[Font : 15 ]
| |
ทรงมีปาฏิหาริย์ 3 |  

เกวัฎฎะ! นี่ปาฎิหาริย์ 3 อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้. 3 อย่างอะไรเล่า? 3 อย่างคือ อิทธิปาฎิหาริย์อาเทสนาปาฎิหาริย์ และ อนุศาสนีปาฎิหาริย์.

(1) เกวัฎฎะ! อิทธิปาฎิหาริย์ นั้นเป็นอย่างไรเล่า? เกวัฎฎะ!ภิกษุในศาสนานี้ กระทำอิทธิวิธีมีอย่างต่าง ๆ : ผู้เดียวแปลงรูปเป็นหลายคน,หลายคนเป็นคนเดียว, ทำที่กำบังให้เป็นที่แจ้ง ทำที่แจ้ง ให้เป็นที่กำบัง, ไปได้ไม่ขัดข้อง ผ่านทะลุฝา ทะลุกำแพง ทะลุภูเขา ดุจไปในอากาศว่าง ๆ, ผุดขึ้นและดำลงในแผ่นดินได้เหมือนในน้ำ, เดินไปได้เหนือน้ำ เหมือนเดินบนแผ่นดิน,ไปได้ในอากาศเหมือนนกมีปีก ทั้งที่ยังนั่งสมาธิคู้บัลลังก์. ลูกคลำดวงจันทร์และดวงอาทิตย์อันมีฤทธิ์อานุภาพมาก ได้ด้วยฝ่ามือ. และแสดงอำนาจทางกายเป็นไปตลอดถึงพรหมโลกได้. เกวัฎฎะ! กุลบุตรผู้มีศรัทธาเลื่อมใสได้เห็นการแสดง นั้นแล้ว เขาบอกเล่าแก่กุลบุตรอื่นบางคน ที่ไม่ศรัทธาเลื่อมใส ว่าน่าอัศจรรย์นัก. กุลบุตรผู้ไม่มีศรัทธาเลื่อมใสนั้น ก็จะพึงตอบว่า วิชาชื่อคันธารี04.20 มีอยู่ ภิกษุนั้นแสดงอิทธิวิธีด้วยวิชานั่นเท่านั้น (หาใช่มีปาฎิหาริย์ไม่), เกวัฎฎะ!ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อ ไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้น มิใช่หรือ?

"พึงตอบได้, พระองค์!"

เกวัฎฎะ! เราเห็นโทษในการแสดงอิทธิปาฎิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัดขยะแขยง เกลียดชังต่ออิทธิปาฎิหาริย์.

(2) เกวัฎฎะ! อาเทสนาปาฎิหาริย์ นั้น เป็นอย่างไรเล่า? เกวัฎฎะ! ภิกษุในศาสนานี้ย่อมทายจิต ทายความรู้สึกของจิต ทายความตรึก ทายความตรอง ของสัตว์เหล่าอื่น ของบุคคลเหล่าอื่นได้ ว่า ใจของท่านเช่นนี้ใจของท่านมีประการนี้ ใจของท่านมีด้วยอาการอย่างนี้. ---ฯลฯ--- กุลบุตร ผู้ไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมค้านกุลบุตรผู้เชื่อผู้เลื่อมใส ว่า วิชา ชื่อ มณิกา มีอยู่ ภิกษุนั้นกล่าวทายใจได้ เช่นนั้นๆ ก็ด้วยวิชานั้น (หาใช่มีปาฎิหาริย์ไม่), เกวัฎฎะ! ท่านจะเข้าใจว่าอย่างไร : ก็คนไม่เชื่อไม่เลื่อมใส ย่อมกล่าวตอบผู้เชื่อผู้เลื่อมใสได้อย่างนั้นมิใช่หรือ?

"พึงตอบได้, พระองค์!"

เกวัฎฎะ! เราเห็นโทษในการแสดงอาเทสนาปาฏิหาริย์ดังนี้แล จึงอึดอัด ขยะแขยง เกลียดชัง ต่ออาเทสนาปาฎิหาริย์.

(3) เกวัฎฎะ! อนุศาสนียปาฎิหาริย์ นั้น เป็นอย่างไรเล่า? เกวัฎฎะ!ภิกษุในศาสนานี้ ย่อมสั่งสอนว่า ท่านจงตรึกอย่างนี้ๆ อย่าตรึกอย่างนั้น ๆ, จงทำไว้ในใจอย่างนี้ๆ อย่าทำไว้ในใจอย่างนั้นๆ จงละสิ่งนี้ๆ เสีย, จงเข้าถึงสิ่งนี้ๆ แล้วแลอยู่ ดังนี้ นี้เราเรียกว่า อนุศาสนีปาฎิหาริย์.

เกวัฎฎะ! ---ฯลฯ--- 04.21 เหล่านี้แล เป็นปาฎิหาริย์ 3 อย่าง ที่เราได้ทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ตามด้วย.

- บาลี สี. ที. 9/273/339. ตรัสแก่เกวัฎฎคหบดี ที่ปาวาริกัมพวัน เมืองนาลันทา.


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง