[Font : 15 ]
| |
ปรมัตถธรรม

1. พยัญชนะ : ปรมัตถธรรมโดยพยัญชนะ : คือ ธรรมชาติที่มีความหมายอันลึกซึ้ง.

2. อรรถะ : ปรมัตถธรรมโดยอรรถะ :

2.1 ความมีอยู่จริงของธรรมชาติทั้งหลายอันลึกซึ้ง.

2.2 ความสัมพันธ์กันของธรรมชาติทั้งหลายอันลึกซึ้ง.

2.3 ความเป็นจริงสูงสุดของธรรมชาติทั้งหลายอันลึกซึ้ง.

3. ไวพจน์ : ปรมัตถธรรมโดยไวพจน์ : คือ สัจธรรม, บรมธรรม, อสังขตธรรม, โลกุตตรธรรม, อมตธรรม.

4. องค์ประกอบ : ปรมัตถธรรมโดยองค์ประกอบ : มีความเป็นลักษณะแห่ง :

1. ความลึกซึ้งน่าอัศจรรย์.

2. ความจริงอันเด็ดขาด.

3. อำนาจในการดับทุกข์.

4. ความจริงสูงสุด.

5. ความจริงนิรันดร.

5. ลักษณะ : ปรมัตถธรรมโดยลักษณะ : มีลักษณะ :

5.1 เป็นกฎธรรมชาติ.

5.2 ละเอียดลึกซึ้งจนมองเห็นยากสำหรับสามัญชน.

5.3 แสดงความจริงที่เป็นกลาง : คือ ไม่เป็นอัตถิตา (ความมี) - นัตถิตา (ความไม่มี), ไม่บวก - ไม่ลบ, แต่เป็นความว่างจากตัวตน.

5.4 เป็นความจริงสูงสุดที่ไม่เปลี่ยนแปลงตลอดอนันตกาล.

6. อาการ : ปรมัตถธรรมโดยอาการ : ตัวปรมัตถธรรมไม่มีอาการ ; แต่สิ่งรองรับปรมัตถธรรมมีอาการเป็นไปตามภาวะของความเป็นสังขตะ หรืออสังขตะ.

7. ประเภท : ปรมัตถธรรมโดยประเภท : แบ่งโดยประเภทสอง :

นัยที่ 1 :

1. ฝ่ายให้เกิดทุกข์.

2. ฝ่ายให้ดับทุกข์ ซึ่งมีทั้งสังขตะและอสังขตะ.

นัยที่ 2 :

1. ปรมัตถธรรมที่เป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับมนุษย์ และมนุษย์ไม่ต้องรู้.

2. ปรมัตถธรรมที่เกี่ยวกับมนุษย์ที่มนุษย์ต้องรู้ : คือ ความดับทุกข์.

นัยที่ 3 :

1. ปรมัตถธรรมที่เป็นไปตามความจริงของธรรมชาติ.

2. ปรมัตถธรรมที่ศาสดาบางองค์บัญญัติขึ้น เพื่อใช้เฉพาะในวงการศาสนาของตนๆ.

8. กฎเกณฑ์ : ปรมัตถธรรมโดยกฎเกณฑ์ :

8.1 สิ่งทั้งปวงเป็นสักว่าธาตุตามธรรมชาติ ; เป็นอายตนะที่สัมผัสได้ด้วยใจ ; แต่ไม่มีความหมายแห่งตัวตนด้วยประการใด ๆ.

8.2 ในภาษาสัจธรรมไม่มีคำว่า ดี - ชั่ว, บุญ - บาป, สุข - ทุกข์ ; แต่มีอาการแห่งการปรุงแต่งของอิทัปปัจจยตาเป็นอย่างๆ ไป ; แต่มนุษย์ไปบัญญัติเอาเองว่า ดี - ชั่ว, บุญ - บาป, สุข - ทุกข์ ตามความรู้สึกของตนในภายหลัง.

8.3 ปรมัตถธรรมเป็นสัจจะอยู่ในตัวมันเอง ; ไม่ขึ้นกับกาลเทศะ (อกาลิโก อเทสิโก).

8.4 ปรมัตถธรรมได้กระทำให้กรรมและการให้ผลแห่งกรรมเป็นอกาลิโก (ไม่ขึ้นอยู่กับเวลา).

8.5 กฎเกณฑ์ของปรมัตถธรรมใช้ทั้งแก่สังขาร (ผู้ปรุง, สิ่งถูกปรุง, การปรุง) ; และวิสังขาร (สภาวะที่ปราศจากการปรุง).

8.6 สิ่งทั้งปวงฝ่ายสังขตะ เกิดมาจากเหตุปัจจัยและเป็นไปตามเหตุปัจจัย ; ฝ่ายอสังขตะ ไม่มีเหตุปัจจัย.

8.7 การเห็นปรมัตถธรรม เป็นการเห็นด้วยการสัมผัส แล้วมีวิจักขณญาณA45 ในสิ่งนั้น; ไม่ใช่การเห็นด้วยตา.

8.8 การเห็นประมัตถธรรมที่เป็นประโยชน์นั้น ตั้งต้นด้วยการเห็นความทุกข์ ; แล้วเห็นเหตุให้เกิดทุกข์ ; ความดับทุกข์ และทางให้ถึงความดับทุกข์.

8.9 กฎเกณฑ์ในพระพุทธศาสนามีว่า : การเกิดขึ้นแห่งธาตุ คือการเกิดขึ้นแห่งทุกข์ หมายความว่า : เมื่อธาตุ (6) ทำหน้าที่ของมันผลที่เกิดขึ้นก็คือความทุกข์ในแง่บวกหรือลบ.

8.10 ธรรมหรือธาตุใดๆ จะกล่าวได้ว่าเกิดแล้ว, ปรากฏแล้ว, แสดงบทบาทแล้ว, เป็นปัญหาแล้ว ; ก็ต่อเมื่อได้ถูกยึดมั่นด้วยอุปาทานในลักษณะแห่งความเป็นตัวตน.

8.11 ปรมัตถธรรมทั้งหลายส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทุกข์ จะต้องศึกษาจากร่างกายที่ยังเป็นๆ อยู่ (ยังไม่ตาย).

9. สัจจะ : ปรมัตถธรรมโดยสัจจะ :

9.1 ทุกสิ่ง (ธรรมทั้งปวง) ไม่มีความหมายแห่งตัวตน ทั้งที่เป็นสังขตะและอสังขตะ ; มีแต่กระแสแห่งการปรุงแต่งของเหตุปัจจัย :

1. ไม่มีบุคคลผู้ทุกข์ ; มีแต่เหตุปัจจัย, ดับเหตุปัจจัยเสียความทุกข์ก็ดับ.

2. การบรรลุนิพพานนั้นมีได้ แต่ตัวผู้บรรลุนิพพานไม่มี ; เพราะว่าเป็นการเกิดขึ้นแห่งธรรมชาติล้วนๆ ให้สืบต่อแห่งสังขารทั้งหลายล้วนๆ.

9.2 ปรมัตถสัจจะมีอยู่ในทุกสิ่ง ตั้งแต่วัตถุจนถึงร่างกายจิตใจ ; ซึ่งเป็นตัวธรรมชาติ และสัจจะอื่นๆ ซึ่งเป็นกฎธรรมชาติ.

9.3 โลกหรืออารมณ์ทั้งปวงเกิดมาจากผัสสะ ; ถ้าไม่มีผัสสะก็ไม่มีโลกหรืออารมณ์ทั้งปวง.

9.4 สังขตธรรมนั้นเมื่อถึงที่สุดแห่งการปรุงแต่งแล้ว ย่อมดับลงสู่ภาวะแห่งอสังขตะ.

9.5 ปรมัตถธรรมเป็นสิ่งลึกซึ้งจนมองเห็นยาก ไม่อยู่ในวิสัยแห่งการคิดคำนวณโดยตรรกหรือนัย โดยอนุมานหรืออุปมา; แต่ต้องโดยมรรคญาณ หรือวิจักขณญาณเท่านั้น.

9.6 ปรมัตถธรรมแท้จริงนั้น เป็นภาวะที่พูดอธิบายด้วยปากไม่ได้ ; แต่ต้องด้วยการทำให้บุคคลนั้นรู้แจ้งประจักษ์ชัดอยู่ในใจของตนเอง คือ เขาบอกตนเอง.

9.7 ปรมัตถธรรมตั้งรากฐานอยู่บนกฎธรรมชาติที่ชื่อว่า “อิทัปปัจจยตา” รวมอยู่ด้วยสำหรับฝ่ายสังขตธรรม.

9.8 พอที่จะกล่าวได้ว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้ปรมัตถธรรมทั้งปวง ; แต่ทรงนำมาสอนเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความดับทุกข์เท่านั้น ; เหมือนใบไม้ทั้งป่า แต่นำมาใช้ประโยชน์เพียงกำมือเดียว.

9.9 โลก, การเกิดแห่งโลก, ความดับแห่งโลก, ทางให้ถึงความดับแห่งโลก ; นี้พระพุทธองค์ตรัสว่า ได้บัญญัติไว้ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง ที่มีพร้อมทั้งสัญญาและใจ.

10 หน้าที่ : ปรมัตถธรรมโดยหน้าที่ : หน้าที่ของมนุษย์อันจะพึงมีต่อปรมัตถธรรม คือ การศึกษา : ได้แก่การดู, เห็น, รู้, แล้วปฏิบัติ; เพื่อดับทุกข์ หรือระงับปัญหาที่มีอยู่ในตน, โดยตน และเพื่อประโยชน์แห่งตน.

11. อุปมา : ปรมัตถธรรมโดยอุปมา : เปรียบเสมือน :

11.1 เพชรในภูเขา.

11.2 เพชรในหัวคางคก.

11.3 ความเย็นในท่ามกลางเตาหลอมเหล็ก.

11.4 พ่วงแพสำหรับข้ามฟาก.

11.5 ที่พึ่งกลางมหาสมุทร.

11.6 สิ่งที่ซ่อนอยู่ที่หน้าผาก.

11.7 หนทางที่ไม่มีใครชอบเดินจนเกือบไม่เหลือร่องรอย ฯลฯ

12. สมุทัย : ปรมัตถธรรมโดยสมุทัย : สมุทัยแห่งการเกิดของปรมัตถธรรมไม่มี ; มีแต่สมุทัยของการที่ต้องทำให้ปรมัตถธรรมปรากฏออกมา คือ ความอยากรู้ความจริงของมนุษย์.

13. อัตถังคมะ : ปรมัตถธรรมโดยอัตถังคมะ : อัตถังคมะของปรมัตถธรรมไม่มี ; มีแต่อัตถังคมะของการรู้ปรมัตถธรรมโดยมนุษย์.

14. อัสสาทะ : ปรมัตถธรรมโดยอัสสาทะ : อัสสาทะในตัวของปรมัตถธรรมไม่มี ; มีแต่ในจิตใจของผู้พอใจในปรมัตถธรรม.

15. อาทีนวะ : ปรมัตถธรรมโดยอาทีนวะ : อาทีนะวะไม่มีในตัวของปรมัตถธรรม ; มีแต่ในจิตใจของผู้รู้ผิด เข้าใจผิดในปรมัตถธรรม.

16. นิสสรณะ : ปรมัตถธรรมโดยนิสสรณะ : ไม่มีเรื่องที่มนุษย์จะต้องออกจากปรมัตถธรรม ; แต่ปรมัตถธรรมเป็นหนทางออกจากทุกข์ของมนุษย์.

17. ทางปฏิบัติ : ปรมัตถธรรมโดยทางปฏิบัติ : เพื่อเข้าถึงปรมัตถธรรมเฉพาะที่จำเป็นแก่การดับทุกข์ของมนุษย์ : คือ การศึกษา และบุคคล โอกาส สิ่งแวดล้อมที่ช่วยให้มีการศึกษาได้.

18. อานิสงส์ : ปรมัตถธรรมโดยอานิสงส์ :

18.1 อานิสงส์แห่งการรู้ การมี และการใช้ปรมัตถธรรม : คือ การทำให้ถึงที่สุดแห่งความทุกข์ ; เพราะหยุดการปรุงแต่ง และอยู่เหนือกรรมโดยประการทั้งปวง.

18.2 ความรู้เรื่องปรมัตถธรรม : ทำให้ดำเนินชีวิตได้ดีที่สุดสำหรับการอยู่ใกล้ต่อพระนิพพาน.

19. หนทางถลำ : ปรมัตถธรรมโดยหนทางถลำ : เข้าไปรู้ปรมัตถธรรม : (ถ้าต้องใช้คำนี้กับปรมัตถธรรม) ขอระบุว่าการมีชีวิตอยู่อย่างนักศึกษา ซึ่งต้องการจะรู้ยิ่งขึ้นไปอย่างไม่มีขอบเขต ที่เรียกกันว่า นักปราชญ์.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ปรมัตถธรรมโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อการรู้ปรมัตถธรรม : คือ สุ. จิ. ปุ. ลิ.A46, อยู่ด้วยชีวิตอันสงบสงัด.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ปรมัตถธรรมโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : ธรรมที่เชื่อกันว่าสามัญชนเข้าใจไม่ได้. (ถ้าเป็นภาษาเด็ก : คือบทสวดที่นำมาใช้สวดข้างโลงคนตาย).

ภาษาธรรม : ธรรมที่จำเป็นต้องรู้เพื่อการดับทุกข์.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ธรรมศาสตรา เล่ม 1

2. ปรมัตถสภาวธรรม

3. สุญญตาปริทรรศน์ เล่ม 2


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง