[Font : 15 ]
| |
นิสสารณิยธาตุ ที่ทำความง่ายให้แก่การละตัณหา |  

ภิกษุ ท.! ธาตุที่สามารถสลัดซึ่งสิ่งที่ควรสลัด (นิสฺสารณิยธาตุ) 5 อย่างเหล่านี้ มีอยู่. 5 อย่างอย่างไรเล่า ? 5 อย่างคือ :-

ภิกษุ ท.! ในกรณีนี้คือ เมื่อภิกษุ กระทำในใจอยู่ซึ่งกามทั้งหลาย, จิตก็ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป ในกามทั้งหลาย; แต่เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจอยู่ซึ่งเนกขัมมะ, จิตก็แล่นไป ก็เลื่อมใส ก็ตั้งอยู่ ก็น้อมไป ในเนกขัมมะ. จิตของเธอนั้นชื่อว่า ถึงดีี อบรมดีี ออกดีี หลุุดพ้้นดี ปราศจากกามทั้งหลายด้วยดี; และเธอนั้นหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย อันทำความคับแค้นและเร่าร้อน ที่เกิดเพราะกามเป็นปัจจัย; เธอก็ไม่ต้องเสวยเวทนานั้น. อาการอย่างนี้ นี้ เรากล่าวว่า ธาตุเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งกามทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก, คือ เมื่อภิกษุ กระทำในใจอยู่ซึ่งพยาบาท, จิตก็ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป ในพยาบาท; แต่เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจอยู่ซึ่งอัพยาบาท. จิตก็แล่นไป ก็เลื่อมใส ก็ตั้งอยู่ ก็น้อมไป ในอัพยาบาท. จิตของเธอนั้น ชื่อว่าถึงดี อบรมดี ออกดี หลุดพ้นดี ปราศจากพยาบาทด้วยดี; และเธอนั้นหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลายอันทำความคับแค้นและเร่าร้อน ที่เกิดเพราะพยาบาทเป็นปัจจัย; เธอก็ไม่ต้องเสวยเวทนานั้น. อาการอย่างนี้ นี้ เรากล่าวว่า ธาตุเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งพยาบาท.

ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก, คือ เมื่อภิกษุ กระทำในใจอยู่ซึ่งวิหิงสา, จิตก็ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป ในวิหิงสา; แต่เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจอยู่ซึ่งอวิหิงสา, จิตก็แล่นไป ก็เลื่อมใส ก็ตั้งอยู่ ก็น้อมไป ในอวิหิงสา, จิตของเธอนั้น ชื่อว่าถึงดี อบรมดี ออกดีหลุดพ้นดี ปราศจากวิหิงสาด้วยดี; และเธอนั้นหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายอันทำความคับแค้นและเร่าร้อน ที่เกิดเพราะวิหิงสาเป็นปัจจัย; เธอก็ไม่ต้องเสวยเวทนานั้น. อาการอย่างนี้ นี้เรากล่าวว่า ธาตุเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งวิหิงสา.

ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก, คือเมื่อภิกษุ กระทำในใจซึ่งรูปทั้งหลาย, จิตก็ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป ในรูปทั้งหลาย; แต่เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจอยู่ซึ่งอรูป, จิตก็แล่นไป ก็เลื่อมใส ก็ตั้งอยู่ ก็น้อมไป ในอรูป. จิตของเธอนั้น ชื่อว่าถึงดี อบรมดี ออกดี หลุดพ้นดี ปราศจากรูปทั้งหลายด้วยดี; และเธอนั้นหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลาย อันทำความคับแค้นและเร่าร้อน ที่เกิดเพราะรูปทั้งหลายเป็นปัจจัย; เธอก็ไม่ต้องเสวยเวทนานั้น. อาการอย่างนี้ นี้เรากล่าวว่า ธาตุเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งรูปทั้งหลาย.

ภิกษุ ท.! ข้ออื่นยังมีอีก, คือ เมื่อภิกษุ กระทำในใจอยู่ซึ่งสักกายะ (กายของตนกล่าวคือขันธ์ 5), จิตก็ไม่แล่นไป ไม่เลื่อมใส ไม่ตั้งอยู่ ไม่น้อมไป ในสักกายะ; แต่เมื่อภิกษุนั้น กระทำในใจอยู่ซึ่งความดับแห่งสักกายะ, จิตก็แล่นไป ก็เลื่อมใส ก็ตั้งอยู่ ก็น้อมไป ในความดับแห่งสักกายะ, จิตของเธอนั้น ชื่อว่าถึงดี อบรมดี ออกดี หลุดพ้นดี ปราศจากสักกายะด้วยดี; และเธอนั้นหลุดพ้นแล้วจากอาสวะทั้งหลายอันทำความคับแค้นและเร่าร้อน ที่เกิดเพราะสักกายะเป็นปัจจัย; เธอก็ไม่ต้องเสวยเวทนานั้น. อาการอย่างนี้ นี้ เรากล่าวว่า ธาตุเป็นเครื่องสลัดเสียซึ่งสักกายะ.

นันทิในกาม ก็ไม่นอนตาม (ในจิต) ของเธอ ; นันทิในพยาบาท ก็ไม่นอนตาม (ในจิต) ของเธอ ; นันทิในวิหิงสา ก็ไม่นอนตาม (ในจิต) ของเธอ; นันทิในรูป ก็ไม่นอนตาม (ในจิต) ของเธอ ; นันทิในสักกายะ ก็ไม่นอนตาม (ในจิต) ของเธอ. เธอนั้น เมื่อกามนันทิก็ไม่นอนตาม พยาปาทนันทิก็ไม่นอนตาม วิหิงสานันทิก็ไม่นอนตาม รูปนันทิก็ไม่นอนตาม สักกายนันทิก็ไม่นอนตาม ดังนี้แล้ว ; ภิกษุ ท.! เรากล่าวภิกษุนี้ว่า ปราศจากอาลัยตัดตัณหาขาดแล้ว รื้อถอนสังโยชน์ได้แล้ว กระทำที่สุดแห่งกองทุกข์ได้แล้วเพราะ รู้เฉพาะซึ่งมานะโดยชอบ.

ภิกษุ ท.! เหล่านี้แล ธาตุที่สามารถสลัดซึ่งสิ่งที่ควรสลัด 5 อย่าง.

- ปญฺจก. อํ. 22/272/200.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง