที่เทวดามีศักดิ์มิได้ตั้งอยู่. เทวดา ท. ย่อมยกโทษว่า `เราทั้งหลายมาแต่ไกลเพื่อเห็นพระตถาคต, ต่อนานนักพระตถาครจึงจะเกิดขึ้นในโลก สักคราวหนึ่ง และการปรินิพพานของพระตถาคต ก็จักมีในปัจฉิมยามแห่งราตรีวันนี้ ก็พระภิกษุผู้มีศักดิ์ใหญ่รูปนี้มายืนเสียตรงพระพักตร์ บังอยู่, เรา ท. ไม่ได้เห็นพระตถาคตในกาลสุดท้าย'ดังนี้. (ต่อจากนี้ พระอานนท์ทูลถามถึงความรู้สึกภายในใจของพวกเทวดาได้ตรัสดังต่อไปนี้:-)

อานนท์! มีพวกเทวดา ผู้มีความสำคัญในอากาศ ว่าเป็นแผ่นดิน,และพวกที่มีความสำคัญในแผ่นดิน ว่าแผ่นดิน พากันสยายผม ร้องไห้คร่ำครวญ กอดแขนร้องไห้คร่ำครวญ ล้มกลิ้งเกลือกไปมา ดุจว่ามีเท้าถูกตัดขาดออก, รำพันอยู่ว่า `พระผู้มีพระภาคจักปรินิพพาน เสียเร็วนัก, พระสุคตจักปรินิพพานเสียเร็วนัก, พระผู้เป็นดวงจักษุในโลก จักดับหายไปเสียเร็วนัก', ดังนี้. ส่วนเทวดาเหล่าใดปราศจากราคะแล้ว, เทวดา ท. เหล่านั้น มีสติสัมปชัญญะ อดกลั้นด้วยรู้สึกว่า `สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง, ข้อที่จะให้ได้ตามใจหวังในเรื่องนี้นั้น สัตว์จักได้มาแต่ที่ไหนเล่า' ดังนี้. (ต่อจากนี้ พระอานนท์ทูลถึงเมื่อไม่มีพระองค์แล้วสาวกก็ไม่ได้พบปะกันเหมือนดั่งบัดนี้, ทรงแสดงสถานที่สี่แห่ง คือที่ประสูติ,ตรัสรู้, แสดงธรรมจักร, และนิพพาน ว่าเป็นที่ควรเห็นและพบปะกันของพุทธบริษัท ดังที่ปรากฎอยู่ในเรื่องสุดท้ายของภาคนี้. ต่อจากนั้น ตรัสเรื่อง การปฏิบัติในสตรี คือ การไม่พบปะด้วย, ถ้าต้องพบปะก็ไม่พูด, ถ้าต้องพูดพึงมีสติ, ต่อจากนั้น พระอานนท์ได้ทูลถามถึงการจัดพระศพ).

อานนท์! พวกเธออย่าขวนขวาย เพื่อจัดการบูชาสรีระของตถาคตเลย, จงสืบต่อ จงพยายาม ในประโยชน์ของตน (คือการตั้งหน้าปฏิบัติ) เถิด,จงอย่าประมาท จงมีความเพียร กำหนดอยู่ในประโยชน์ของตนเถิด. อานนท์! กษัตริย์, พราหมณ์, หรือคหบดี ผู้เลื่อมใสอย่างยิ่ง ในตถาคตก็มีอยู่, เขาเหล่านั้น จักจัดการบูชาสรีระของตถาคต.

"ข้าแต่พระองค์! เขาเหล่านั้น พึงจัดการอย่างไร?"

อานนท์! เขาพึงจัดเหมือนที่จัดในสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิ : เขาพันสรีระของพระเจ้าจักรพรรดิด้วยผ้าใหม่ แล้วซับสำลี แล้วพันด้วยผ้าใหม่โดยอุบายนี้ 500 คู่ แล้วเชิญลงในรางเหล็กเต็มด้วยน้ำมัน ปิดด้วยรางเหล็กอีกรางหนึ่ง กระทำจิตกาธารด้วยของหอมทุกอย่างแล้ว จึงถวายพระเพลิง, กระทำสถูป(ที่ระลึก) สำหรับพระมหาจักรพรรดิ ไว้ ณ หนทางสี่แยก. อานนท์! ชนเหล่านั้นพึงปฏิบัติในสรีระของตถาคต เช่นเดียวกับที่ชนทั้งหลายปฏิบัติในสรีระของพระมหาจักรพรรดิ นั้นแล, ชนเหล่าใดวางพวงมาลัย หรือของหอม หรือจุรณ์หอม ณที่นั้นก็ดี หรืออภิวาท, หรือทำความเลื่อมใสอยู่ในจิตก็ดี, ข้อนั้น จักเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อความสุขแก่เขาสิ้นกาลนาน. (ต่อจากนั้นตรัสเรื่องเกี่ยวกับบุคคลควรแก่การก่อสถูป 4 จำพวกคือ พระตถาคต, พระปัจเจกพุทธะ, พระสาวก, พระเจ้าจักรพรรดิ, พระอานนท์เลี่ยงไปยืนเหนี่ยวไม้เต้ากปิสีสะ ร้องไห้อยู่, ตรัสให้ไปเรียกตัวมา ตรัสสรรเสริญว่าเป็นยอดของอุปัฎฐากผู้หนึ่งในบรรดายอดอุปัฎฐากของพระพุทธเจ้าทั้งปวง. และสรรเสริญการรอบรู้ในหน้าที่นี้ และการกล่าววาจา เป็นที่ชอบใจแก่ผู้เข้าไปคบหา, ต่อจากนั้น พระอานนท์ทูลขอให้เสด็จไปปรินิพพานเมืองอื่น เพราะเมืองนี้เป็นเมืองกิ่ง เมืองดอน).

อานนท์! เธออย่ากล่าวว่า เมืองน้อย เมืองดอน กิ่งเมือง ดังนี้เลยครั้งก่อนโน้น ราชาพระนามว่ามหาสุทัศน์ เป็นพระเจ้าจักรพรรดิธรรมราชามีอาณาเขตกระทั่งมหาสมุทรทั้ง 4 ชนะสงคราม มีชนบทมั่งคั่ง ประกอบด้วยรัตนะ 7 ชนิด. อานนท์! เมืองกุสินารานี้แล เป็นราชธานีของพระเจ้ามหาสุทัศน์ (ในครั้งนั้น) ชื่อว่ากุสาวดี ยาวทางบุรพทิศ และปัจฉิมทิศ 12 โยชน์กว้างทางอุตตรทิศ และทักขิณทิศ 7 โยชน์ เกลื่อนกล่นด้วยหมู่มนุษย์ ฯลฯ.

อานนท์! เธอจงเข้าไปในเมืองกุสินารา จงบอกแก่มัลลกษัตริย์ ท.แห่งเมืองกุสินาราว่า `ดูก่อนกษัตริย์ผู้วาเสฎฐโคตร ท.! ในยามสุดท้ายแห่งราตรีวันนี้ การปรินิพพานของพระตถาคตเจ้าจักมี. เชิญท่าน ท. รีบไป,ขออย่าต้องเดือดร้อนในภายหลังว่า การปรินิพพานของพระตถาคตเจ้า ได้มีแล้วในคามเขตของพวกเรา แต่พวกเรามิได้เห็นพระตถาคตเจ้าเป็นครั้งสุดท้าย'.(พระอานนท์ผู้เดียว เข้าไปแจ้งแก่มัลลกษัตริย์, มัลลกษัตริย์ คร่ำครวญโดยนัยเดียวกับพวกเทวดาที่กล่าวมาแล้ว พากันออกมาเฝ้าพระองค์. พระอานนท์จัดให้เฝ้าโดยขานชื่อถวายทีละพวก เสร็จก่อนปฐมยาม. ต่อจากนี้สุภัททปริพพาชก มีโอกาสเข้าเฝ้า ทูลถามความผิดหรือถูกของลัทธิอื่น ๆ.ตรัสห้ามเสีย แล้วตรัสถึงเรื่องสมณะที่แท้จริง มีเฉพาะในศาสนาที่มีอริยมรรคประกอบด้วยองค์ 8,ไม่มีในศาสนาที่ไม่มีอริยมรรคมีองค์ 8).

สุภัททะ! เราเมื่อมีวัย 29 ปี บวชแล้วแสวงหาอยู่ว่าอะไรเป็นกุศล ๆ,นับแต่บวชแล้วได้ 51 ปี ความเป็นไปแห่งธรรมประเทศเครื่องตรัสรู้ มิได้มีภายนอกจากธรรมวินัยนี้, แม้สมณะ (สมณะที่ 1 คือ โสดาบัน) ก็มิได้มี.ภายนอกจากธรรมวินัยนี้ แม้สมณะที่ 2, ที่ 3, ที่ 4, ก็มิได้มี. วาทะเครื่องสอนของผู้อื่น ว่างจากสมณะของพวกอื่น, สุภัททะ! ก็ภิกษุ ท. เหล่านี้พึงอยู่โดยชอบเถิด โลกก็จะไม่ว่างเปล่าจากพระอรหันต์ทั้งหลาย. (ต่อจากนี้ สุภัททะทูลสรรเสริญเทศนา ขอบรรพชาอุปสมบท ได้รับยกเว้น ไม่ต้องติตถิยปริวาสก่อนอุปสมบท, ต่อมาไม่นานได้บรรลุอรหัตตผล. (เธอเป็นสาวกองค์สุดท้ายในบรรดาสาวกที่ทันเห็นพระพุทธองค์),ต่อจากนี้ได้ตรัสพระโอวาทที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ อีก 4-5 เรื่อง).

อานนท์! ความคิดอาจมีแก่พวกเธออย่างนี้ว่า `ธรรมวินัยของพวกเรามีพระศาสดาล่วงลับไปเสียแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา' ดังนี้. อานนท์!พวกเธออย่าคิดดังนั้น. อานนท์! ธรรมก็ดี วินัยก็ดี ที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่พวกเธอ ท. ธรรมวินัยนั้น จักเป็นองค์ศาสดาของพวกเธอ ท. โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว.

อานนท์! เวลานี้ พวกภิกษุทั่วไป เรียกกันด้วยคำว่า อาวุโส06.5แก่กันและกัน (ทั้งแก่ทั้งอ่อน); โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว ไม่ควรเรียกร้องกันดั่งนั้น : ผู้แก่กว่าจงเรียกผู้อ่อน โดยชื่อ หรือโดยชื่อสกุล หรือโดยคำว่าอาวุโส, ผู้อ่อนกว่า จงร้องเรียกผู้แก่กว่า ว่า ภันเต หรือ อายัสมา.

อานนท์! โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงเลิกถอนสิกขาบทเล็กน้อยได้, ถ้าต้องการ.

อานนท์! โดยกาลที่เราล่วงลับไปแล้ว สงฆ์จงลงพรหมทัณฑ์แก่ภิกษุฉันนะ, คือ ภิกษุฉันนะจงกล่าวอะไรได้ตามพอใจ, ภิกษุทั้งหลายไม่พึงว่ากล่าวตักเตือนสั่งสอนเธอ. (ต่อจากนี้ตรัสประทานโอกาสครั้งสุดท้ายให้ผู้นั้นกล่าวออกมาได้ถ้าใครยังสงสัยรังเกียจอันใดบ้าง ในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์).

ภิกษุ ท.! ก็ถ้ามีภิกษุแม้รูปหนึ่ง มีความเคลือบแคลง เห็นแย้งในพระพุทธ, พระธรรม, พระสงฆ์, ในมรรค ในข้อปฏิบัติก็ดี จงถามเสีย.อย่าเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง ว่า `เราอยู่เฉพาะหน้าพระศาสดาแล้ว ไม่กล้าถามในที่เฉพาะหน้า' ดังนี้ (ไม่มีภิกษุรูปใดทูลถาม ตลอดเวลาที่ทรงเตือนซ้ำจนครบ 3 ครั้ง,ในที่สุดตรัสว่า ถ้าไม่กล้าถามเอง ให้วานเพื่อนถามแทน, ก็ไม่มีใครทูลถาม. พระอานนท์ ทูลสรรเสริญความที่ภิกษุสงฆ์แม้แต่รูปหนึ่ง ก็ไม่มีใครเคลือบแคลงในพระศาสดา หรือธรรมวินัยของตน, ตรัสว่า) :

อานนท์! เธอกล่าวด้วยความเลื่อมใสและหยั่งถึง. ที่จริงในเรื่องนี้ความรู้สึกของตถาคต ก็มีแล้วว่า ความเคลือบแคลงเห็นแย้ง ในพระพุทธพระธรรม พระสงฆ์ ในมรรค ในข้อปฏิบัติ ของภิกษุแม้รูปเดียว ในภิกษุสงฆ์นี้ไม่มีเลย, อานนท์! เพราะว่าในบรรดาภิกษุ 500 รูป เหล่านี้ รูปใดที่ต่ำที่สุดกว่าเขาทั้งปวง รูปนั้น ก็ยังเป็นโสดาบัน มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดาเที่ยงต่อนิพพาน มีการตรัสรู้เป็นเบื้องหน้า, (ในที่สุด ได้ทรงเตือนเป็นครั้งสุดท้ายว่า) :

ภิกษุ ท.! บัดนี้ เราจักเตือนพวกเธอ ท. ว่า `สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมไปเป็นธรรมดาพวกเธอ ท. จงยังประโยชน์ตนและท่าน ให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด' ดังนี้. นี่เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต.

(ต่อจากนี้ ทรงนิ่งเงียบ : เข้าปฐมฌาน,06.6 ทุติยฌาน, ตติยฌาน, จตุตถฌาน, อากาสานัญจายตนฌาน, วิญญาณัญจายตนฌาน, อากิญจัญญายตนฌาน, เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน, สัญญาเวทยิตนิโรธ, แล้วย้อนลงกลับมาตามลำดับ จนถึงปฐมฌาน แล้วย้อนขึ้นอีกโดยลำดับๆ จนถึงจตุตถฌาน เสด็จปรินิพพาน ในเมื่อออกจากจตุตถฌานนั้นแล้ว).

(เรื่องหลังจากการปรินิพพานแล้วต่อไปนี้ เป็นข้อความที่ตรัสไว้ก่อนการปรินิพพานในที่ต่างๆ กัน. ได้นำมาเรียบลำดับไว้ตอนนี้ ก็เพื่อให้เป็นท้องเรื่องประวัติที่เข้ารูปกัน, ผู้อ่านไม่พึงฉงนว่าพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วทำไมยังมาตรัสเล่าได้อีก).

- มหาปรินิพพานสูตร มหา. สี. 10/159/128.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง