[Font : 15 ]
| |
ตัณหา

1. พยัญชนะ : ตัณหาโดยพยัญชนะ : คือ ยางเหนียว.

2. อรรถะ : ตัณหาโดยอรรถะ :

2.1 ต้องการด้วยอำนาจของอวิชา เป็นไปได้ทั้งทางบวกและทางลบ.

2.2 กิเลสที่นำไปสู่ภพ คือความเป็นอย่างอื่น.

2.3 ความกำหนัดอยู่ด้วยความเพลินในอารมณ์นั้นๆ.

2.4 มูลเหตุแห่งอุปาทานและทุกข์.

2.5 เครื่องผูกสัตว์ให้ติดอยู่กับความว่ายเวียน.

3. ไวพจน์ : ตัณหาโดยไวพจน์ : คือ โลภะ, อภิชณา, นันทิราคะ, ชัปปา, สิพพินี.

4. องค์ประกอบ : ตัณหาโดยองค์ประกอบ : คือ ความกำหนัดยินดี, ความต้องการ, อวิชชา.

5. ลักษณะ : ตัณหาโดยลักษณะ :

5.1 หวังด้วยอวิชชา, พยายามด้วยอวิชชา, ได้ผลและเสวยผลด้วยอวิชชา, หวังต่อไปด้วยอวิชชา.

5.2 ตัณหามีลักษณะวิ่งออกหน้าสิ่งที่มาสนองความอยากเสมอไปอย่างที่ไม่มีเวลาจะทันกันหรือหยุดอยาก.

6. อาการ : ตัณหาโดยอาการ : คือ หิวด้วยอวิชชา; ดิ้นรนกระเสือกกระสนด้วยอวิชชา ; ตะกละตะกรามด้วยอวิชชา ; บริโภคด้วยอวิชชา ; ก่อให้เกิดอุปาทาน.

7. ประเภท : ตัณหาโดยประเภท :

7.1 แบ่งโดยประเภทสาม :

1. กามตัณหา : ตัณหาในกาม.

2. ภวตัณหา : ตัณหาในความมีความเป็น.

3. วิภวตัณหา : ตัณหาในความไม่มีไม่เป็น.

7.2 แบ่งโดยประเภทสอง :

1. ตัณหาชนิดที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์.

2. ตัณหาชนิดที่ไม่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์และเพื่อดับทุกข์; เรียกโดยโวหารพิเศษว่า ธัมมตัณหา, ธัมมกาโม, ธัมมนันทิ ซึ่งเป็นตัณหาในการที่จะละตัณหา.

7.3 ตัณหาที่แจกตามอารมณ์ของตัณหา : มี 6 : คือ รูปตัณหา, สัททตัณหา, คันธตัณหา, โผฏฐัพพตัณหา, ธัมมตัณหา.

8. กฏเกณฑ์ : ตัณหาโดยกฏเกณฑ์ :

8.1 ความอยากที่จะเรียกว่าตัณหา ก็ต่อเมื่ออยากด้วยอวิชา. ถ้าอยากด้วยปัญญาหรือวิชชา เรียกว่าสังกัปปะ.

8.2 ผัสสะด้วยอวิชา เป็นจุดตั้งต้นของตัณหา.

8.3 เมื่อใดรู้ว่าตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เมื่อนั้นก็รู็จักจุดที่จะตัดต้นเหตุแห่งความทุกข์.

9. สัจจะ : ตัณหาโดยสัจจะ :

9.1 ตัณหาเป็นสมุทัยแห่งความทุกข์.

9.2 ตัณหามีการไหล และพาผู้มีตัณหาให้ไหล; เหมือนกระแสน้ำพาของลอยน้ำให้ไหล.

9.3 ตัณหาทำให้มีความหมายแห่งอดีต ปัจจุบัน อนาคต.

9.4 ตัณหาไม่มีการอิ่มการพอ จนกว่าจะได้ตัดต้นเหตุของมันเสีย ก็จะมีความอื่มความพอขึ้นมาเอง.

9.5 การตัดความรู้สึกอยาก ย่อมดีกว่าสนองความอยาก ด้วยสิ่งที่มันอยาก.

9.6 แม้จะหมดตัณหาคนก็ไม่ตาย ; ความไม่มีตัณหาเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต.

9.7 ต้องไม่ดำรงชีวิตอยู่ด้วยตัณหา แต่ด้วยเมตตาและปัญญา จึงจะไม่เป็นทุกข์.

9.8 ถ้ามีตัณหา แม้อยู่คนเดียวก็เท่ากับอยู่ด้วยคนจำนวนมาก; แม้อยู่ด้วยคนจำนวนมาก ถ้าไม่มีตัณหาก็เท่ากับอยู่คนเดียว.

10. หน้าที่ : ตัณหาโดยหน้าที่ : ตัณหาไม่มีหน้าที่ : แต่คนมีหน้าที่ป้องกันและกำจัดตัณหา.

11. อุปมา : ตัณหาโดยอุปมา : เปรียบเสมือน:

11.1 ผืนข่านและแหอวน เป็นที่ติดของปวงสัตว์ ยิ่งกว่าข่ายใดๆ.

11.2 กลุ่มด้วยยุ่ง ยากที่จะสางออก.

11.3 แม่น้ำที่ไหลไปได้ทั่วจักวาลและทั่วทุกภพ.

11.4 หลาวเหล็กที่เสียบแทงจิตใจ.

11.5 นายช่างปลูกเรือน: คือสร้างภพ, สร้างชาติ, สำหรับเป็นทุกข์เรื่อยไป.

12. สมุทัย : ตัณหาโดยสมุทัย :

12.1 สมุทัยโดยตรง : คือเวทนาเป็นปัจจัยให้เกิดตัณหา.

12.2 โดยเงื่อนไขต้นที่สุด : คืออวิชชาทำให้เกิดตัณหา.

12.3 สมุทัยโดยวงกว้าง : เรียกว่า ปิยรูป สาตรูปA26 ได้แก่อารมณ์ทั้ง 6 ในขั้นตอนต่างๆ กันสิบขั้นตอนA27 ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งการเกิด แต่ก็เป็นที่ตั้งแห่งการดับด้วย.

13. อัตถังคมะ : ตัณหาโดยอัตถังคมะ : คือ การขาดเหตุปัจจัยตามคราว ; หรือการมีสติมาทันเวลาตามคราว.

14. อัสสาทะ : ตัณหาโดยอัสสาทะ : คือ ความรู้สึกพอใจยินดี กำหนัดเพลิดเพลิน ในอารมณ์นั้นๆ ในภพนั้นๆ.

15. อาทีนวะ : ตัณหาโดยอาทีนวะ :

15.1 ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ โดยผ่านทางอุปาทาน.

15.2 ตัณหาให้เกิดทุกข์ในกรณีนั้นๆ : ให้เกิดภพใหม่ในกรณีที่ต่างออกไป; เป็นเครื่องเย็บร้อยสัตว์ ให้ติดอยู่กับความทุกข์หรือภพนั้นๆ.

16. นิสสรณะ : ตัณหาโดยนิสสรณะ : การออกจากตัณหา คือ การเป็นอยู่ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค; ปฏิบัติในอริยมรรคมีองค์8 อยู่ตลอดเวลาตัณหาไม่มีทางเกิด.

17. ทางปฏิบัติ : ตัณหาโดยทางปฏิบัติ : เพื่อออกจากการตกเป็นทาสของตัณหา :

17.1 มีสติเพื่อการเป็นอยู่ด้วยอริยอัฏฐังคิกมรรค.

17.2 มีสติสัมปชัญญะในขณะแห่งผัสสะ หรือในขณะแห่งเวทนา.

18. อานิสงส์ : ตัณหาโดยอานิสงส์ : ไม่มีอานิสงส์จากตัณหา. แต่มีอานิสงส์จากการกำจัดตัณหาคือไม่เกิดทุกข์โดยประการทั้งปวง.

19. หนทางถลำ : ตัณหาโดยหนทางถลำ :

19.1 เข้าไปอยู่ใต้อิทธิพลของตัณหา : คือ การเป็นอยู่ด้วยความประมาท.

19.2 ออกจากอิทธิพลของตัณหาเข้าสู่กระแสแห่งอริยอัฏฐังคิกมรรค : คือ คบสัตบุรุษ, ฟังธรรม, ใคร่ครวญธรรม อยู่เป็นประจำ.

20. สิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : ตัณหาโดยสิ่งที่ต้องเกี่ยวข้อง : เพื่อกำจัดตัณหา : คือ การเป็นอยู่ด้วยความไม่ประมาทในทุกที่ทุกสถาน หรือในธรรมทั้งปวง.

21. ภาษาคน - ภาษาธรรม : ตัณหาโดยภาษาคน - ภาษาธรรม :

ภาษาคน : หมายถึงความอยากในทางเพศ.

ภาษาธรรม : หมายถึงความอยากด้วยอวิชชาทุกชนิด.

ธรรมโฆษณ์ที่แนะนำให้อ่าน

1. ไกวัลยธรรม

2. อริยสัจจากพระโอษฐ์

3. อาสาฬหบูชาเทศนา เล่ม 1


เกี่ยวกับธรรมโฆษณ์ออนไลน์ (Disclaimer)
แม้ระบบ "ธรรมโฆษณ์ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้ถูกต้องมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |     |   แจ้งข้อผิดพลาด / แนะนำ
หนังสือที่เกี่ยวข้อง